xs
xsm
sm
md
lg

“ปูดองฉายรังสี” สร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปูไข่ดองเมนูยอดนิยม เพราะด้วยรสชาติความแซบจัดจ้านแบบไทย และได้เห็นผู้ประกอบการหันมาทำปูไข่ดองจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก หลายคนเกิดความเป็นห่วง เพราะเป็นเมนูที่ต้องกินดิบ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค ทาง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงได้เข้ามีบทบาท สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทย ในรูปแบบของอาหารฉายรังสี รวมถึงเมนูปูไข่ดอง นี้ด้วย

นอกจากเมนูปูไข่ดอง ยังมีเมนูอาหารพื้นบ้านอื่น เช่น อาหารหมักดอง สมุนไพร ผลไม้ส่งออก เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มาฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อโรค เพื่อผู้บริโภครับประทานได้อย่างปลอดภัย อย่างเช่นปูไข่ดองฉายรังสี ที่อร่อยชัวร์แบบไม่ต้องกลัวพยาธิ




ปูดองฉายรังสี ลดความเสี่ยงบริโภคอาหารดิบๆ สุกๆ 

นายวสันต์ กอบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคร์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของปูดองฉายรังสี เล่าว่า การทำปูดองฉายรังสี เริ่มขึ้นมาจากเดิมทำปูเค็มมาก่อน และนำปูเค็มไปฉายรังสี เพื่อสร้างความปลอดภัย ส่วนจุดเริ่มต้นของการนำปูเค็มไปฉายรังสี เกิดขึ้นมาจากเห็นว่าแหนมนำมาฉายรังสีได้ ปูดองซึ่งก็ต้องกินดิบเหมือนกันจำเป็นที่จะต้องฉายรังสี เช่นกัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น เจอปัญหาเรื่องตัวพยาธิ และปัญหาท้องร่วงท้องเสีย ที่เกิดจากการบริโภคปูดอง และปูเค็ม และก่อนหน้านี้ ผมเคยอยู่โรงงานสมุนไพรและอาหารเสริมเคยนำสมุนไพรมาฉายรังสี ก็เลยคุ้นเคยกับการฉายรังสีอยู่แล้ว ได้รับคำแนะนำจากทีมงานสทน. ว่าอาหารก็สามารถฉายรังสีได้ และเพื่อให้ได้อาหารที่สะอาดและปลอดภัย ผมเลยตัดสินใจนำอาหารทุกตัวที่เราผลิตมาผ่านการฉายรังสี รวมถึงปูดอง


ทำไมต้องฉายรังสี ปูทะเล 

ทั้งนี้ ที่เราต้องนำปูดองมาฉายรังสี เกิดขึ้นมาจาก ปูไข่ดองที่เรานำมาใช้เป็นปูทะเล ซึ่งมันเป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่าปูแสมเชื้อที่น่ากลัวของทะเล ก็คือเชื้อวิบริโอ ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย ขั้นรุนแรงกว่าปูนา และ ถ้ากินดิบมีความเสี่ยงสูงมาก โดยมีข้อมูลจากสถาบันอาหารได้นำปูไข่ดองในตลาดมาทดลองหาเชื้อ พบว่าเกือบทุกจ้าวมีเชื้อวิบริโอ้ 100 เปอร์เซ็น แต่พอเรานำมาผ่านกระบวนการฉายรังสี ช่วยฆ่าเชื้อดังกล่าวได้เกือบหมด สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการกินปูดองได้อย่างสบายใจ ส่วนปูดองปัจจุบันขายผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างเดียว

หลังจากผ่านกระบวนการฉายรังสีแล้ว ได้มีการแบ่งชุดตรวจเชื้อก่อนฉายรังสีว่ามีเชื้ออยู่เท่าไหร่ และหลังฉายมีเชื้อมีพยาธิหรือ เชื้อโรคอื่นๆ อยู่เท่าไหร่ โดยเข้าห้องแล็ปตรวจทดลองอยู่ 3-4 ครั้ง จนมั่นใจแล้วว่าปริมาณ กิโลเกรย์ที่ใช้กับปู อย่างของแหนมใช้ที่ 2 กิโลเกรย์ ของปูใช้ 5 กิโลเกรย์ ต้องใช้เยอะกว่าเพราะต้องฆ่าจุลินทรีย์ให้หมดให้ปลอดเชื้อ แต่จะไม่ปลอดเชื้อถึง 100 เปอร์เซ็น แต่จะเหลือน้อยมากไม่มีผลต่อร่างกายมนุษย์ แต่พยาธิตายหมดพวกปรสิต ตอนที่เราทดสอบตอนแรกนี้มีค่าตรวจก่อนอยู่แล้วว่ามีปรสิตเท่านี้พอฉายเสร็จ จุลินทรีย์ พยาธิ ลดลง จากปูที่เรามาฉายแล้วปลอดเชื้ออยู่ในขั้นที่มั่นใจได้ว่าพยาธิไม่เหลือ แล้วจุลินทรีย์เหลือน้อยมากไม่มีผลต่อร่างกาย

แม้ว่าจะผ่านการฉายรังสีแล้ว แต่การขอมาตรฐานอย.ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นด้วย ซึ่งมาตรฐานอย.คือจะต้องมีโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ที่นำมาฉายได้ต้องมีมาตรฐานของ อย. ปัจจุบันสร้างโรงงานเล็กๆขึ้นมาร่วมกับเพื่อน 2-3 คน ทำโรงงานเสร็จจึงขอมาตรฐาน อย.ได้ ตอนนี้สินค้าของเราที่ได้มาตรฐาน อย. 2 ชนิด คือ ปูนากับปูแสม ปูนาบรรจุอยู่ในซองสีเขียว ส่วนปูแสมบรรจุอยู่ในซองสีฟ้า ส่วนปูดองเป็นสินค้าใหม่ยังไม่ได้ขอมาตรฐานอย. พอฉายเสร็จทางศูนย์ฯ จะมีตรารับรองว่าผ่านการฉายรังสี ซึ่งเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า ราดูรา ( Radura ) จากเดิมก่อนได้ อย. ทางศูนย์ฯจะฉายรังสีให้ได้แค่ไม่เกิน 10 กิโลกรัม แต่พอได้มาตรฐานอย. จะฉายเท่าไหร่ก็ได้ตามต้องการ 


ต้นทุนการฉายรังสี และระยะเวลาขอ อย.

ส่วนระยะเวลาในการขออย. และการฉายรังสี ใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะถ้าเอกสารพร้อมปกติจะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดการรอบการฉายรังสีอยู่แล้วเราต้องเตรียมให้เสร็จแพ็คเสร็จก็นัดวันเข้าฉายแล้วก็รอรับกลับพร้อมขายต่อ ตอนนี้เรายังไม่มีหน้าร้านที่วางอย่างมากก็ฝากร้านเพื่อนที่เป็นออฟไลน์อยู่ที่ร้านอาหาร พอออกมาเจอชัตดาวน์โควิด หันมาสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางออนไลน์ ได้ลูกค้าหลักทางออนไลน์เป็นหลัก 

สำหรับต้นทุนในฉายรังสี “วสันต์” บอกว่า ไม่เยอะมาก มันขึ้นอยู่กับการวัตถุดิบของเราว่าเยอะขนาดไหน ต่อล็อตถ้าเราทำน้อยแน่นอนต้นทุนมันสูง ราคาตลาดกับที่เราขายถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นอย่างของผมมันสูงกว่าราคาตลาด 30 เปอร์เซ็น มันสามารถลดได้ไหม ได้ถ้ามีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งต้นทุน 30 เปอร์เซ็นของผม มาจากต้นทุนแพ็คเกจและต้นทุนอื่นๆโดยรวม แต่ถ้าเฉพาะตัวฉายรังสีอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็น

สนใจติดต่อได้ผ่านช่องทาง FB: ปูฉาย ปูเค็มอนามัย


แหนมดอนเมือง ปรับลุกส์สู่แหนมฉายรังสี

นายภาคภูมิ หอมสุวรรณ เจ้าของแหนมสุทธิลักษณ์ เล่าว่า เราทำแหนมมากว่า 40 ปี หลายคนรู้จักเราในชื่อของแหนมดอนเมือง กม.26 ปัจจุบันหลังจากได้นำแหนมมาผ่านการฉายรังสี เปลี่ยนชื่อเป็น “สุทธิลักษณ์” และเป็นแบรนด์ที่ขึ้นห้าง และเราก็ทำการฉายรังสีมาได้ 3-4 ปีแล้ว โดยแหนมที่ผ่านการฉายรังสีก็จะมี แหนมตุ้มจิ้ว แหนมสไลด์พร้อมทานและก็แหนมแท่งคู่พร้อมทานมีแหนมฉายรังสีแบบ 120 กรัมกับ 180 กรัม ก็จะมีแบบที่ไม่ฉายด้วยก็จะเป็นตราแหนมดอนเมือง กม.26 ส่วนแบรนด์สุทธิลักษณ์คือฉายรังสีถ้าจะซื้อที่ฉายรังสีก็ต้องดูตราแหนมสุทธิลักษณ์ แต่จะเป็นแหนมบางตัวที่ไม่ผ่านการฉายรังสีเช่นแหนมกระดูกอ่อน แหนมเอ็นข้อไก่ หรือว่าหมูยอ อันนั้นต้องไปทอดอยู่แล้วก็เลยไม่ได้ผ่านการฉายรังสี แหนมฉายรังสีของเราสามารถกินดิบได้เลย จะมีวางขายที่ 7-eleven


ผลไม้ส่งออกฉายรังสี ปลอดภัยไร้การตีกลับสินค้า

ด้านนายณัฐวุฒิ อนันตสุคนธ์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ เล่าว่า สำหรับผลไม้ที่ส่งออก มีหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด ส่วนผลไม้ที่เรานำมาฉาย โดยทำตั้งแต่เปิดซีซั่นแรก คือ มังคุด และหลังจากนั้น เราก็มาใช้บริการกับ สทน. มาตลอด เพราะฟีดแบคการตอบรับดี ไม่มีคืนสินค้า ทั้งนี้ เราเป็นคนกลางเรารับมาขายต่อ มีคอนแท็กกับทางสวนในพื้นที่ จันทบุรี ระยอง ชุมพร การฉายรังสีผลไม้ยังเป็นการกำจัดศัตรูพืช รังสีไม่ได้ทำลายหรือว่าทำให้ผลไม้เสียรสชาติ หรือมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคแต่อย่างใด เพราะการฉายรังสี ไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างที่จะไปเข้าไปทำร้ายในร่างกาย เพราะฉะนั้นปลอดภัยไม่ต้องห่วงสามารถฉายได้ ส่วนค่าบริการไม่ได้สูงมาก คุ้มกับการลงทุนในฐานะของผู้ส่งออก

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ประโยชน์การฉายรังสี สอดคล้องนโยบาย BCG

ด้านรศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยเองได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารฉายรังสีมาตั้งแต่ปี 2515 และมีการจำหน่ายอาหารฉายรังสีแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2528 และในปี 2550 โรงงานฉายรังสีของ สทน. ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯสหรัฐ ให้เป็นโรงงานที่สามารถฉายรังสีผลไม้ไทย 6 ชนิด เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้ ถือเป็นการช่วยเปิดตลาดผลไม้ไทยให้ส่งออกได้มากขึ้น และเมื่อ 4-5 ปีผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียก็ให้การรับรองศูนย์รังสีของ สทน. ให้สามารถฉายรังสีส่งออกไปจำหน่ายที่ออสเตรเลียได้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไทยไปทั้ง 2 ประเทศได้อีกมากกว่า 100 ตันต่อปี

ประเทศไทยได้เล็งเห็นประโยชน์จากการฉายรังสีของ สทน. จึงได้อนุมัติงบประมาณให้ สทน. เพื่อสร้างอาคารและเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนเพิ่มเติม เพื่อสามารถให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการฉายรังสีที่นับวันจะมีมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายด้าน BCG คือ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร อีกทั้งเทคโนโลยีฉายรังสีด้วยอิเล็กตรอนและรังสีเอ็กซ์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้การฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สร้างอาคารและเครื่องฉายรังสี รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน สทน. มีเครื่องฉายรังสีที่ให้บริการฉายรังสีแกมมาในเชิงพาณิชย์แก่ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป โดยใช้โคบอลต์-60 เป็นต้นกำเนิดรังสี ซึ่งมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อเพิ่มเติมทุกๆ 5 ปี ต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 จะมีราคาสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งเครื่องฉายรังสีที่ใช้อยู่เป็นเครื่องเก่าที่มีอายุการใช้งานมากว่า 20 ปี จึงทำให้มีต้นทุนการให้บริการฉายรังสีที่สูงขึ้น และที่สำคัญประสิทธิภาพในการให้บริการฉายรังสีผลไม้ สามารถฉายรังสีได้เต็มที่วันละ 60 ตัน ในขณะที่ความต้องการฉายรังสีผลไม้ของไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดในสหรัฐอเมริกามีความต้องการฉายรังสีเฉลี่ยวันละ 90 ตัน


ดังนั้น ศูนย์ฉายรังสี สทน. จำเป็นต้องจัดหาเครื่องฉายรังสีเพิ่มเติมเพื่อรองรับการให้บริการในอนาคต จึงได้ริเริ่ม “โครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค” โดย สทน. ได้รับงบประมาณ 605,300,000 บาท สำหรับจัดหาเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนพร้อมอาคาร ขนาดของโรงงานฉายรังสีอิเล็กตรอนมีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นโรงงานฉายรังสีที่ผลิตรังสีจากพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งลำอิเล็กตรอน (Electron beam) และรังสีเอ็กซ์ (x-ray) ซึ่งจะให้พลังงานอิเล็กตรอนไม่เกิน 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ให้รังสีเอ็กซ์พลังงาน 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีสินค้าทางการเกษตรให้ได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศ และได้มาตรฐานเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการนำเข้าผลิตผลการเกษตรฉายรังสี ซึ่งโรงงานแห่งใหม่ สทน.ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองการเดินเครื่อง คาดว่าจะเริ่มให้บริการฉายรังสีในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 นี้

สนใจโทร.037-392-9016 หรือ www.tint.or.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager





กำลังโหลดความคิดเห็น