xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดประกวดปลากัดระดับโลก ยกระดับเป็นสินค้าส่งออกดาวเด่นปี 62 มูลค่า 212 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





สสว.หนุนคลัสเตอร์ปลากัด เดินหน้าจัดงาน INTERNATIONAL PLAKAD COMPETITION 2020 คาดมีปลากัดจากทั่วโลกเข้าร่วมประกวดกว่า 1,600 พันตัว พร้อมนำปลากัดยักษ์ และปลากัดพันธุ์หายากเป็นจำนวนมากมาจัดแสดง พร้อมผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก และสินค้าเชิงวัฒนธรรมอีกมากมายที่ครบวงจรที่สุดภายในงาน เผยปลากัดยังเป็นดาวเด่นการส่งออกปี 2562 ด้วยยอดกว่า 20 ล้านตัว มูลค่า 212 ล้านบาท




นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สสว.ได้ร่วมกับ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมปลากัด และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้การส่งเสริมกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการหรือคลัสเตอร์ปลากัดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครปฐม ที่เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากัดที่สำคัญของไทย ซึ่งการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา สสว.ได้ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการเพาะเลี้ยงปลากัด ผ่านการฝึกอบรมเชิงสัมมนา และอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาตนเอง วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเชื่อมโยงปลากัดไทยสู่สากล ตอกย้ำการเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย พร้อมทั้งมุ่งเน้นในการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะของปลากัดในแต่ละพื้นที่หรือภูมิภาคของไทย ซึ่งการสร้างการรับรู้ และต่อยอดไปสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ รวมถึงการขยายตลาดในเชิงรุกสู่สากลต่อไป

สำหรับในปีนี้ สสว.ได้จัดงาน “INTERNATIONAL PLAKAD COMPETITION 2020” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการจัดแข่งขันประกวดปลากัดสวยงามและปลากัดป่าระดับโลกที่สำคัญ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานในปีที่ผ่านมา ซึ่งการประกวดครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการประกวดปลากัดสากลหลายด้าน ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ หรือแบบวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ได้แก่ 1. จัดทำมาตรฐานปลากัดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสมาคมปลากัดในการปรับปรุงและอัปเดตสายพันธุ์ที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ 2. จัดให้มีการอบรมมาตรฐานการประกวดปลากัดสวยงามและปลากัดป่า 3. จัดให้มีการอบรมกรรมการตัดสินและสอบคัดเลือกกรรมการตัดสิน 4. ยกระดับมาตรฐานการจัดกิจกรรมงานประกวดให้เป็นต้นแบบในอุตสาหกรรมปลากัดระดับโลก เช่น จัดให้มีประเภทหรือรุ่นการแข่งขันมากที่สุดในโลก เพื่อให้ครอบคลุมปลากัดทุกสายพันธุ์ทั่วโลก กรรมการผู้ตัดสินปลากัดสวยงามและปลากัดป่าต้องสอบผ่านหรือมีใบรับรองเท่านั้นในการตัดสิน และในปีนี้ที่ยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ยังจัดให้มีระบบการลงคะแนนแบบออนไลน์ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่รวดเร็วและแม่นยำ


รวมทั้งสถานที่จัดงาน ICONSIAM ถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย ที่รวบรวมสินค้าไฮเอนด์และสินค้าอัตลักษณ์ของไทยไว้ให้นักท่องเที่ยว ผู้ที่สนใจเข้ามาเลือกหาตามความชื่นชอบหรือไลฟ์สไตล์ของตน การจัดงานครั้งนี้จะเป็นการประกวดปลาระดับนานาชาติครั้งแรกของไทยภายใต้วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งผู้เข้าร่วมแข่งขันสามารถส่งปลาจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อร่วมชิงชัยความเป็นสุดยอดปลากัดสวยงามและปลากัดป่าได้ แม้เจ้าตัวไม่สามารถบินเข้ามาในประเทศไทยก็ตาม

Highlight ที่สำคัญในปีนี้ มีการจัดแสดงพันธุ์ปลากัดแปลกใหม่และหายาก เช่น ปลากัดยักษ์ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย และไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ปลากัดยักษ์มีขนาดความยาวของลำตัวที่ใหญ่กว่าปลากัดปกติถึง 2 เท่า คือมีความยาวได้ถึง 3-4 นิ้ว จากปกติจะมีความยาวเฉลี่ย 1.5 นิ้ว ปลากัดอีสานทรงเครื่อง ซึ่งเป็นปลากัดป่าอีสาน Betta smaragdina ที่มีคลีบ หาง และชายน้ำขนาดใหญ่ สวยงาม จากการพัฒนาสายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังมีปลากัดสีธงชาติไทย ที่เน้นความหลากหลายสายพันธุ์ คือ ปลากัดคลีบหางมงกุฎ ฮาฟมูนปลากัดที่มารวมตัวและร่วมการประกวดในครั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเวทีการประกวดที่รวบรวมปลากัดของไทยและนานาชาติมาไว้ในงานเดียวที่ใหญ่ที่สุด คาดว่าจะมีปลากัดเข้าร่วมประกวดมากถึง 1,600 ตัว

ทั้งนี้ ปลากัดสามารถเป็นทูตทางวัฒนธรรมของไทย ที่ประกาศให้โลกได้รู้ว่าประเทศไทยยังมีอัญมณีใต้น้ำที่งดงาม สถานที่ท่องเที่ยวที่วิจิตร แหล่งชอปปิ้งที่ทันสมัย ความงดงามของสีสันปลากัดจึงสะท้อนถึงความเป็นไทยที่มีความสายงามหลากหลาย ที่พร้อมให้ทุกคนมาเยี่ยมชมอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น


ภายในงานยังได้จัดเสวนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจปลากัด พร้อมเชิญวิทยากรจากประเทศจีน และอินเดีย มาเสวนาในหัวข้อ “วัฒนธรรมจีนกับปลากัดไทย” และ “วัฒนธรรมและความแตกต่างของเชื้อชาติที่มีผลต่อการตลาดปลากัด” รวมทั้งยังได้รวบรวมร้านค้าคลัสเตอร์ปลากัดจากทั่วประเทศนำปลากัดเกรดคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลามาจัดจำหน่าย พร้อมอำนวยความสะดวกในการจัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย ที่มาให้บริการรับส่งปลาให้ผู้เข้าชมงานทุกท่านถึงประตูบ้าน รวมถึงนำแสตมป์รูปปลากัดหายาก สวยงาม มาให้นักสะสมและผู้สนใจเลือกซื้อภายในงาน

ทั้งนี้ ปลากัดถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของกลุ่มสินค้าปลาสวยงามไทย โดยในปี 2562 ประเทศไทยได้ส่งออกปลากัดกว่า 20 ล้านตัว มีมูลค่ากว่า 212.9 ล้านบาท โดยประเทศที่นำเข้าปลากัดจากไทยมากที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน และอินเดีย ซึ่ง สสว.เชื่อว่าการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการแบบคลัสเตอร์จะช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าการส่งออกปลาได้มากกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งจะมุ่งสร้างมาตรฐานให้ตลาดเกิดความเชื่อมั่นในปลากัดจากประเทศไทย คาดว่าจะช่วยขยายตลาดได้อีกมากในอนาคต

นอกจากนี้ สสว.ได้เตรียมต่อยอดธุรกิจปลากัด ภายใต้แนวคิด สสว. Connext “เชื่อมคน เชื่อมเอสเอ็มอี เชื่อมโลก” ไปสู่การพัฒนาสินค้าเชิงวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจของปลากัด เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับและขยายได้อีกมาก การจัดงานครั้งนี้จึงจะเป็นประตูสร้างการรับรู้ในเรื่องของธุรกิจปลากัดของไทยและสินค้าปลากัดที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นไทยสู่ตลาดสากล ซึ่งจะนำพานักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศให้มาสัมผัสกับความงดงามของปลากัดไทยที่เปรียบได้ดังอัญมณีใต้น้ำของประเทศ รวมถึงสินค้าเชิงวัฒนธรรมต่างๆ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น