ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ติวเข้มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดอปท.ให้นักเรียนยากจน ชี้ประโยชน์มุ่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา
วันนี้ (17ม.ค.63) ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น 2 โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดประชุม การสร้างความเข้าใจระบบการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค ภายใต้ “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ครั้งที่ 1โดยมีผู้อำนวยการและคณาจารย์จากโรงเรียนสังกัด อปท.จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าปัจจุบันข้อมูลบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติพบว่า นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน เฉลี่ยรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ถึง 36,000 บาทต่อปี ซึ่งครอบครัวของพวกเขาต้องแบกรับรายจ่ายด้านการศึกษามากถึง 22% ของรายได้ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน เฉลี่ยปีละกว่า 670,000 คน
แม้รัฐบาลจะจัดให้มีการจ่ายเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่ตอบโจทย์บางอย่าง ที่นอกเหนือจากเงื่อนไขการศึกษาฟรีของรัฐ ทั้งในเรื่องของค่าเดินทาง และค่าเสียโอกาสทางอาชีพ และที่สำคัญคือ ในความเป็นจริงแล้วนักเรียนแต่ละคนมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน
“การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มตันสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการด้านการศึกษาและด้านสารณสุข โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส” รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวและว่า
เมื่อเด็กมีความเสมอภาคทางการศึกษา จะมีโอกาสมีคุณภาพสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้ เมื่อเรามีคนที่มีคุณภาพ จะสามารถพัฒนาจังหวัด เป็นไปตามเป้าหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่ถ้าปล่อยให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา มันจะไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ นี่เป็นส่วนเริ่มต้นที่เริ่มทำขึ้นมา กองทุนเป็นกองทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับจังหวัดขอนแก่นจะได้ใช้ประโยชน์เบื้องต้นจากฐานข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจนของ กสศ. โดยนำข้อมูลนักเรียนยากจนที่มีความต้องการเพิ่มเติมด้านต่างๆ มาช่วยเหลือทั้งในเรื่องการฝึกทักษะอาชีพ การให้ทุนการศึกษาเพิ่มเติม และการคัดกรองนี้จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถนำข้อมูลไปใช้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดทางด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นระบบคัดกรองนักเรียนยากจนนี้ ไม่ใช่แค่การจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนเท่านั้น แต่จะเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อชี้เป้าบูรณาการความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงตัว
ด้านนางสาวจันทร์สุดา งามชัด ครูโรงเรียนหนองเขียด กล่าวว่าโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดีเพราะจะทำให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ มีความรู้ มีอนาคตที่ดี ที่ผ่านมาพื้นที่ห่างไกลนั้นการลงพื้นที่เพื่อสำรวจคัดกรองบางครั้งก็ลำบาก เพราะการเดินทางเข้าถึงครอบครัวเด็กไม่สะดวก แต่ครูก็ต้องทำ พ่อแม่ออกไปรับจ้าง ทิ้งเด็กให้อยู่กับปู่ย่าตายายที่แก่ชรา ดังนั้นการมีโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข เป็นเรื่องที่ดี เมื่อเด็กมีการศึกษา มีอนาคตดี สังคมก็จะดีตามมาด้วย
สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นหน่วยงานใหม่ จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในมิติต่างๆ โดยมีโครงการสำคัญ คือโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกคองส่วนท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุปสรรคต่อการมาเรียนของนักเรียน อันเนื่องมาจากขาดแคลนทุนทรัพย์เพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนและป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ปัจจุบันดำเนินการในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.แล้วทั่วประเทศ และในปีการศึกษา 2563 นี้จะขยายสู่โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเช่นกัน