รมต.อว.เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มอบให้ วช. ขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและมหาวิทยาลัยในพื้นที่
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยมี ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ นำเยี่ยมชม พร้อมกันนี้ รมต.อว.ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยชุมชน เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โครงการธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนการวิจัยและนำเอาผลการวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ 12 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้ชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชนในทุกจังหวัดชายทะเล
สำหรับศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดย วช. สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม
ภายหลังเยี่ยมชมโครงการ รมว.อว.กล่าวชื่นชม วช. และ ม.วลัยลักษณ์ ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาโครงการธนาคารปูม้าชุมชน โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และในโอกาสหน้าจะขอไปตรวจเยี่ยมที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหลังรับฟังรายงานได้แง่คิด 2 ประการ
ประการแรก ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า อว.ติดต่อชาวบ้านและประชาชน ด้วยการนำ “องค์ความรู้” และ “งานวิจัย” มาให้แทนการให้สิ่งของ มีนักวิจัยทำงานให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ และต่อมาพัฒนาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัย และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่น เปรียบได้กับการช่วยคนด้วยการสอนให้ตกปลาหรือปลูกข้าว แทนการแจกปลาหรือแจกข้าว อันจะส่งผลให้เกิดการสร้าง “วัฒนธรรมวิจัย” ให้แก่ชุมชนและประชาชน ประชาชนสามารถทำวิจัย มีความชอบในการทำวิจัย และเชี่ยวชาญในการทำวิจัยแบบง่าย ๆ อย่างไม่เป็นทางการ เกิดความสุขใจในการทำวิจัย เพราะ ทำแล้วเห็นผลที่จับต้องได้จริง
ประการที่สองกระทรวง อว. มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง รมว.อว.จึงขอให้ทุกหน่วยงานภายใต้ อว. มีความสามัคคี ช่วยเหลือ และชื่นชมในผลงานของหน่วยงานอื่น ๆ การศึกษางานซึ่งกันและกันของหน่วยงานต่าง ๆ ใน อว. จะมีประโยชน์มาก ตัวอย่างเช่น งานพัฒนาผ้าพื้นถิ่นที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ( บพท.) สนับสนุน มรภ.นครศรีธรรมราช กับ งานธนาคารปูม้าชุมชน ของ วช. ทั้ง บพท. และ วช. สามารถศึกษางานของกันและกันและหาแนวทางการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาการทำงานต่อไปได้
นอกจากนี้ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการทำงานในจังหวัด เกิดจากการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสำคัญ ขอให้จังหวัดมั่นใจได้ว่าทุกหน่วยงานภายใต้ อว. จะสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดอย่างเต็มที่ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด และกระทรวง อว. จะสนับสนุน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะแม่ข่ายของกลุ่มมหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนบน โดยในอนาคตจะผลักดันให้มีอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ จ.นครศรีธรรมราชต่อไป
พร้อมกันนี้ รมว.อว.ได้ตอบคำถามประชาชนถึงนโยบายหรือแนวทางในการทำงานร่วมกับชุมชนว่า การทำงานร่วมกับชุมชนนั้นทำให้บุคลากรในกระทรวงเข้าใจตนเองมากขึ้นว่า การทำงานในห้องเรียนหรือห้องปฏิบัติการวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้น อาจารย์และนักวิจัยต้องทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น นำ วทน. มาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของชุมชน และ อว.ยังมีแนวทางวิจัยให้ชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้นได้ผ่าน “ชุมชนวิจัย”
"กล่าวคือ พัฒนาให้ชาวบ้านสามารถผสมผสานภูมิปัญญาดั่งเดิมกับองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็น “นักวิจัยสมัครเล่น” ที่สร้างผลงานตอบโจทย์ปัญหาในชุมชน สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารปูม้าชุมชน ที่ชาวบ้านรับถ่ายทอดองค์รวมรู้ วทน. ผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้เป็นธนาคารปูม้า สร้างผลกระทบเชิงบวกแก่ชุมชน จับปูม้าได้มากขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น รักษาสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เป็นตัวอย่างให้คณะทูตต่างประเทศมาเยี่ยมชม เกิดเป็นความภูมิใจ และความสุขใจในชุมชน" รมว.อวกล่าว
ศาสตราจารย์ นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐสามัคคี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กระทรวงพาณิชย์ ให้นำเอาองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมมาต่อยอด หรือวิจัยเพิ่มเติม ขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีอยู่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และสภาวะชุมชน จำนวน 500 แห่ง ใน 20 จังหวัดทั้งในพื้นที่ชายฝั่งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน เพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้า คืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลไทย รวมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตธนาคารปูม้า และกำหนดวิธีการหรือมาตรการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วช. กรมประมง และหน่วยงานความร่วมมือ ได้มีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 543 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัด ของประเทศไทย จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรธรรมราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และกรมประมง ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าทั้งหมด จำนวน 41 แห่ง ใน 6 อำเภอชายฝั่งทะเล ได้แก่ อ.เมือง 6 แห่ง อ.ขนอม 6 แห่ง อ.ท่าศาลา 12 แห่ง อ.ปากพนัง 4 แห่ง อ.สิชล 4 แห่ง และ อ.หัวไทร 9 แห่ง ภายใต้ โครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ระบุ
วช. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดำเนินการโครงการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ "คืนปูม้าสู่ทะเลไทย" ตามมติคณะรัฐมนตรี ในภาพรวมของประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนธนาคารปูม้าในพื้นที่ชายฝั่งให้ได้ตามเป้าหมาย พร้อมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทรัพยากรปูม้าในท้องทะเลไทยและการเป็นผู้นำด้านการส่งออก รวมทั้งขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตธนาคารปูม้า และกำหนดวิธีการหรือมาตรการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การอนุรักษ์ การฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
"การดำเนินงานดังกล่าวได้ทำให้เกิดธนาคารปูม้าและศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับปูม้า การผลิตลูกปูม้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดทำธนาคารปูม้า ซึ่งสามารถต่อยอด ขยายผลสู่การสร้างรายได้ของชุมชนตามแนวทาง BCG Economy และการใช้ประโยชน์ปูม้าอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี"