xs
xsm
sm
md
lg

กสศ.เผยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลัง COVID-19 เด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า 170,000 คน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)


กสศ.เปิดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หลัง COVID-19 พบกระทบเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นมากกว่า 170,000 คน ครัวเรือนยากจนพิเศษรายได้เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 36 บาทต่อวันและพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐเป็นแหล่งรายได้หลักมากขึ้น พบสมาชิกครัวเรือน กลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น ชี้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. สพฐ. ตชด. อปท. จะช่วยบรรเทาปัญหาให้เบาลง โดยเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขช่วยลดผลกระทบ เพิ่มอัตราการมาเรียนในกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบได้ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษปี 63 เพิ่มเป็น 1 ล้านคน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลัง COVID-19 ภาคเรียนที่ 1/2563 โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหลัง COVID-19 ภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่ามีนักเรียนยากจน 1.7 ล้านคน แบ่งเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียน 2/2562 มากกว่า 1.7 แสนคน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในภาคเรียนที่ 1/2562 เทียบกับสถานการณ์เกิดการแพร่ระบาดแล้วในภาคเรียนที่ 1/2563 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ที่ผ่านการคัดกรองใหม่จำนวน 652,341 คน ประกอบไปด้วย กลุ่มเป้าหมายใหม่คือนักเรียนอนุบาลสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ 146,693 คน นักเรียนกลุ่มเดิมที่คัดใหม่เนื่องจากครบ 3 ปีการศึกษา 313,361 คน นักเรียนสังกัด อปท.และ ตชด. 14,834 คน และกลุ่มใหม่ที่คาดว่ายากจนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจผนวกกับสถานการณ์ COVID-19 จำนวน 177,453 คน หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 50 ของนักเรียนยากจนพิเศษ ก่อนมีสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19

น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
น.ส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) นำเสนอผลการวิเคราะห์เชิงลึกข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 600,000 ครัวเรือนพบว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ ทำให้รายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 เมื่อปลายปี 2562 เฉลี่ยวันละ 40 บาท

ในขณะที่หลังสถานการณ์ COVID-19 จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจน พบว่าสมาชิกในครัวเรือนอายุ 15-65 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ของนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่หลังสถานการณ์ COVID-19 และส่งผลให้สมาชิกครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น จาก 4 เป็น 5 คน หรืออย่างน้อย 1 คน จึงคาดว่าเป็นผลมาจากการกลับภูมิลำเนาเนื่องจากว่างงานในช่วง COVID-19 ที่สำคัญ ยังพบว่าผู้ปกครองนักเรียนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรัฐถึงร้อยละ 42 และยังพบว่ามีการประกอบอาชีพเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 หากเทียบกับช่วงก่อน covid-19 ที่มีประมาณร้อยละ 36 และเพื่อให้ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ได้นำองค์ความรู้และข้อมูลไปช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคมไทย


กสศ.จึงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำคลังข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทยที่ชื่อว่า “EEF IN Number” ขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวของเด็กยากจนพิเศษที่เสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา สถิติ ตัวเลข รวมถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ กสศ.คาดหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้และทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับโอกาสเข้าถึงความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลและความเคลื่อนไหวของงานวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ https://research.eef.or.th/

ดร.ไกรยสกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมการบริหาร กสศ.ได้พิจารณาปรับแผนการช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั้งกลุ่มเดิม จำนวน 414,688 คน และกลุ่มใหม่ จำนวน 652,341 คน รวมเป็น 1,067,029 คน จากเดิมที่เคยให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาค 761,729 คน ในปีการศึกษา 2562 ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การขยายกลุ่มเป้าหมาย แต่ กสศ.ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ในเชิงคุณภาพ ยืนยันว่าเมื่อนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราการมาเรียนต่ำกว่าร้อยละ 80 ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาคอย่างต่อเนื่องสามารถช่วยลดผลกระทบ ป้องกันไม่ให้หลุดออกนอกระบบการศึกษาได้ โดยเด็กกลุ่มนี้มีอัตราการมาเรียนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากมาเรียนร้อยละ 69.4 หรือราว 3 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 89.4 หรือราว 4 วันครึ่ง และเมื่อเด็กได้รับเงินอุดหนุนต่อเนื่องอีกหนึ่งภาคเรียน อัตราการมาเรียนเฉลี่ยก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น


“ยอมรับว่า COVID-19 ส่งผลกระทบหนักมาก แต่ความร่วมมือระหว่าง กสศ.กับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. ตชด. อปท. จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ให้เบาลงได้ไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งต้องขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรที่พิจารณาแปรญัตติเพิ่มงบประมาณกลับมาให้กับ กสศ.จนสามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหานี้มีขนาดใหญ่มาก และยังมีกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่เรียนจบชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช.ที่มีความเสี่ยงหลุดนอกระบบการศึกษาเพราะสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเรื่องรายได้ของครอบครัวที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้เด็กๆ ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงอยากเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมเติมเต็มความช่วยเหลือให้แก่น้องๆ กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มิให้หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร เพื่อให้เด็กเยาวชนในระบบการศึกษาผ่านพ้นสถานการณ์ COVID-19 ไปได้ด้วยกันทุกคน”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://research.eef.or.th/ หรือ https://dashboard.eef.or.th/




กำลังโหลดความคิดเห็น