xs
xsm
sm
md
lg

11 งานวิจัย-นวัตกรรมเด่นแห่งปี!! คว้ารางวัล “ต้านโควิด ตอบรับชีวิตวิถีใหม่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รางวัล “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2563 ได้มีการประกาศและมอบกันไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 มีผลงานจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวง อว.ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว 11 รางวัลดังนี้

1. วัคซีนป้องกันโรคจากไวรัสโควิด-19 โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ : บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามนโยบายของ อว. เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation ซึ่งมีผลงานนวัตกรรมมากมายในการช่วยคนไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลงานการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ และพร้อมก้าวไปอีกขั้นในการผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย”
2. DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) : แอปพลิเคชันดีดีซี-แคร์ (DDC-Care) ได้รับการพัฒนาเพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
โดยแบ่งเป็น 3 แอปพลิเคชัน 1) DDC-Care REGISTRY: เว็บแอปพลิเคชันสำหรับลงทะเบียนใช้งานระบบผ่าน SMS หรือ QR Code ที่มีการยืนยันตัวตน ให้ลงทะเบียนได้เฉพาะผู้ที่เจ้าหน้าที่ระบุเท่านั้น 2) DDC-Care APP: แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สามารถดึงพิกัดผู้ใช้งานอัตโนมัติผ่านระบบ GPS และแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบ เมื่อมีการออกนอกพื้นที่กักตัวที่ปักหมุดไว้เกินกว่าระยะที่กำหนด ใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS, Android และ Huawei AppGallery รองรับ 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และพม่า และ 3) DDC-Care DASHBOARD: เว็บแอปพลิเคชันสนับสนุนการติดตามสุขภาพและการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงแบบเรียลไทม์ (real-time)
3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) : นวัตกรรมชุด PPE (Isolation Grown) รุ่นเราสู้ สำหรับปฏิบัติงานในสภาวะเสี่ยงน้อยถึงปานกลางหรือการทำหัตถการที่มีเลือดกระเด็นใส่น้อย ชนิดใช้ซ้ำได้ครั้งแรกของโลกที่สามารถซักและใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง โดยนวัตกรรมทั้งหมดผลิตด้วยการรีไซเคิลจากขวด PET

4. โครงการวิจัยชุดนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ตรวจวินิจฉัย และบำบัดรักษาการติดเชื้อ โควิด-19 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) : ได้แก่
หน้ากากอนามัย WIN-Masks ที่ทำจากผ้าเคลือบสารนาโนป้องกันไวรัส สามารถซักได้ 30 ครั้ง เป็นผลงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ผลิตและแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 200,000 ชิ้น
ครีมฟ้าทะลายโจร ครีมทามือ มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อจุลชีพ 99.99% เป็นทางเลือกสำหรับผู้แพ้แอลกอฮอล์ เป็นความร่วมมือกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นวัตกรรม AI อัจฉริยะ สำหรับการวินิจฉัย วิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอกในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19
กระชายขาว ต้านโควิด-19 : การตรวจคัดกรองสารสกัดในคลังจำนวนกว่า 120 ตัวอย่าง พบว่า สารสกัดจากกระชายขาวและขิงมีความโดดเด่นจากสารจำนวน 6 ชนิด ที่มีศักยภาพในการยับยั้งของการติดเชื้อไวรัสได้ 100% ในปริมาณความเข้มข้นของยาระดับน้อยๆ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์


5. หุ่นยนต์โรยละอองฆ่าเชื้อ โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : การพัฒนาหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคเป็นการ ลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้รวดเร็วมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ปฏิบัติงาน 1 คน เหมาะสำหรับพื้นที่สาธารณะภายในและบริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ทางเดิน ห้องโถง สำนักงาน พื้นที่บริเวณนั่งรอ ศูนย์อาหาร โดยเหมาะสมกับการฉีดพ่นที่เป็นกิจวัตรดำเนินการได้ สามารถใช้รีโมทควบคุมระยะไกล ควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดไร้สายดูภาพผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือจอภาพขนาดเล็กได้

