การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตกงานและต้องกลับบ้านเกิด ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เร่งผลักดันโครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย นวัตกรรมเพื่อชุมชน สังคม ให้เกิดเพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่ของประเทศไทย
โดยทาง วช. ได้มีชุมชนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ มาแนะนำ นั่น คือ ชุมชนนวัตกรรมต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง:กลุ่มหัตกรรมสิ่งทอ ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้นำผ้าทอลายโบราณ อย่าง ผ้าทอจก และผ้าทอพื้นเมือง อย่างผ้าขาวม้า ผ้าทอกลุ่มไทยทรงดำ นำขึ้นมาปรับใหม่ เพื่อให้มีความร่วมสมัย และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับช่างทอผ้า และชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับการพัฒนาผ้าทอ ของจังหวัดราชบุรี ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน จากเครือข่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ โดย “ดร.พีรยา สระมาลา” ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองให้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มมูลค่า และช่องทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น
นางสาวจิราภา สุขเกษม ทายาทร้านผ้ามณี ผู้นำกลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า ตนเองมารับช่วงต่อการดูแล ร้านผ้ามณีต่อจากคุณแม่ ซึ่งทำร้านผ้าพื้นเมืองมานานหลาย 10 ปี ซึ่งคุณแม่เป็นรุ่นแรกๆ ที่ได้มีการนำการทอผ้าจก ในตำบลคูบัวขึ้นมาฟื้นฟู โดยรวมกับกลุ่มแม่บ้านที่สนใจ และบางคนเคยผ่านการทอผ้าจกอยู่แล้ว หลายคนไม่เคยทอผ้ามาก่อน แต่สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนที่มาทอผ้ากับเราตรงนี้ เขาจะต้องมีใจและอยากจะทำ เพราะฉะนั้นเขาจะยอมรับในขั้นตอนและพร้อมจะเข้าสู่ขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพของทางร้านด้วย
โดย เราจะเริ่มจากให้ทอในลายที่ทอได้ง่ายๆก่อน แล้วก็ดูความสามารถของเขาว่าไปทางไหน เพื่อให้ตรงกับความสามารถของเขา ส่วนลูกค้าเรามีหลายกลุ่ม บางกลุ่มจะชอบลายจกแบบดั้งเดิม ในขณะที่บางกลุ่มจะชอบลักษณะงานทอแบบประยุกต์ ซึ่งในระยะหลังจะเห็นกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยลง ซึ่งกลุ่มนี้จะชอบอะไรที่เป็นลายประยุกต์ แล้วก็สีสันสดใสมากขึ้น
จุดเด่นหลักๆของผ้าคูบัวอยู่ที่ลวดลาย ซึ่งลวดลายที่เรานำมาใช้เป็นของชาวไทยยวน จะเป็นลักษณะการเลียนแบบลวดลายมาจากลายเก่าๆ ลายของเราจะมีไม่เหมือนไทยยวนของจังหวัดอื่นๆ แล้วก็ไม่เหมือนผ้าจกของจังหวัดอื่นๆเช่นกัน ทั้งการจัดเรียงลาย ทั้งวิธีการใส่สี จะเป็นเอกลักษณ์ผ้าคูบัวของจังหวัดราชบุรี
สิ่งที่เราภาคภูมิใจก็คือการสร้างงานของเราไม่ใช่เฉพาะที่คนทอ แม้แต่คนกรอด้าย ซึ่งเป็น แม่บ้านที่เป็นคนสูงอายุที่ออกไปทำงานอะไรไม่ไหว แต่สามารถมานั่งกรอด้ายให้เราได้ ซึ่งเดือนหนึ่งก็มีรายได้หลายพันบาท ค่อนข้างพอใจที่เราได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนหลายๆ กลุ่ม ส่วนวช.และพช.จะให้การอบรม ซึ่งเราจะเอาความรู้ส่วนต่างที่นอกเหนือจากการทำผ้าเช่นเรื่องการตลาด การทำแพ็คเกจจิ้ง ช่องทางการขาย ซึ่งจริงๆเป็นประโยชน์อย่างมาก
