xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.โชว์ 79 แชมป์บรรจุภัณฑ์ดีเด่น พร้อมเผย 4 เทรนด์แพกเกจจิ้งสร้างสรรค์-รักษ์โลก รับปี 2021

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โชว์ 79 บรรจุภัณฑ์ดีเด่นเพื่อความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เข้าประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2020) และระดับโลก (WorldStar Awards) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 60 ล้านบาท พร้อมแนะ 4 เทรนด์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้อนรับปี 2021 กินได้-สร้างสรรค์ - ไบโอ-รีไซเคิล จัดทัพ Thai-IDC และ ITC4.0 พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการพัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับสู่มาตรฐานระดับสากล รวมถึงสร้างความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 48 ภายใต้งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ แห่งภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 28 หรืองาน ProPak Asia 2020  เพื่อให้เกิดความตื่นตัวและการแข่งขันในวงการบรรจุภัณฑ์ไทย เพื่อเฟ้นหาบรรจุภัณฑ์ดีเด่น ที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยมีผู้ได้รับรางวัลบรรจุภัณฑ์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น 79 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น รวมถึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนกว่า 60 ล้านบาท


สำหรับการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย ประจำปี 2563 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นักออกแบบอิสระ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด วัสดุบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบสำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับสินค้ายังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด

นอกจากนี้ รางวัลพิเศษจากสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย (TPA) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (GS1 Thailand) และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษคะแนนรวมสูงสุด President Awards ซึ่งมีผู้รับรางวัล คือ บรรจุภัณฑ์ขนมไหว้พระจันทร์ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ออกแบบโดย นางสาวธารทิพย์ บ่อเพ็ชร์ โดยบรรจุภัณฑ์ที่ได้รางวัลในทุกประเภทจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับเอเชีย (AsiaStar Awards 2020) และระดับโลก (WorldStar Awards)


นายณัฐพลกล่าวต่อว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกบรรจุภัณฑ์ไทยจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 14,253 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.64 ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงสถานการณ์การปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทว่า ยังมีโอกาสเติบโตหรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปรับรูปแบบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ่น

โดยแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค หรือเทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปี 2021 ที่คาดว่าจะได้รับความนิยม ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กินได้ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม หากบรรจุภัณฑ์สามารถรับประทานได้ก็จะเป็นส่วนช่วยให้ปริมาณขยะในประเทศลดลง บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ ผ่านพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นตัวแทนที่สามารถสื่อสารแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน บรรจุภัณฑ์ไบโอ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และสามารถย่อยสลายได้เอง ซึ่งถือเป็นการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกอีกด้วย บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการนำขยะมารีไซเคิล ทั้งขยะพลาสติก โลหะ ขยะอีคอมเมิร์ซ เป็นจำนวนมาก เช่น กระดาษจากกล่องบรรจุสินค้าออนไลน์ และกล่องไปรษณีย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขยะประเภทกระดาษมากยิ่งขึ้น


“อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งในด้านการออกแบบ ซึ่งมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thailand Industrial Design Center : Thai-IDC) ที่พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษสำหรับให้คำแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการโดยตรง รวมถึงศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือศูนย์ ITC 4.0 ที่พร้อมส่งเสริมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค หรือเทรนด์ปัจจุบันและในอนาคต” นายณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น