สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19” จาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่นปี 2563 และแผนยุทธศาสตร์ปี 2564 ของกระทรวง อว. โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้รับมอบ จากผลงาน “DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” พร้อมเตรียมประสานงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำระบบไปใช้กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวจากตลาดกุ้ง
“DDC-Care” เป็นระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พัฒนาโดย ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และทีมวิจัย สวทช. เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
โดยแบ่งออกเป็น 3 แอปพลิเคชัน ได้แก่
1.DDC-Care REGISTRY : เว็บแอปพลิเคชันสำหรับลงทะเบียนใช้งานระบบผ่านSMS หรือ QR Code ที่มีการยืนยันตัวตน ให้ลงทะเบียนได้เฉพาะผู้ที่เจ้าหน้าระบุเท่านั้น
2. DDC-Care APP : แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถดึงพิกัดผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติผ่านระบบ GPS และแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบ เมื่อมีการออกนอกพื้นที่กักตัวที่ปักหมุดไว้เกินกว่าระยะที่กำหนด สามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android รวมทั้ง สามารถดาวน์โหลดผ่าน Huawei App Gallery รองรับ 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และพม่า
3.DDC-Care DASHBOARD : เว็บแอปพลิเคชันสนับสนุนการติดตามสุขภาพและการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงแบบเรียลไทม์ (real-time) ในรูปแผนที่แสดงตำแหน่งที่อยู่ของกลุ่มเสี่ยงในภาพรวม พร้อมสถานะแสดงระดับความเสี่ยง การออกนอกที่พัก และการปิด GPS ตารางแสดงข้อมูลสุขภาพในระยะเวลา 14 วัน ของกลุ่มเสี่ยงแต่ละราย และแผนที่แสดงประวัติการเดินทาง และตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันของกลุ่มเสี่ยงรายคน โดยเจ้าหน้าที่สามารถเรียกดูข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงตามสิทธิ์ทีได้รับมอบหมาย
สำหรับประชาชนที่ถูกระบุว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเจ้าหน้าที่ จะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด เมื่อผลการประเมินความเสี่ยงรายวันพบว่ามีความเสี่ยงสูง ระบบจะแสดงเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที และหากมีการเดินทางก็สามารถใช้ตำแหน่งในการสอบโรคได้ว่ามีการเดินทางไปบริเวณใดบ้าง เป็นการช่วยบันทึกลดเวลาในการสอบโรค
ขณะนี้ระบบ DDC-Care ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการติดตามการกักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ที่ต้องกักตัวที่บ้าน (home quarantine) เพื่อควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงแคบ สำหรับการระบาดระลอกใหม่ ในกรณี ท่าขี้เหล็ก มีการใช้งานโดย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในการติดตามกลุ่มเสี่ยงกว่า 100 ราย มีการใช้งานโดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา ในการติดตามกลุ่มเสี่ยงกว่า 60 ราย และในพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศเมียนมาร์ บริเวณด่านแม่สอด จ.ตาก โดย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สอด และรพ.แม่สอด และอยู่ระหว่างการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ในการนำระบบ DDC-Care ไปใช้กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวจากตลาดกุ้งนอกจากนี้ระบบ DDC-Care ยังได้ถูกใช้สำหรับการติดตามและเฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ต้องกักตัวที่บ้าน เช่น คนขับรถบรรทุกที่รับส่งของจากชายแดน ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทราบการเดินทางและสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงได้ตลอดเวลา
*
* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager