ความร่วมมือตลอด 19 ปี ของซีพีเอฟ, หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ(Japanese Chamber of Commerce : JCC), มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ล่าสุดไปส่งมอบโครงการฯ เป็นปีที่ 20 ให้กับ 5 โรงเรียนในจังหวัดนครพนม ณ โรงเรียนชุมชนบ้านหนองย่างซิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม
ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนภายใต้โครงการนี้ 127 โรงเรียน ในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นจำนวนนักเรียน 35,941 คน และครูกว่า 850 คน คิดเป็นมูลค่า 28.50 ล้านบาท ทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีกองทุนหมุนเวียนจากโครงการฯและนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
หมายความว่าโรงเรียนที่ร่วมโครงการสามารถผลิตไข่มากพอที่จะให้เด็กสามารถบริโภคได้ 120 ฟองต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่เด็กควรได้รับ หรือเฉลี่ยการบริโภคไข่ตกประมาณ 2-3 ฟองต่ออาทิตย์ หรือมากกว่านั้น
แต่ถ้านับตั้งแต่โครงการเริ่มต้นจริงๆ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟ ทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ รวมเป็นเวลา 30 ปี (3 ทศวรรษ) มีโรงเรียนเข้าร่วมแล้ว 778 แห่งทั่วประเทศ พอมาปี 2543 ถึงได้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ เข้าร่วมเป็นภาคีสนับสนุน ด้วยที่มีเจตนารมณ์สอดคล้องกัน
มร.โชอิจิ โอกิวาร่า ประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม JCC กล่าวว่า ผลลัพธ์จากโครงการนี้ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า เด็กนักเรียนในได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันอย่างต่อเนื่องทำให้สุขภาพของเด็กแข็งแรงเพราะได้รับสารอาหารโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และยังเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชประสงค์ที่จะให้ขยายโครงการไปทั่วประเทศ
“ในปีนี้ครบรอบ 20 ปีที่ JCC ร่วมทางกับพันธมิตรดำเนินโครงการ เราคาดหวังเสมอว่าการสนับสนุนจะนำไปสู่การต่อยอดให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ไม่เพียงแค่การเลี้ยงไก่ ในด้านการบริหารจัดการก็ทำควบคู่ไปด้วย”
สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการนี้ เริ่มจากทางโรงเรียนติดต่อไปยังมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทเพื่อขอเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิฯ มาตรวจสอบความพร้อมของโรงเรียนในด้านต่างๆ ต่อจากนั้นถึงเข้าไปช่วยเหลือด้วยการสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมส่งมอบพันธุ์ไก่ ซึ่งในปีแรกที่ดำเนินการทางโรงเรียนแทบไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆ
หลังจากนั้นทางมูลนิธิฯ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็มาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงการดูแลไก่ไข่ให้กับคุณครูและนักเรียนที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมกับคอยตรวจสอบความเรียบร้อยทั้งสุขภาพไก่ และการใช้งบประมาณที่ได้จากการขายไข่ไก่ นอกจากนี้ ยังให้ข้อแนะนำด้านการขายไข่แก่ครูและนักเรียน รวมถึงผลประกอบการที่ได้จากการขายที่บริหารโดยโรงเรียนนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ให้ใช้เกี่ยวกับโครงการผลิตไข่ไก่เท่านั้น
อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท บอกถึงสาเหตุที่ทำให้โครงการนี้ “ยั่งยืน” โดยการเปรียบเทียบว่าเป็นการสนับสนุนที่สอนให้คนตกปลาเป็น ไม่ใช่การเอาปลามาให้ ดังนั้นเป้าหมายในการสนับสนุนโรงเรียนจึงทำเพียงในปีแรกเท่านั้น โดยการให้งบประมาณสร้างโรงเรือน และวางระบบการเลี้ยงไก่ ให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลไก่และการจำหน่ายไข่ พอเข้าถึงปีที่สองจะเหลือแค่การช่วยเหลือด้วยคำแนะนำและการซื้อไก่ อาหาร ยารักษาโรค ในราคาทุนเท่านั้น ขณะที่ทางโรงเรียนต้องบริหารเงินเองทั้งหมดตามกรอบที่มูลนิธิฯ ตั้งไว้
“เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ เราต้องการถ่ายทอดความรู้และวิธีการคิดแบบธุรกิจเพื่อให้นักเรียนและครูเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชุน เมื่อชุมชนมีความสามารถในการต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ก็ย่อมจะทำให้ชุมชนนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย”
ด้าน วราราชย์ เรืองศรี รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไก่โข่ ซีพีเอฟ เสริมว่า ซีพีเอฟสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ใน 3 ด้านหลัก เพื่อให้โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นโครงการตัวอย่างของความยั่งยืน คือ 1. การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาการเลี้ยงและการบริหารจัดการ จัดทำคู่มือการเลี้ยงไก่ไข่สำหรับครูและนักเรียน เพื่อให้เลี้ยงและจัดการได้อย่างเป็นระบบ ถูกต้องตามหลักวิชาการและการสุขาภิบาล 2. สนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์สัตว์ และอาหารสัตว์ ให้กับโรงเรียนผ่านระบบสมาชิกโครงการ และ 3. ร่วมติดตามโครงการฯ โดยเจ้าหน้าที่สัตวบาลคอยไปเยี่ยมโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง
“บางคนอาจจะมองไกลเกินไปว่า ซีพีเอฟและพันธมิตรเข้ามาสนับสนุนโรงเรียน และมีเป้าหมายต่อไปให้องค์ความรู้นี้ต่อยอดเป็นวิชาชีพสู่ชุมชน จะเป็นวิธีการรุกรานธุรกิจท้องถิ่นหรือไม่ ผมขอบอกว่าธุรกิจไก่ไข่เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ลองสังเกตจากโรงเรือนที่มีไก่ไข่มากกว่าสองแสนตัว ดังนั้น เมื่อมาเทียบกับการส่งเสริมโรงเรียนที่เราไปสนับสนุนเริ่มจากการเลี้ยงประมาณ 200-300 ตัว จึงไม่ใช่การเข้าไปแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น ซีพีเอฟ และพันธมิตร ทำเพียงในระดับส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของชาติในท้องถิ่นห่างไกลมีสุขภาพดี ส่วนการต่อยอดเป็นวิชาชีพแก่ชุมชน ถ้าหากชุมชนใดทำได้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อส่วนรวมเพราะช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจึงควรมองว่าเป็นการกระจายรายได้มากกว่า”