ราเมง ชิโนฮาร่า ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร้านนี้ถ้าดูแค่หน้าตาและรสชาติไม่ได้แตกต่างจากร้านราเมง ทั่วๆไป นั่นคือ เส้นราเมงเหนียวหนุ่ม น้ำซุปรสชาติกลมกล่อม เสิร์ฟมาพร้อมเนื้อหมูฉ่ำด้วยไขมัน และหน่อไม้ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือการนำ จิ้งหรีดมาเป็นส่วนผสมทั้งในน้ำซุป น้ำมัน ซอสถั่วเหลือ และแม้กระทั่งในเส้นราเมงเอง ยกเว้นผักที่ใช้ตกแต่งบนอาหาร
และไอเดีย ราเมงจิ้งหรีด เกิดขึ้น เด็กหนุ่มวัย 26 ปีนาม “ยูตะ ชิโนฮาร่า” กำลังขะมักเขม้นกับการเตรียมน้ำสต็อคเพื่อทำราเมง ทว่าน้ำซุปของเขาไม่ได้เคี่ยวจากกระดูกหมูหรือไก่ แต่เป็นน้ำซุปที่ทำจากแมลง “ในหม้อใบนี้มีจิ้งหรีดประมาณ 10,000 ตัวเมื่อทำเสร็จจะได้น้ำซุปประมาณ 100 ชาม” ชิโนฮาร่าอธิบาย
เขาไม่ใช่เชฟมืออาชีพ เขานิยามตัวเองว่าเป็นเพียงคนรักธรรมชาติคนหนึ่ง เขารักทุกอย่างที่เกี่ยวกับธรรมชาติ และความรักความชอบนี้ได้นำพาเขาไปเกี่ยวข้องกับอาหารที่ทำจากแมลง “ผมอยากให้ผู้คนได้พบกับประสบการณ์อันรื่นรมย์ในการบริโภคแมลง เพื่อที่แมลงจะได้ถูกยกระดับให้เทียมเท่าพืชและสัตว์อื่นในการนำมาประกอบอาหาร”
เขาไม่เคยบอกกับใครว่าเขาชอบแมลง และเคยกินแมลงเพราะกลัวจะถูกล้อ และมองว่าเป็นคนประหลาด แม้ว่ามนุษย์จะบริโภคแมลงมานานนับพันๆ ปีแล้ว และแมลงยังกลายเป็นอาหารทั่วไปของคนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา และโอซีเนีย แต่ในหลายประเทศ ความอคติทางวัฒนธรรมยังรุนแรงอยู่จนทำให้การบริโภคแมลงยังไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ช่วงหลังจะเห็นว่ามีการรณรงค์ให้บริโภคแมลงมากขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากการเพาะเลี้ยงใช้พื้นที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์
สำหรับชิโนฮาร่า เขาเป็นคนที่สนับสนุนการบริโภคแมลงอย่างจริงจัง และไม่อยากให้มองว่าแมลงเป็นทางเลือกสุดท้ายในการเป็นอาหาร เขาอยากเห็นแมลงเป็นอาหารจานเด็ดที่ใครก็อยากลิ้มลอง ยกตัวอย่าง หนอนผีเสื้อที่หลายคนไม่ชอบและสร้างความรำคาญเพราะมันอยู่ตามต้นซากุระ แต่ชิโนฮาร่ามองว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ รสชาติอร่อย
เมื่อตั้งใจจะเผยแพร่วัฒนธรรมการบริโภคแมลงทำให้ “ชิโนฮาร่า” ตัดสินใจจะทำร้านอาหารที่ปรุงจากแมลง เขาและทีมงานได้เตรียมความพร้อมและมีแผนเปิดร้านที่มีชื่อว่า Antcicada ในโตเกียวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แผนที่วางไว้ต้องพับลง
ในเมื่อเปิดบริการให้ลูกค้ามาทานที่ร้านไม่ได้ “ชิโนฮาร่า” จึงพลิกกลยุทธ์ทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงที่จัดเป็นแพค ให้ลูกค้าไปปรุงเองที่บ้าน ชิมลางด้วยราเมงจิ้งหรีดเป็นเมนูแรกโดยวางจำหน่ายทางออนไลน์ หลังเปิดตัวออกไป ผลตอบรับถือว่าดีเกินคาด ยอดขายจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 600 แพค ล็อตสุดท้ายที่วางจำหน่าย ขายหมดภายใน 3 ชั่วโมง ลูกค้าคนหนึ่งที่สั่งราเมงจิ้งหรีดจากร้าน Antcicada ไปลองชิมให้สัมภาษณ์ว่าประทับใจมาก ไม่คิดว่าจะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ เป็นรสชาติที่เขายอมรับว่าชอบ ลูกค้ารายนี้มองว่าหากนำแมลงมาแปรรูปเป็นอาหารแบบนี้น่าจะทำให้หลายคนสามารถกินได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจ
ชิโนฮาร่าไม่ได้ทำงานคนเดียว เขามีทีมงานที่ช่วยออกแบบเมนู "อายูมุ ยูมากุชิ" คือหนึ่งในทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านอาหารหมักดอง และเป็นคนช่วยคิดสูตรอาหารด้วย เช่น เมนู “ทสุคุดาชิ” ที่ปกติจะใช้สัตว์ทะเล เนื้อสัตว์อื่น หรือสาหร่ายมาตุ๋นในซ้อสถั่วเหลืองให้มีรสเค็มหวานแต่ทางร้านใช้แมลงแทน นอกจากนั้น ยังมีการทดลองส่วนผสมต่างๆ เพื่อหารสชาติที่ลงตัวที่สุด ซึ่งจากการทดลองสูตรอาหารก็พบว่าดักแด้เมื่อนำมาปรุงกับถั่วพิสตาชิโอและลูกกระวานจะเข้ากันดีมาก
อย่างไรก็ตาม หากจะเริ่มเผยแพร่อาหารที่ทำจากแมลง ราเมงจิ้งหรีดดูจะเป็นตัวเลือกที่ยอมรับได้ง่ายสุด แต่ชิโนฮาร่าได้ตั้งความหวังไว้สูงในการพัฒนาเมนูอาหารจากแมลงออกมามากกว่านี้ รวมถึงเบียร์ที่ทำจากจิ้งหรีด และชาที่ทำจากหนอนไหม เป็นต้น เขามั่นใจว่าตลาดอาหารจากแมลงจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคตแน่นอน
ที่มา : www.barrons.com