xs
xsm
sm
md
lg

[มีคลิป] “สุกี้ตี๋น้อย” ความสำเร็จของ.. สาวน้อยวัย 25 ปี กับ ยอดขาย 500 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





วันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก “สุกี้ตี๋น้อย” ร้านสุกี้บุพเฟ่ต์ ราคา 199 บาท แต่ด้วยบริการ บวกกับ คุณภาพและรสชาติ กับบรรยากาศภายในห้องแอร์ พร้อมที่จอดรถ ทำให้สุกี้ตี๋น้อย ได้รับการตอบรับจากลูกค้า จนทำให้สาวน้อย “เฟิร์น” “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” เจ้าของร้าน กลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านบาท ด้วยวัยเพียง 27 ปี

นัทธมน พิศาลกิจวนิช  เจ้าของสุกี้ตี๋น้อย
นัทธมน เล่าว่า เธอเริ่มต้นทำธุรกิจ ร้านสุกี้ตี๋น้อย วัย 25 ปี การเปิดตัวสุกี้ตี๋น้อย ในครั้งนี้ เกิดมาจากความต้องการที่จะทำทุกอย่างให้แตกต่างจากภาพที่หลายคนคิดว่า 199 บาท จะต้องเป็นแบบที่เขาคิด เพราะบุพเฟ่ต์ ราคา 199 บาท ก็สามารถมีสิ่งดีๆ อย่างที่หลายคนไม่คาดคิดได้ และทุกครั้งที่เฟิร์น เลือกวัตถุดิบไม่เคยมองราคา แต่สิ่งแรกที่พิจารณา คือ อร่อยและลูกค้าจะชอบไหม เป็นเหตุผลทำให้ลูกค้าให้การตอบรับ สุกี้ตี๋น้อย ขนาดที่ลูกค้ายอมรอคิวหลายนาที เพื่อจะได้เข้าไปใช้บริการที่ร้าน สุกี้ตี๋น้อย

สำหรับสุกี้ ตี๋น้อยเปิดให้บริการ มาจนถึงวันนี้ ผ่านมากว่า 2 ปี มีสาขาทั้งหมด 25 สาขา และเมื่อปี 2562 สามารถทำยอดขายได้ถึง 500 ล้านบาท จากจำนวนสาขาในขณะนั้น 11 สาขา และในปี 2563 แม้ว่าจะเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถทำอะไร สุกี้ตี๋น้อยได้ เพราะ ผ่านมา 9 เดือน รวมปิดให้บริการในช่วงสถานการณ์โควิด 3 เดือน และการเปิดแบบเว้นระยะห่าง อีกกว่า 2 เดือน ก่อนจะมาเปิดได้ปกติ เพียง 1-2 เดือน คุณเฟิร์น บอกว่า มียอดขาย ถึงเดือนกันยายน มากกว่า 500 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสาขาที่เพิ่มขึ้น ถึง 25 สาขา ซึ่งสาขาที่ทำรายได้สูงสุด อยู่สาขาลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และการกลับมาเปิดใหม่หลังจากโควิด-19 มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้นกว่าตอนก่อนเกิดโควิด-19


ที่มาของ “สุกี้ตี๋น้อย”

นัทธมน เล่าว่า หลังจากที่ตนเอง เรียนจบระดับปริญญาโทมาจากต่างประเทศ พอกลับมาเมืองไทยก็มาทำงานออฟฟิศ แต่การทำงานออฟฟิศไม่ได้ตอบโจทย์อะไรในชีวิตของเฟิร์นเลย ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน หรือ การทำงานที่ต้องทำตามที่หัวหน้าสั่ง เราไม่สามารถที่จะแสดงเอ็กชั่นอะไรได้มาก ก็เลยตัดสินใจลาออก ตอนนั้นเฟิร์นอายุ 25 ปี แล้ว และอีก 5 ปี เฟิร์นก็จะอายุ 30 ปี แล้ว ต้องเริ่มทำอะไรจริงจัง ถ้าเริ่มเร็ว ได้เรียนรู้ความผิดพลาดได้เร็ว โอกาสจะเริ่มใหม่ก็ยังทำได้ และเดิมครอบครัวของเฟิร์น เรามีแบล็กกราวน์ ทำร้านอาหารอยู่แล้ว ชื่อ เรือนปันหยา

