xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “สนิท” รองเลขาธิการ สพฐ.ต่อความร่วมมือจาก “กสศ.” สร้างความเสมอภาคทุกมิติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกือบ 3 ปีที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาส รวมถึงการเติมเต็มด้านต่างๆ อนาคตของชาติได้รับโอกาสทางการศึกษาเติบโตไปสู่การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ลำพังเพียง กสศ.หน่วยงานเดียวไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงไปได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญหนุนเสริมการทำงานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของเด็กนักเรียน สถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา จนครอบคลุมลงลึกไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการ สพฐ.ได้สะท้อนภาพการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ.กับ สพฐ.ไว้อย่างน่าสนใจว่า สพฐ.มีโอกาสทำงานร่วมกับ กสศ.ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา 2 ปีกว่า ความร่วมมือเริ่มแรกเราได้ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดูแลเด็กนักเรียนยากจนเป็นพิเศษ โดยที่ สพฐ.มีระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล หรือ Data Management Center (DMC) กสศ.ได้ผสานความร่วมมือการใช้ข้อมูล และเพื่อให้เกิดความแม่นยำ กสศ.ได้ลงพื้นที่จริง ทำให้พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ เมื่อเทียบกับข้อมูลของ สพฐ.เรามีเด็กยากจนพิเศษเป็นล้านคน และข้อมูลเชิงประจักษ์ดังกล่าวทำให้เราเริ่มทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นความโชคดีของเด็กๆ จากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

รองเลขาธิการ สพฐ.กล่าวถึง กสศ.ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือเด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสในสถานการณ์ต่างๆว่า ถ้าหน่วยงานเดียวคือ สพฐ.อาจทำให้เกิดความล่าช้า การเข้าถึงข้อมูลการสนับสนุนต่างๆ มีน้อย แต่เมื่อได้ทำงานตั้งแต่เริ่มต้น เช่นทุนเด็กยากจนพิเศษ หรือทุนนักเรียนเสมอภาค

ต่อมาเมื่อเกิดภาวะการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 กสศ.ยังได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่ไม่ได้มาโรงเรียน ขาดอาหารช่วงหนึ่ง ที่เดิมต้องรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้เพียงพอ แต่เมื่อไม่ได้มาโรงรียน กสศ.ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยและสำรวจข้อมูล และบางพื้นที่จริงๆ ได้ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ไปอีกจำนวนมาก ถามว่าจำนวนเงินมากหรือไม่สำหรับการทำงานในภาพรวมอาจไม่มาก แต่รายบุคคล สามารถเลี้ยงตัวดำรงชีวิตในช่วงปิดเทอมที่ยาวนานที่สุด เด็กที่เคยมารับประทานอาหาร ดื่มนม จะอยู่ที่บ้านจะเป็นการเติมเต็มให้

“ความสำคัญคือ ถ้า สพฐ.และ กสศ.ไม่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้จะไม่เห็น ตอนนี้เราทำงานร่วมกันในเชิงข้อมูล มีระบบโปรแกรมผ่านพื้นที่จริงๆ ถามว่าความร่วมมือเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะความตั้งใจของสองฝ่าย ทำให้ต่อมามีอีกหลายเรื่องที่มากกว่าเรื่องของความยากจน”

ทั้งนี้ เมื่อลงพื้นที่จะพบปัญหาอื่นอีก จึงทำให้เรามีโครงการร่วมกันในการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่ง สพฐ.มีนโยบายอยู่แล้ว ให้ทำการเยี่ยมบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกปี เราจะมีการออกเยี่ยมบ้านโดยคุณครู แต่วันนี้ กสศ.เข้ามาร่วมกับเรา โดยที่ สพฐ.ที่มีศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน หรือ “ฉก.ชน.” อยู่แล้วได้ทำงานร่วมกันอีก ในเชิงของการเก็บข้อมูล ลงพื้นที่ร่วมกัน ไม่ได้ต้องลงพื้นที่หลายครั้ง เนื่องจากภาวะคุณครูและเด็กขณะนี้ เวลาการเรียนการสอนหายไปจำนวนมากจึงต้องทำการเรียนการสอนให้ครบตามชั่วโมงที่กำหนดไว้ในหลักสูตร รวมทั้งเวลาสอนชดเชย

อย่างไรก็ดี ถ้าเราต่างคนต่างเก็บข้อมูลเดียวกัน หรือต่างกันเล็กน้อย ก็สามารถบูรณาการด้วยกันได้ ฉะนั้น การลงไปเก็บข้อมูลนักเรียนครั้งเดียวกันจะได้ข้อมูลทั้งฝั่ง สพฐ.และ กสศ. นอกจากนี้ กสศ.ยังได้ช่วยให้ข้อเสนอแนะ และความช่วยเหลือ ว่าเด็กที่ไม่ใช่ยากจนเพียงอย่างเดียว ยังมีเด็กที่มีฐานะแต่มีปัญหาอื่นๆ จากการคัดกรองตกหล่นไปบ้าง กสศ.จะช่วยเหลือเติมเต็มเข้าไปอีก

นอกจากนี้ สพฐ.มีสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ ดูแลเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส ที่อยู่ในศูนย์การศึกษาพิเศษ ราชประชานุเคราะห์ รวมทั้งศึกษาสงเคราะห์ เด็กเหล่านี้มีความขาดแคลนอยู่แล้ว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เราต้องช่วยเหลือ กสศ.ได้เข้ามาเพิ่มในส่วนนี้ทำให้การทำงานช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ท่านเลขาฯ สพฐ.ได้มอบนโยบายว่า เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างทัดเทียมกัน ฉะนั้น เด็กทุกคนเราต้องดูแลอย่างปกติ รวมถึงเด็กพิการทั้งหมดด้วย นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราทำงานร่วมกัน เอาข้อมูลมาแชร์ร่วมกัน โดยมีระบบการเก็บข้อมูลที่ดี ซึ่ง กสศ.มีแอปพลิเคชันที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ถามว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการใช้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้กรอกข้อมูลคือคุณครู ครูก็ได้ใช้ข้อมูลนี้ด้วย ถ้าหน่วยงานที่เก็บข้อมูลแล้วนำไปใช้ในหน่วยงานของตนเอง เพราะในที่สุดครูอาจนำมาใช้ในการดูแลอบรมเด็กให้เพียบพร้อมทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต”


รองเลขาฯ สพฐ.ยังได้กล่าวถึงการมี “ฉก.ชน.” ส่งผลให้เราได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ ว่า ข้อมูลเด็กที่เราทำการเก็บร่วมกัน ที่จริงโรงเรียนเก็บไว้ใช้บริหารเพื่อดูแลเด็กรายบุคคลอย่างไร แต่วันนี้ข้อมูลที่ได้มาถูกใช้ในระดับที่สูงขึ้น โดย สพฐ.ใช้ในภาพรวม หรือ กสศ.กำลังนำไปใช้เป็นข้อมูลเดียวกันเพื่อตอบโจทย์เดียวกัน เพียงแต่เดิมเราไม่ได้ทำทั้งหมดอาจทำแค่เรื่องความยากจน

“คราวนี้เราไปเจอเด็กที่อยู่อาศัยไม่ดีพอ สังเกตจากการจัดแคมเปญใหญ่ๆ ในการช่วยเหลือที่ผ่านมา เพราะเราไปเจอสภาพที่อยู่อาศัยไม่ใช่บ้านที่เด็กอาศัยได้ นอนฝนตกก็อยู่ไม่ได้เปียกไปหมด ข้อมูลตรงนี้อยากทำให้เห็นสภาพเป็นแบบนี้ รวมทั้งข้อมูลที่เราบอกมีการคัดกรองแล้ว มีความแม่นยำแล้ว บางครั้งเจอเด็กที่ต้องสนับสนุนเพิ่มเติมให้เขา”

รองเลขาฯ สพฐ.ยอมรับว่า เป็นความตั้งใจดีของ กสศ.ที่จะเข้ามา โดยไม่มองเรื่องความยากจนอย่างเดียว “เพราะความเสมอภาค ไม่ใช่เรื่องความยากจน ความเสมอภาคคือเด็กทุกคนได้โอกาสที่ควรได้รับเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการเรียน โอกาสความเป็นอยู่ในสังคม โอกาสที่ควรได้รับการพัฒนาในเชิงความสามารถของตนเอง อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ถ้าตรงนี้เราไม่ได้มุ่งไปที่ความยากจน ซึ่งคนเข้าใจผิดว่าความเสมอภาค คือความยากจน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เราเจอปัญหาเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรืออยู่กับญาติ มีไม่น้อยที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติผู้ใหญ่ พี่คนโตต้องดูแลน้อง สิ่งเหล่านี้พอเราเห็นสภาพความจริงจะได้แก้ปัญหาถูกจุดและร่วมกันแก้ปัญหา”

จากสถานการณ์โควิด-19 ประเมินกันว่าจะมีการระบาดรอบสอง สร้างความห่วงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวส่งผลไปถึงครอบครัวขาดรายได้ เด็กอาจหลุดจากระบบการศึกษา ประเด็นปัญหาตรงนี้ รองเลขาธิการ สพฐ.เผยว่า ได้มีการเตรียมการรับมือไว้แล้ว

“เราติดตามกลุ่มนี้ตลอด เด็กที่มีปัญหา ไม่ได้อยู่กับครอบครัว เพียงแต่วันนี้สถานการณ์ภาวะไม่ปกติ แต่การเรียนการสอนเปิดปกติได้ เด็กกลุ่มที่ได้รับการดูแลคือทุกกลุ่ม เด็กที่ขาดแคลน ไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ถ้าให้ดี กสศ.มาช่วยกันดูแล เหมือนที่ทำกันอยู่จะเห็นข้อมูล กองทุน กสศ.มีส่วนสนับสนุนได้”

"เรายังมั่นใจอยู่ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดไม่ถึงกลางเมือง ยังอยู่ชายแดนสามารถรับมือป้องกันได้ จึงฝากให้ กสศ.มีอะไรก็มาแชร์ข้อมูลกัน เช่น จากการพัฒนาระบบสารสนเทศระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือ CCT APP โดยทดลองนำร่อง 8 จังหวัด เป็นรูปแบบที่ดี ถ้าทำไปแล้ว เกิดขยายผลไปได้ ขอให้ช่วยกันแบบนี้ แม้ว่าโควิด-19 หมดไป มีวัคซีนมา กสศ.และ สพฐ.ก็ทำงานร่วมกันต่อไป เช่นเรื่องอื่นๆ เรื่องความยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ความไม่เท่าเทียมกันในการจัดการศึกษา

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ สพฐ.มีความเป็นห่วง คือ อยากให้ กสศ.มองไปถึงกลุ่มโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตามที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงห่วงใยว่าอยากให้ดูแลคุณภาพให้ดี ให้ สพฐ.ช่วย ถ้าอยากจะฝากก็อยากให้ กสศ.ช่วยตรงนี้ด้วย"

โอกาสนี้ รองเลขาธิการ สพฐ.ยังกล่าวถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูในพื้นที่ด้วยว่า เราไม่อาจลงพื้นที่ได้โดยตรง หรือสุ่ม หรือไปติดตามสถานการณ์ แต่คนที่อยู่ใกล้พื้นที่มาก คือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะภายใต้การนำของ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน และคนอยู่พื้นที่จริงๆ คือ ครู ผู้บริหารโรงเรียน

ฉะนั้น สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ต้องมีความเอาใจใส่ มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับเขตพื้นที่ตลอด มีการสื่อสารที่รวดเร็ว เมื่อมีสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นต้องเตรียมการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเดียว โดยเฉพาะกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา และการศึกษานิเทศก์ที่จะลงพื้นที่ประจำจะนำข้อมูลมาใช้

รองเลขาฯ สพฐ.ฝากถึงผู้บริหารเขตการศึกษา ไม่ต้องกลัวว่าทำงานโดยลำพัง ยังมีหน่วยงานอื่น เช่น กสศ.เหมือนเป็นทีมงานพาร์ตเนอร์ ต่อไปนี้ท่านที่ได้พบทีมงาน กสศ. นั่นหมายความว่าเป็นทีมงานร่วมกันทำ หน่วยงานกลางรับรู้รับทราบแล้ว ขอให้ความร่วมมือกับ กสศ.ด้วย

“ขอบคุณคณะผู้บริหาร กสศ. เราทำงานร่วมกันอย่างนี้ ความสำเร็จจะเกิดและช่วยดึงเด็กกลุ่มหนึ่งให้มีโอกาสเรียนมากกว่าภาคบังคับที่เรากำหนด เขาอาจมีอนาคตที่ไปมากกว่านี้ เชื่อว่า กสศ.มีความสามารถในการผลักดันเรื่องเหล่านี้มาก” สนิท แย้มเกษร กล่าวทิ้งท้ายถึงความร่วมมือทำงานกับ กสศ.มาตลอด 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น