6. เครื่องพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) : นวัตกรรมฆ่าเชื้อในห้องและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 คณะวิจัยได้ออกแบบเครื่องพ่นละอองไฮโดรเจเปอร์ออกไซต์ VQ20 ซึ่งเป็นระบบการสร้างละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ความเข้มข้น 3-7% เพื่อฆ่าเชื้อในรถพยาบาล ห้องผู้ป่วย ห้องกักตัวผู้ป่วย ห้องพักบุคลากรทางการแพทย์ รถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ห้องเรียน ห้องนอน ห้องผ่าตัด ห้องออกกำลังกาย/ฟิตเนส ห้องประชุม ห้องทำงาน และเครื่อง VQ20*HP35 ที่พ่นละอองได้เล็กกว่า 5 ไมโครเมตร เพื่อฆ่าเชื้อบนเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย N95 หน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) ชุด PPE และรองเท้า

7. ผลิตภัณฑ์ V-Free รุ่นSUV เครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท มณีจันทร์ ไอโอที โซลูชั่น จำกัด : ผลิตภัณฑ์ V-Free รุ่น SUV เครื่องฆ่าเชื้อ เครื่องฉายแสงรังสี UVC สามารถเคลื่อนย้ายได้ ควบคุมการทำงานด้วยระบบ Internet of Things : IOT ควบคุมการเปิด-ปิดด้วยมือถือหรือแท็บเล็ตผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สร้างความสะดวกและปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดเคลื่อนที่ได้ ใช้งานได้ในหลากหลายพื้นที่

8. เครื่อง UBU-UVC : Smart Germicidal Irradiation Machine โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : เป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพสูงในการกำจัดหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลอดไฟฟ้า UVC ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 : ควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยี IOT ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ควบคุมการเปิด-ปิดเครื่อง และตั้งเวลาการทำงานระยะไกลได้ด้วยการเชื่อมต่อผ่านทางระบบ Bluetooth สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ขนาด 14–25 ตารางเมตร ระยะเวลาที่ใช้ฆ่าเชื้อขึ้นอยู่กับระยะห่างจากผิวหลอด UVC ด้านนอกไปยังพื้นผิวที่แสงตกกระทบ จากการคำนวณพบว่าภายในรัศมี 2-3 เมตร จะใช้เวลาในการฆ่าเชื้อ 15-30 นาที

9. ผลการศึกษาเบื้องต้น “มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤติโควิด-19” โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) : สอวช. ร่วมกับมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำภาพอนาคตประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยหลังสถานการณ์คลี่คลาย

10. University E-sports Championship โดยสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) : สป.อว.ร่วมมือกับ บริษัท อินโฟเฟด จำกัด จัดทำโครงการ University E-Sports Championship (UEC) ซึ่งเป็นกิจกรรมออนไลน์รับยุค New Normal เพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษาที่สนใจในกีฬา E-Sports โดยเน้นการจัดกิจกรรมทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ New Skill, Re skill, Up Skill และมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ในการพัฒนาและ ต่อยอดในการดำเนินอาชีพในยุคใหม่ หรือสามารถดำเนินงานในอาชีพหมวดหมู่ Future Jobs ที่มีความต้องการในยุคหลัง โควิด-19

11. โครงการ Science Delivery By NSM โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) : อพวช.ปรับ กลยุทธ์รับมือสภาวะวิกฤติจากโควิด-19 โดยเปิดให้บริการในรูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook : NSM Thailand เปิดช่องทางการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก อาทิ NSM Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง 360 องศา, DIY and hand-on และ Game Contest เป็นต้น โดยกิจกรรมดังกล่าวพบว่ามีผู้เข้าชมกว่า 6 ล้านคน


ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. กล่าวว่า อาจกล่าวได้ว่าปี 2563 เป็นปีแห่งความสำเร็จของ อว. จากการนำวิทยาการต่างๆ มาพัฒนาประเทศไทย โดยผลงานที่โดดเด่นของ อว. คือการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดการด้านการรับมือโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก ด้วยการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ เร่งผลิตวัคซีน อุปกรณ์ เครื่องมือ และนวัตกรรมต่างๆ ช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดการนำเข้า และพึ่งพาต่างประเทศ พร้อมกับการตอบรับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ได้เป็นอย่างดี

กระทรวงอว.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและหลอมรวมหน่วยงานต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างสอดประสานกัน สนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งภาคอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชนให้พัฒนาทั้งงานวิจัย และนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการแพทย์ โดยเฉพาะโควิด-19 มีคณะแพทยศาสตร์กว่า 20 คณะ และโรงพยาบาลแพทย์กว่า 20 แห่งในสังกัด เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม ไม่เพียงการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต่ำและขั้นกลาง ยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกในวันนี้ให้เกิดขึ้นและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น