ดังนั้น ถ้าเราจะเริ่มทำธุรกิจ ก็คงจะเลือกทำร้านอาหาร เนื่องจากประสบการณ์ของครอบครัวช่วยเราได้ แม้ว่าการทำธุรกิจร้านอาหารเรือนปันหยาที่ผ่านมา เราก็จะรู้ว่าปัญหาค่อนข้างเยอะ และพอเราจะคิดทำร้านอาหารต้องมาดูว่า และเราจะทำร้านอาหารอะไรที่ปัญหาไม่เยอะ และสามารถควบคุมมาตรฐาน รสชาติอาหารได้ ก็เลยมาลงตัวที่ ร้านสุกี้ ส่วนที่มาของชื่อ ตี๋น้อย มาจากเดิม คุณพ่อ ในสมัยอยู่ต่างจังหวัด ด้วยความที่พ่อเป็นลูกคนเล็ก คนในบ้านก็จะเรียกว่าตี๋น้อย แต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครเรียกพ่อว่าตี๋แล้ว ก็เลยเอาชื่อพ่อมาตั้งเป็นชื่อร้าน และเห็นว่า เป็นชื่อที่เรียกง่ายและจดจำได้ง่าย ก็เลยเป็นที่มาของ สุกี้ตี๋น้อย


ในส่วนของสูตรน้ำจิ้ม หรือ น้ำซุป มาจากพ่อทำร้านอาหาร และเฟิร์นก็เป็นคนชอบกิน เราได้มีโอกาสไปกินมาแล้วหลายๆ ที่ และพ่อก็มีแม่ครัวเก่ง ที่ทำร้านอาหารกับพ่อมานาน มาช่วยปรุงรสชาติให้ และ “เฟิร์น” กับคนในครอบครัวช่วยกันชิม ช่วยกันปรับ จนได้สูตรที่เป็นเบสท์ กลางๆ ซึ่งของเราจะติดหวานนิดหน่อย ซึ่งลูกค้าชอบแบบไหนก็ปรุงเพิ่มได้ และที่ร้านของเราก็ยังมีน้ำจิ้มซีฟู้ด รสชชาติเปรี้ยวและเผ็ด เมื่อนำมาผสมกับน้ำจิ้มสุกี้ที่ติดหวานนิดหน่อย จะลงตัวพอดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้าด้วย




ทำไม ต้องบุพเฟ่ต์ราคา 199 บาท

สำหรับที่มาของ บุพเฟ่ต์สุกี้ ราคา 199 บาท เกิดขึ้นมาจากในท้องตลาดส่วนใหญ่ จะเปิดตัวด้วยบุพเฟ่ต์ 199 บาท เราก็เลยเลือกเปิดตัวด้วย 199 บาทเช่นกัน ซึ่งก็คงจะใช้ราคานี้ไปตลอดแม้ว่า ราคาวัตถุดิบจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะ 199 บาท กลายเป็นโลโก้ของทางร้านไปแล้ว และที่เราตั้งราคา 199 บาท ส่วนหนึ่งต้องการให้ลูกค้าทุกกลุ่มจับต้องได้ ซึ่งเป็นราคาที่เจาะกลุ่มลูกค้าแมส ทุกระดับสามารถกินสุกี้ตี๋น้อยของเราได้


“โดยส่วนตัว เฟิร์นมองว่า ราคา 199 บาท เป็นราคาปกติ ไม่ใช่ราคาที่น่าตกใจแต่อย่างใด เป็นราคา ที่เขาขายกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ คือ ในราคา 199 บาท เราทำได้มากกว่าร้าน 199 บาท ทั่วไป เราทำทุกอย่างให้แตกต่างจากที่หลายๆคนคิด และไม่มีใครคิดว่า ราคา 199 บาท จะทำได้ขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบริการที่ดี อยู่ในห้องแอร์ มีที่จอดรถ และเวลาเปิด ปิด ที่เปิดเที่ยงวัน ไปจนถึง ตี 5 (เวลา 12.00 น.ไปจนถึง 5.00 น.)

การที่เราเลือกให้บริการไปจนถึง 5.00 นาฬิกา เป็นเหตุผลที่ สุกี้ตี๋น้อย เลือกที่จะเปิดแบบสแตนอะโลน ไม่เข้าห้างสรรพสินค้า “เฟิร์น” บอกว่า การเปิดให้บริการไปจนถึง ตีห้า ส่วนหนึ่ง คือ สโลแกนของเราที่ต้องการให้บริการลูกค้าในทุกกลุ่ม สามารถมากินสุกี้ตี๋น้อยได้ และเราก็อยากจะเป็นตัวเลือกให้กับคนที่เลิกงานดึก นอกจากร้านข้าวต้ม ก็ยังมีสุกี้ ของเราที่เป็นอีกทางเลือก ที่ไม่ใช่แค่นักเที่ยว นักท่องราตรีเท่านั้น


กว่าจะมาถึงจุดที่ทำรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท

สำหรับสุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการในปี 2018 ร้านแรก เปิดที่บ้านบางเขน ตอนนั้น เป็นร้านเล็กๆ มีโต๊ะ 10-20 โต๊ะเท่านั้น เหมือนร้านทั่วๆไป แต่มาเป็นที่รู้จัก ตอนที่มาเปิดสาขาที่ 2 เลียบด่วนรามอินทรา เมื่อกลางปี 2018 สาขาที่สอง เราเปิดค่อนข้างใหญ่ มีบล็อกเกอร์ หลายคนมารีวิว ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น และการมาเปิดสาขา 2 นี่เองที่ทำให้มีคนรู้จักสุกี้ตี๋น้อย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยที่เราไม่ได้มีการทำประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด เพราะส่วนหนึ่งเราต้องการจะเป็นธุรกิจที่เติบโตและแข็งแรงในอนาคต ด้วยมาจากคุณภาพที่เกิดจากการบอกต่อ


ทั้งนี้ รวมถึงแนวทางการขยายสาขา เราไม่ได้มีแผนที่จะขายแฟรนไชส์ การขยายสาขาของเรา ไม่ได้วางแผนว่าจะขยายกี่สาขา แต่การบริหางานของเรา ทำแบบเมื่อเรามีความพร้อม และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ซึ่งการคืนทุนของแต่ละสาขา เราเองยังบอกไม่ได้ว่า จะคืนทุนตอนไหน เราคิดแค่ว่าต้องทำให้ดีที่สุด และให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกค้าก่อน และทุกอย่างจะมาเอง

ในส่วนการลงทุน ต้องบอกว่า เราโชคดีที่ในช่วงแรกตอนเปิด 3-4 สาขาแรก ใช้พื้นที่ของที่บ้านเราเอง ไม่ได้เช่า หรือซื้อ และหลังจากนั้น ก็มีเข้ามาเสนอพื้นที่ หลายคนต้องการให้เราไปเปิด และมาติดต่อเข้ามา เราก็พิจารณาดูว่าเหมาะสมหรือไม่ เหมาะสมเราก็เปิด จนปัจจุบันผ่านมาเกือบ 3 ปี มีสาขาทั้งหมด 25 สาขา การลงทุนในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาด โดยในแต่ละสาขา จะมีพื้นที่ตั้งโต๊ะ ตั้งแต่ 30-60 โต๊ะ อย่างน้อยขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 30 โต๊ะ เพราะเราเป็นบุพเฟต์โต๊ะ ต้องเยอะ


การมา "สุกี้ตี๋น้อย" กระทบสุกี้แบรนด์ดังในห้าง หรือไม่

การมาของสุกี้ตี๋น้อย ในครั้งนี้ นอกจากจะฆ่าบุพเฟ่ต์ 199 บาท รายอื่นๆ แล้ว ยังทำให้แบรนด์สุกี้ชื่อดังถึงกับกังวล เพราะไม่ได้แชร์แค่ตลาดบุพเฟ่ต์ตลาดล่าง แต่ก็ยังได้มาแชร์ลูกค้า ในกลุ่มสุกี้ชื่อดังในห้างสรรพสินค้า ด้วยคุณภาพและบริการ บวกกับราคาที่ถูกกว่า ซึ่งวัดได้จากยอดคนมากินที่มาต่อคิว กันตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด ยาวจนถึงร้านปิด และมีการพูดถึงสุกี้ตี๋น้อย กันในวงกว้างโดยเฉพาะในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก แม้ว่าเจ้าของสาวน้อยวัย 27 ปี จะบอกว่า ไม่เคยมองว่า ใครเป็นคู่แข่ง เพราะคู่แข่งของเขา คือ ตัวเอง และความตั้งใจสูงสุด คือ ต้องการจะเป็นแบรนด์ที่มั่นคง และลูกค้าอยู่กับเขาไปนานๆ

“สิ่งที่ เฟิร์นกังวลมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนเราต้องการอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เราอยากเป็นแบรนด์ที่อยู่ยาว ๆ และ เป็นแบรนด์ของคนไทยที่อยู่คู่คนไทยไปตลอด และการที่เราจะอยู่ไปได้ยาว สิ่งสำคัญคือ ต้องทำตัวเองให้แข็งแกร่งก่อน วันนี้ เราไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ อย่างที่หลายคนมองเข้ามา แต่สำหรับเฟิร์นมีอะไรอีกมากที่เรายังมีจุดด้อยที่ต้องพัฒนา โดยเฉพาะระบบหลังบ้าน ถ้าเราสามารถทำระบบหลังบ้านได้ดี จะช่วยประหยัดคอร์สต้นทุนเราได้มาก และระบบหลังบ้านที่ดีช่วยซัพพร็อตการขยายสาขาในอนาคต เพราะตอนนี้ เรามีสาขาเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เรามีแผนจะบุกตลาดต่างจังหวัด ดังนั้น ระบบหลังบ้านจึงมีความจำเป็นที่เราต้องพัฒนา ไปพร้อมกับการเติบโตที่มั่นคง”




บุพเฟ่ต์ หัวละ 199 บาท บริการคุณภาพขนาดนี้ ได้กำไรเท่าไหร่

หลายคนเริ่มสงสัยว่า การที่สุกี้ตี๋น้อย เลือกที่จะให้บริการและคุณภาพเทียบเท่าแบรนด์ชั้นนำ เขาได้อะไร “เจ้าของสุกี้ตี๋น้อย ” เธอบอกว่า ในช่วงแรกแทบจะไม่มีกำไรเลย เพราะการขายบุพเฟ่ต์ สิ่งสำคัญ คือ การขายจำนวนมากๆ เพราะกำไรต่อหน่วยต้องบอกว่าน้อยมาก สมมุติว่า ได้กำไรต่อหน่วยๆ ละ 5 บาท แต่ถ้ามีวอลุ่มเยอะ เป็นพัน หมื่น แสน กำไรก็เยอะตามมาเอง ตอนแรกที่เราเปิดวอลุ่มน้อย กำไรก็น้อย แต่วันนี้ วอลุ่มเราเยอะกำไรก็เพิ่มตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การขายแบบบุพเฟ่ต์ที่เน้นจำนวน และการบริการลูกค้าจำนวนมาก ต้นทุนพนักงานก็สูงตามไปด้วย ปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีพนักงานมากถึง 2,200 คน เพราะการที่เราเปิดถึงตีห้า จำเป็นที่จะต้องจ้างพนักงาน 2 กะ ต่อสาขาต้องใช้พนักงานถึง 80 คน ส่วนการลงทุนด้านวัตถุดิบ ซึ่งทาง เฟิร์น จะเป็นคนคัดเลือกและดิวเอง เพื่อที่จะให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่การมีสาขาเยอะ การสั่งซื้อวัตถุดิบครั้งละมากๆ ทำให้ต่อรองราคาวัตถุดิบให้ต่ำลงมาได้ ช่วยให้ได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง




นัทธมน เล่าว่า สำหรับการบริหารร้าน สุกี้ตี๋น้อย ทุกอย่างเฟิร์นจะทำด้วยตัวเอง ลุยเองทั้งหมด โดยมีพ่อเป็นที่ปรึกษาคอยให้การช่วยเหลือทุกอย่าง แต่จุดเริ่มต้นมาจากเฟิร์นเป็นคนคิดและออกแบบ การเรียนรู้งานของเฟิร์น เริ่มจากเป็นพนักงานเสิร์ฟ การเป็นแคชเชียร์ การดูแลฝ่ายผลิต เฟิร์นใช้เวลาในการลงมือทำเองกว่า 1 ปีเต็ม เพื่อได้รู้ปัญหา และได้รู้ว่าจะต้องพัฒนาอะไร เพื่อให้ สุกี้ตี๋น้อยสมบูรณ์แบบที่สุด

“การที่วันนี้ เรากล้าลุยและลงมือทำอะไรเองในวัยที่หลายคนมองว่า จะทำได้เหรอ กับดูแลพนักงานกว่า 2พันคน การดูแลสาขา ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องบอกว่า ที่เรากล้าลุยเองในวันนี้ เกิดมาจากการที่เราเคยอยู่ต่างประเทศ เราเคยลงมือทำอะไรด้วยตัวเองคิดเองมาตลอด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราโต และกล้าที่จะทำธุรกิจที่หลายคนมองว่าใหญ่เกินตัวไปไหมสำหรับผู้หญิงในวัย25 ปี ส่วนหนึ่งที่เรากล้าก็เพราะมั่นใจว่า เรามีครอบครัว มีพ่อ ที่คอยดูแลเราอยู่ข้างหลัง”

สนใจ FB: สุกี้ตี๋น้อย









* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น