สทน. เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี สำหรับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกับนักวิจัยของ สทน. ในปีงบประมาณ 2564 สทน. จะสนับสนุนทุนให้แก่โครงการวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 60 โครงการ โครงการละ 50,000 บาท
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีให้สามารถสนับสนุนการพัฒนาของประเทศได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้ง การยกระดับงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียนมากยิ่งขึ้น สทน. จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี สำหรับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกับนักวิจัยของ สทน. ในปีงบประมาณ 2564 สทน. จะสนับสนุนทุนให้แก่โครงการวิจัยที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 60 โครงการ โครงการละ 50,000 บาท
สำหรับ ผู้ขอรับทุนสนับสนุนงานวิจัยจะต้องเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรในสถาบันวิจัย หรือหน่วยงานของภาครัฐในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการวิจัยร่วมกับนักวิจัยของ สทน. โดยต้องเป็นโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์หรือรังสี ผลงานดังกล่าวจะต้องได้รับการตีพิมพ์ใน วารสาร SJR (SCImago Journal Rank) และอยู่ในควอไทล์ที่ 1, 2 3 หรือ 4 โดยผลงานวิจัยจะต้องมีชื่อของนักวิจัยของ สทน. และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และต้องตีพิมพ์ภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีหลังจากได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจาก สทน. ผู้สนใจขอรับทุนสนับสนุนให้ส่งข้อเสนอเชิงหลักการ (concept proposal) พร้อมหนังสือนำส่งจากหน่วยงานต้นสังกัดได้ที่ TINTtoUniversity@gmail.com หมดเขตรับข้อเสนอวันที่ 21 ธันวาคม 2563
สำหรับภาระกิจหลักของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. คือ การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริม และเผยแพร่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี รวมถึง ผลิตงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ เช่น การวิจัยด้านการเกษตรเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยนิวเคลียร์และรังสี การสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยการพัฒนา เจลดูดซึมน้ำสูงด้วยกระบวนการทางรังสี การวิจัยเพื่อสนับสนุนการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ สทน. ยังมีการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้ง งานวิจัยและพัฒนาเพื่อเตรียมการรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคต เช่น ด้านนิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นต้น