ด้านนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ หัตถกรรม และความเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ทางจังหวัดส่งเสริมให้มีการแต่งกายของชนเผ่าที่มีอยู่ถึง 8 ชนเผ่า ทั้ง ไทยทรงดำ เขมร มอญ กระเหรี่ยง ไทยยวน จีน ลาว ไทยพื้นถิ่น เดิมมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ละที่ก็จะมีประเพณีที่แตกต่างกัน มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข อาหารการกินพืชพรรณธัญญาหารก็อุดมสมบูรณ์ ที่ทางวช.มาสนับสนุนวิชาการทำให้ลายผ้าขาวม้าแตกต่างจากเดิมหรือว่าฝีมือดีขึ้นและลักษณะออกมาตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น จะทำให้ผ้าขาวม้ายังอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยต่อไป
ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โครงการ “ การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง:กลุ่มหัตกรรมสิ่งทอนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธ์ มีวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นมาแต่โบราณ โดยนำองค์ความรู้ด้านการทอ การย้อม การออกแบบลวดลาย มาพัฒนาผ้าขาวม้าในกลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
วัตถุประสงค์หลักก็คือ การนำองค์ความรู้ที่คณาจารย์ หรือ นักวิจัย ที่ทำเกี่ยวกับการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสิ่งทอ มาเพิ่มคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้กับสิ่งทอซึ่งเป็นผลงานหัตถกรรม โดยมุ่งเน้นเข้าไปสู่ชุมชนชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีภูมิปัญญาอยู่แล้ว นำองค์ความรู้มาต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ดีขึ้นกว่าเดิมสามารถสร้างรายได้ระดับสูงให้แก่ชุมชน
ทั้งนี้ ที่เลือกจังหวัดราชบุรี ประเด็นแรก คือ เป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง แล้วก็เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญโดยจะเห็นได้ว่าชาวบ้านยังทำเกษตรกรรมอยู่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่มีอยู่มากในจังหวัดราชบุรีก็คือสิ่งทอไม่ว่าจะมาในรูปของอุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม ผ้าขาวม้าถือเป็นสิ่งทอสำคัญอันหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ซึ่งยังมีคนทำอยู่เป็นจำนวนมากเพราะการทอผ้าที่ง่ายๆที่สุดคือการทอผ้าขาวม้า แต่นอกจากผ้าขาวม้าแล้วอาจจะมี ผ้าจก ผ้าคูบัว และที่สำคัญที่สุดคือจังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดเก่าแก่มีประวัติศาสตร์มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่อยู่มายาวนาน มีศิลปะมีวัฒนธรรมมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่มาก
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนจะต้องกลับคืนสู่ท้องถิ่นอันนี้เป็นคียเวิร์ดที่สำคัญ การที่เราเข้ามาพัฒนาชุมชน สิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนคือ คนที่จะทอผ้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงอายุเป็นคนที่อยู่กับบ้านหรือว่าพอเสร็จจากงานเกษตรตอนค่ำๆมานั่งทอผ้าใต้ถุนบ้าน แต่กลไกการตลาด การหาตลาดออนไลน์หรือ e-commerce ต่างๆเหล่านี้ยังอยู่ห่างไกลกับคนเหล่านี้อยู่มาก เพราะฉะนั้นบุคคลที่กลับมาท้องถิ่นตัวเองโดยกระบวนการที่มีความรู้ในมิติอย่างเรื่องการตลาดกับการใช้คอมพิวเตอร์การใช้ระบบไอทีต่างๆ สามารถเพิ่มเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ได้อย่างดี
โดยกลุ่มคนเหล่านั้น สามารถเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ และที่สำคัญคือเขาไม่ต้องกลับออกไปหางานที่อื่น เขาสามารถมาเติมเต็มชุมชนแล้วสามารถทำให้เกิดกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ทำให้เกิดทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในชุมชนท้องถิ่นและยิ่งเราจะเห็นกรณีโรคโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่เราเห็นมากๆที่ภาครัฐทำคือมีการกลไกการกระจายอำนาจดูจากการทำงานของ อสม. มันคือการกระจายอำนาจดีๆนี้เอง
“ทุกวันนี้พอแม่ๆทั้งหลายทอผ้าไปขายที่ไหน คำตอบ คือ งานโอทอปที่เมืองทองธานี แล้วมันก็ไปแข่งกันอยู่ตรงนั้นเต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้เมื่อเราพยายามสร้างอัตลักษณ์แล้วว่านี้คือผ้าขาวม้าราชบุรี ต่างจากผ้าขาวม้าที่อื่นอย่างไร โอกาสที่จะผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ช่องทางการตลาดเป็นตัวตอบโจทย์สำคัญเพราะว่าเรามีแต่ซัพพลาย แต่ความต้องการหรือดีมานด์การตลาดมันไม่มีให้เห็นชัด เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือการเชื่อมโยงโดยการใช้เทคโนโลยีใช้องค์ความรู้ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเติมเต็มได้คือจากลูกหลานของตัวเองในท้องถิ่น ที่เขาจะกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่มันน่าจะได้ผลดีที่ไม่แตกต่างจาก อสม. คอยช่วยควบคุมโควิด
สำหรับโครงการนี้วช.ทำในลักษณะเป็นทำต้นแบบเพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราไม่ใช่แค่อบรมหนเดียวแล้วจบไป เราทำเป็นตัวคลิปวิดีโอเป็น e-learning แล้วก็มีคู่มือแล้วจุดประสงค์หลักก็คือเราต้องการให้เป็นต้นแบบจริงๆสามารถกระจายส่งต่อได้ด้วยระบบกลไกของวช. ด้วยระบบกลไกของจังหวัด สามารถต่อยอดกันไปกับชุมชนอื่นๆได้หรือแม้กระทั่งไม่ใช้ผ้าขาวม้า หรืออาจจะเป็นผ้าทอชนิดอื่นก็เอาหลักคิดเอาแนวคิดนี้ไปต่อยอดได้เอานวัตกรรมหรือองค์ความรู้ต่างๆนี้ทำให้ตัวสินค้ามีคุณภาพดีขึ้น ต้นทุนอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ราคาขายต้องเพิ่มขึ้นมาก
เช่นจากขายผ้าขาวม้าผืนละ 70-100 กลายเป็น ผืน 300-500 แน่นอนแรงจูงใจมันเกิดขึ้น และถ้ามีตลาดที่เพิ่มขึ้นคนก็จะหันกลับมาทำแล้วจะทำให้เกิดการต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะว่าเขาเห็นช่องทางของการที่จะเดินต่อไปได้มันก็จะมีคนรับต่ออันนี้ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะอนุรักษ์สิ่งที่เป็นภูมิปัญญา ขณะเดียวกันก็พัฒานาต่อยอดด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม
ผศ.ดร.อริศร์ กล่าวย้ำว่า เมื่อเราพัฒนาหัตถกรรมแล้ว การตลาดต้องไปต่อได้ ชุมชนต้องมีรายได้ ตัวสินค้าต้องเป็นตัวดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนได้ เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะมีการขับเคลื่อน เกิดการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ได้ สามารถพัฒนาการท่องเที่ยว เกิดเส้นทางท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปได้ หรือการท่องเที่ยวแบบ New normalได้ เป็นการสร้างแนวคิดให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ใช้ต้นทุนที่มีอยู่ ในชุมชน ในประเทศโดยความคิดสร้างสรรค์ เกิดการต่อยอด ไม่ต้องพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว
สามารถชมผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) โดยจะมีพิธีส่งมอบผลงานโครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง : กลุ่มนวัตกรรมสิ่งทอ” ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจังหวัดราชบุรี พร้อมนำเสนอในนิทรรศการหัตถกรรมสิ่งทอจังหวัดราชบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager