xs
xsm
sm
md
lg

สสว.เผยส่งออก SME ชายแดนครึ่งปี 63 ลดลง 4.6% ชี้จับตาเติบโตสมุนไพรไทยในรัสเซีย มาเลย์ช่วงโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว.เผยตัวเลขส่งออกของ SME ไปยังประเทศการค้าชายแดนไทยช่วงเดือน ม.ค.- ก.ค. 63 เทียบกับช่วงเดียวกันปี 62 ลดลงเพียงร้อยละ 4.6 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8 หมื่น 7 พันล้านบาท ชี้แผนช่วย SME ส่งออกเน้นทำตลาดออนไลน์มากขึ้น สินค้า SME ที่ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นสินค้าในกลุ่มสมุนไพรไทยและเครื่องสำอาง ตลาดหลักคือ รัสเซีย และมาเลเซีย

ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา ที่จัดโดย สสว. ร่วมกับศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนา พลิกวิกฤติ พิชิตโอกาส : SMEs ผงาดในตลาด รัสเซีย มาเลเซีย เมียนมา & กัมพูชา” ถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในส่วนของการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม ถึงกรกฎาคม 2563 ตัวเลขการส่งออกของ SME ในตลาดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย มียอดการส่งออกลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 87,000 ล้านบาท หรือประมาณ 4.6% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันเดือน ม.ค.- ก.ค. 2562 ตัวเลขการส่งออกของ SME ในแถบการค้าชายแดนอยู่ประมาณ 91,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมตลาดส่งออกของกลุ่มสินค้าเป้าหมาย SMEs ไทย ประเภทกลุ่มอาหารเครื่องดื่ม และบริการ ในช่วงครึ่งปีหลัง (2562) ถึงเดือนมกราคมปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกมูลค่ากว่า 587,494.39 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของประเทศ +8 (อาเซียน 10 ประเทศ และอินเดีย รัสเซีย จีน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา) พบว่าตลาดหลัก (Matured Market) สูงที่สุดคือ สหรัฐฯ (17,856 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รองลงมาคือ จีน (10,797 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (6,190 พันล้านเหรียญสหรัฐ) อินเดีย (2,842 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และรัสเซีย (1,722 พันล้านเหรียญสหรัฐ)


ดร.วิมลกานต์ กล่าวถึงการทำตลาดส่งออกของ SME ในช่วงสถานการณ์โควิดว่า ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญต่อการทำตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของ SME เพราะการทำตลาดออนไลน์ ต้นทุนการตลาดที่ต่ำ แจ้งเกิดผู้ประกอบการ SME ในตลาดส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งตลาดสำคัญที่น่าจับตามองเป็นตลาดที่นำมาเปิดเวทีสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ มาเลเซีย รัสเซีย พม่า และกัมพูชา ซึ่งทั้ง 4 ประเทศให้การตอบรับสินค้าจากประเทศไทยเป็นอย่างดี เช่น ประเทศรัสเซีย ปัจจุบันหลังจากมีสถานการณ์โควิดประเทศรัสเซียให้ความสนใจผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสมุนไพร และเครื่องสำอางจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสมุนไพรไทย ซึ่งสืบเนื่องจากชาวรัสเซียมาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และได้มาใช้บริการด้านสปา และสมุนไพรต่างๆ ทำให้เขารู้จัก คุ้นเคยและยอมรับในสมุนไพรไทย

ส่วนใหญ่ชาวรัสเซียจะคัดเลือกสินค้าสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยและดำเนินการด้านการนำเข้าไปขายที่รัสเซียด้วยตนเอง ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ของไทยในการขยายสินค้าในกลุ่มนี้ไปยังประเทศรัสเซียผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีกประเทศที่ไทยให้ความสำคัญ คือประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปขายมากที่สุดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับประเทศไทย โดยในปี 2563 ประเทศมาเลเซียมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยสูงถึง 1,813 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐที่จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงนี้ ให้หันมาเลือกใช้บริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถ้ามีการนำเสนอราคาต่างกันไม่เกิน 10%

การจัดสัมมนา “พลิกวิกฤติ พิชิตโอกาส : SMEs ผงาดในตลาด รัสเซีย มาเลเซีย เมียนมา & กัมพูชา” จัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับฟังแนวทางการดำเนินธุรกิจและประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดรัสเซีย มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา เพื่อช่วยแนะนำลู่ทาง โอกาส และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดทั้ง 4 ดังกล่าวตามความเหมาะสมในแต่ละภาค อีกทั้งผู้ประกอบการยังได้เรียนรู้การสร้าง Business Networking และการทดสอบตลาด จากคู่มือที่แจกในงานสัมมนา

นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ Business Consulting กับผู้ประกอบการรายบุคคล ในรูปแบบ Private group สำหรับการสัมมนาครั้งแรกในวันนี้เป็นการเจาะลึกตลาดรัสเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรกว่า 144 ล้านคน และกว่า 32 ล้านคนตามลำดับ และจากข้อมูล GDP ปี 2562 พบว่ารัสเซียมี GDP 1,722 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้มาเลเซียจะมี 382 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มาเลเซียก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียนที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเห็นได้ชัดเจนตลอด 10 ปี จึงถือเป็นตลาดที่น่าจับตาสำหรับ SMEs ไทย

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งถัดไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หมายเลขโทรศัพท์ 08-4231-6705

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น