สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ เตรียมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 2 - 6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ผู้เข้าร่วมงานจะต้องลงทะเบียนก่อนร่วมงาน ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบ Online โดยการเข้าร่วมประชุมสัมมนาและชมนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ผ่านซ่องทางต่าง ๆ ที่ผู้จัดงานจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการรับชมจากสถานที่ต่าง ๆ 2) รูปแบบ Onsite คือ การเข้าร่วมสัมมนาและชมนิทรรศการ ณ สถานที่จัดงาน ผ่านทางเว็บไซต์ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ กว่า 300 ผลงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model และในปีนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงาน ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 10.00 น.
ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเครื่องสำอาง จาก วว.
สำหรับ 2 ผลงานวิจัยเด่น ที่ถูกนำมาโชว์ในงาน มาแนะนำให้รู้จัก เริ่มจากผลงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วว. นำมาจัดแสดงก็เป็นผลงานภายใต้โครงการไทยคอสเมโท เป็นโครงการที่นำอัตลักษณ์เอกลักษณ์ของพืชต่างๆทั่วประเทศไทยมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง ที่นำมาแสดงในครั้งนี้ มี 3 ผลิตภัณฑ์ (1)สารสกัดจากเปลือกเมล็ดมะขามและเนื้อมะขาม เป็นเครื่องดื่มในกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสำอาง (2) เป็นเครื่องสำอางที่เป็นการนำพุร้อนเค็มของจ.กระบี่ และ (3) เครื่องสำอางจากอะโวคาโด
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ทั้งนี้ นวัตกรรมเครื่องสำอาง ทั้ง 3 ชนิด จะเป็นการดึงผลิตภัณฑ์เด่นในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสม เช่น น้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งพบได้ที่จังหวัดกระบี่ หรือ การนำมะขามและอะโวคาโด ผลิตภัณฑ์การเกษตรที่พบได้มากในเป็นพื้นที่เดียวกัน คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเลือกนำเอาเมล็ดมะขามวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก หลังจากพบว่าตัวเปลือกเมล็ดมะขามมีสารสำคัญที่มีคุณภาพดี สำหรับการพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง คือสาร OPC มีคุณสมบัติเป็น Super Antioxidant บำรุงร่างกายและทำให้ผิวกระจ่างผ่องใส เป็นการเพิ่มมูลค่าจากของที่ไม่ค่อยมีราคา ขายถูกๆกิโลละ 2-3 บาท ก็เป็นสารสกัดกิโลละ 30,000 บาท
สำหรับเครื่องสำอางจากอะโวคาโด สืบเนื่องมาจากที่พื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการปลูกอะโวคาโดกันมาหลายปี และเมื่อผลผลิตออกมาจำนวนมาก เกษตรกรเจอปัญหาในเรื่องของราคาผลผลิตตกต่ำเช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ทาง วว. ร่วมกับบริษัทเอส แอนด์ เจ และบริษัทมิสทีน ช่วยกันพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติของอะโวคาโด ในการนำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
หลังจากนั้น ได้เครื่องสำอางจากอะโวคาโด อยู่ภายใต้แบรนด์ของมิสทีน ซึ่งช่วยให้เกษตรกรขายอะโวคาโดได้มากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ สำหรับโครงการไทยคอสเมโท นี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของกระทรวง อว. และโครงการดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับ เรื่อง BCG ที่กระทรวงฯดำเนินการอยู่ โดยการทำงานของ วว. จะพยายามเชื่อมโยง ผู้ประกอบการผู้ผลิตทั้งบริษัทขนาดใหญ่ หรือ บริษัทขนาดเล็ก ให้ได้มารู้จักกับเกษตรกร เกิดการเชื่อมโยงกัน ช่วยให้เกษตรกรระบายผลผลิตได้ในช่วงที่ผลผลิตออกจำนวนมาก
สำหรับในงาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563 ที่จะจัดเดือนสิงหาคม นี้ ทางวว. ได้นำผลงานวิจัยต่าง ที่สามารถตอบโจทย์ ความต้องการของผู้ที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ตามท้องตลาด นำมาโชว์ในงาน
ยกระดับขนมหวานพื้นบ้าน เมืองเพชร ในรูปแบบของนวัตกรรม
ถ้าพูดถึงขนมหวานเมืองเพชร ไม่ว่าจะเป็นขนมหม้อแกง เม็ดขนุน ฝอยทอง อาลัว ฯลฯ คนรุ่นใหม่ หรือ คนรักษ์สุขภาพอาจจะกลัวในความหวาน ไม่กล้าซื้อกิน ด้วยเหตุนี้เอง ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม( สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.) เห็นความสำคัญความเป็นมาของภูมิปัญญาของชุมชน ในการสร้างสรรค์และพัฒนาขนมหวานพื้นบ้าน จังหวัดเพชรบุรี จึงได้เข้ามาช่วยต่อยอด
โดยการออกแบบสูตรความหวานทดแทนน้ำตาล เพื่อให้ขนมหวานเมืองเพชร สามารถตอบโจทย์คนรักษ์สุขภาพกลัวความหวานของน้ำตาล โดยสารให้ความหวานที่จะมาแทนความหวานของน้ำตาลในครั้งนี้ มีชื่อว่า อิริทริทอล ซึ่งเป็นน้ำตาลเกิดจากการหมักข้าวสาลี แป้งข้าวโพด หรือ กลูโคสด้วยยีสต์ ซึ่งน้ำตาลอิริทริทอล ได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกา ใช้เป็นสารให้ความหวาน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจะลดน้ำหนัก หรือ ควบคุมรูปร่าง รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร. พระนคร กล่าวว่า ผลงานการคิดค้นสูตรทดแทนความหวาน สารอิริทริทอล เป็นผลงานของคณะคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร โดยการคิดค้นสารดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการยกระดับขนมหวานพื้นบ้าน จังหวัดเพรชบุรี โดยเป็นการทำงานแบบบบูรณาการของ 4 คณะ ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบเครื่องจักร สถาปัตยกรรมศาสตร์ ออกแบบแพคเกจจิ้ง และคณะบริหารธุรกิจ ทำหน้าด้านการตลาด และมีทีมวิจัยทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย นายชลากร อุดมรักษาสกุล, นายวัชราภรณ์ ชัยวรรณ
สำหรับสารทดแทนความหวานอิริทริทอล นี้ มีกลุ่มผู้ผลิตขนมหวานได้นำไปใช้แล้ว โดยได้กำหนดให้ใช้ทดแทนน้ำตาล 25% ส่วนสารอริทริทอล นี้ ทางมทร.พระนคร ทำการผลิตและจำหน่ายเองยังไม่ได้มีถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน ส่วนผู้ผลิตขนมหวานจังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ามารับการถ่ายทอด และนำไปทำออกมาจำหน่ายแล้วหลายราย ซึ่งผู้ที่เข้ามาอบรมการใช้สารดังกล่าวทดแทนน้ำตาลที่ผ่านมาประมาณ 30 ราย ราคาของสารดังกล่าวจะสูงกว่าน้ำตาลในขณะนี้ แต่ถ้าผู้ผลิตขนมหวาน หรือ อุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ ต้องการสารดังกล่าวไปใช้ ถ้าสั่งจำนวนมาก ราคาถูกมากหลักสิบบาท แต่ปัจจุบันมีการสั่งน้อยราคาสูงกว่าน้ำตาลปกติหลายเท่า ราคาประมาณหลักร้อยบาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขนมหวานที่ใช้สารแทนความหวาน ราคาสูงกว่าขนมหวานปกติประมาณ 10-20% เช่น หม้อแกงถาดเล็ก จากเดิมถาดละ 15 บาท เพิ่มเป็น 20 บาท
ส่วนผู้สนใจ สามารถเข้ามาชม ชิม และขอความรู้การทำขนมหวานเมืองเพชร จากสารให้ความหวานอิริทริทอล ได้ภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563 วันที่ 2 - 6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager