พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ซึ่งกระแสรักษ์โลกกำลังมาแรงในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลิกใช้ถุงพลาสติกหรือหลอดพลาสติก ดังนั้น ธุรกิจพลาสติกจำเป็นต้องปรับตัวและปรับแนวคิดให้ทันตามความต้องการของผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนแปลงุรกิจตัวเองเพื่อสอดรับเทรนด์ตลาดโลก
นายธนเดช งามธนวิทย์ นักวิเคราะห์ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวถึงแนวโน้มที่เปลี่ยนไปในการผลิตภัณฑ์พลาสติกว่า หลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 (โควิด-19) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทุกคนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีการใช้สินค้าแบบซิงเกิ้ล ยูส (Single Use) ผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้ซ้ำ ใช้แล้วทิ้ง แต่ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคไม่ได้หมดไปด้วย สินค้าพลาสติกทางเลือก หรือ กลุ่มไบโอ-พลาสติก จึงได้รับความนิยมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแพคเกจจิ้ง (Packaging) ซึ่งมีการผลิตเพื่อใช้งานในสัดส่วนร้อยละ 42 ของตลาด ถือเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการหลายรายใช้ในธุรกิจ เพื่อยืนยันถึงความตั้งใจเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก
ด้าน นางสาวสุวิชชา ทานะรมณ์ นักวิเคราะห์อาวุโส บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดีไซน์ หรือการออกแบบที่หลากหลายเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่จะต้องสอดรับกับการใช้งานและความต้องการ รวมถึงความพึงพอใจของผู้บริโภค หลายคนซื้อสินค้าจากดีไซน์ จากคุณค่าและความเป็นมาของสินค้านั้นๆ เห็นได้ว่าสินค้าที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ หรือจากวัสดุรีไซเคิล แม้จะมีมูลค่าสูงกว่าสินค้าทั่วไปในกลุ่มเดียวกัน แต่ซื้อเพราะคุณค่าทางจิตใจที่ต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพลาสติกในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้ซ้ำและแปรรูปเพื่อเป็นส่วนประกอบที่ใช้คู่กับวัสดุธรรมชาติเพื่อเพิ่มความคงทุนของการใช้งาน กลุ่มพลาสติกทั่วไปมีการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานซ้ำได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอาหารมีการผลิตจากพลาสติกที่ย่อยสลายได้ 100% แต่สิ่งที่สำคัญคือการดีไซน์ ทำอย่างไรให้แตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
นอกจากภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเรื่องสินค้าพลาสติกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันแล้ว ภาครัฐเองก็มีการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเช่นกัน โดย นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มพลาสติกไลฟ์สไตล์ประมาณ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปยังตลาดสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยไทยมีจุดเด่นในเรื่องของการพัฒนาด้านปิโตรเคมีที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ของอาเซียน กรมฯ เองจึงได้จัดโครงการ “BEYOND PLASTIC” เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดขยายโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก เน้นการพัฒนาสินค้าพลาสติกเชิงลึกให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการให้คำปรึกษาเชิงลึกเป็นรายบริษัท เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการสู่ตลาดโลกอย่างแท้จริงต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *