กลุ่มผู้ผลิตตุ๊กตาผ้าแฮนด์เมด แบรนด์มัลลิกา สินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาวของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ต่อยอดตุ๊กตาผ้าแฮนด์เมด ให้สามารถพูดได้ เพื่อตอบโจทย์ตลาดผู้สูงอายุ ที่ต้องการเพื่อนคลายเหงาในยามที่ลูกหลานอยู่ห่างไกล
โดยตุ๊กตาดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบการอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ จาก บริษัท FABLAB ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบ Internet of Things หรือ IoT มาปรับใช้กับตุ๊กตาอัดเสียง ทำให้ได้ระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตา เย็บมือ และเป็น niche market
นางสาวมัลลิกา สงเคราะห์ เจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ OTOP จากร้านมัลลิกา กิ๊ฟชอป หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการชนชราแห่งอนาคต เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. มาจากความต้องการพัฒนาระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตาที่สามารถบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อแจ้งเวลา แจ้งเตือน และโต้ตอบพื้นฐาน และในอนาคตสามารถที่จะใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารระยะไกลภายในครอบครัวผ่านเทคโนโลยีระบบ Internet of Things เพื่อพัฒนาตุ๊กตาให้มีสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ช่วยคลายความเหงา ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย
ด้วยเหตุนี้จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการชนชราแห่งอนาคต เพื่อมุ่งหวังพัฒนาระบบอัดเสียงภายในตัวตุ๊กตาดังกล่าวข้างต้น โดยได้นำเทคโนโลยีระบบ Internet of Things (IoT) มาใช้หรือผนวกกับผลิตภัณฑ์ให้ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองกับความต้องการด้านจิตใจ ร่างกายของผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด ผลที่ได้คือ ทำให้สามารถพัฒนาโปรแกรมต้นแบบระบบอัดเสียงภายในตุ๊กตา ที่สามารถบันทึกเสียงบุคคลในบ้านเพื่อ แจ้งเวลา แจ้งเตือน ตามความคาดหวังและมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ IOT เข้ามาช่วยให้สามารถต่อยอดได้มากขึ้นโดยเฉพาะการโต้ตอบระยะไกลทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบคาดหวังต่อไป
ทั้งนี้ ยังมองว่าตลาดผู้สูงอายุมีโอกาสอีกมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในด้านสินค้าเชิงธุรกิจสาหรับกลุ่มที่มีกาลังซื้อ และด้านสนับสนุนเชิงสังคมสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส
มัลลิกา กล่าวถึงจุดเริ่ม ในการมาทำตุ๊กตาผ้าแฮนด์เมด ว่า เกิดขึ้นมาจากตนเองเป็นคนชอบงานศิลปะ เดิมเป็นพยาบาล ทำเป็นงานอดิเรก พอเกษียณอายุได้มาทำอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้น มีการทำเล่นๆ ทำแจกเพื่อนๆ หลายคนที่ได้รับก็ชื่นชอบ ขอให้เราช่วยทำขาย ก็เลยเป็นที่มาของ การเปิดร้านขายตุ๊กตา ชื่อ ว่า มัลลิกากิ๊ฟชอป ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้รับเลือกให้เป็นสินค้าสุดยอดโอทอป ระดับ 5 ดาวของจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย
สำหรับผ้าที่นำมาตัดเย็บทำตุ๊กตานั้น เป็นผ้ายีนส์ และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เจาะกลุ่มลูกค้าแนวกรีนรักษ์โลก และเป็นงานทำมือทุกขั้นตอน ส่วนการทำงานได้แจกจ่ายงานให้กับกลุ่ม อสม.ในหมู่บ้าน เพื่อจะได้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ด้วยความเป็นงานตุ๊กตาแฮนด์เมด ประกอบกับวัสดุที่เลือกใช้มาจากธรรมชาติ อย่างผ้าทอมือ ต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ราคาตุ๊กตา สูงตามไปด้วย โดยราคาเริ่มต้น ของผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ เริ่มต้นที่ 250 บาท แต่ถ้าเป็นผ้าทั่วไปตามท้องตลาด เริ่มต้นที่ตัวละ 95 บาท ส่วนราคา ตุ๊กตาอัดเสียง จะเริ่มต้นที่หลักพันบาท แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ราคาที่แน่นอน เพราะยังไม่ได้วางจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ปลายปีนี้ (2563)
ในส่วนของกลุ่มลูกค้า เดิมทำขายหน้าร้าน มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อที่ร้าน แต่พอได้เข้าร่วมกลุ่มโอทอป ได้ออกงานแสดงสินค้าโอทอป ที่เมืองทองธานี มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงแรม รีสอร์ท ที่ตกแต่งแนวกรีน ก็มาสั่งออเดอร์ตุ๊กตาของเราไปประดับตกแต่งห้องพัก แต่ช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด ออเดอร์โรงแรม รีสอร์ทต้องหยุดไปก่อน ส่วนตุ๊กตาอัดเสียง ที่เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ
ทำไมถึง อยากทำตุ๊กตาให้ผู้สูงอายุ “มัลลิกา” บอกว่า เนื่องจากที่บ้านของเธอมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลหลายคน จะเข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร และตุ๊กตาอัดเสียงนี้ จะมาช่วยให้เขาคลายเหงาได้ เมื่อได้ยินเสียงลูกหลาน โดยลูกหลาน สามารถอัดเสียงไว้ และคอยเตือนให้ผู้สูงอายุได้ กินยาตามเวลาที่กำหนดได้ และคอยพูดคุยช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา เมื่อเวลาที่ต้องอยู่บ้านลำพัง หลักการทำงานของตุ๊กตาอัดเสียง จะเป็นการสั่งงานผ่านระบบแอปพลิเคชั่น ผ่านมือถือ ส่วนตัวรับสัญญาณจะอยู่ในตัวตุ๊กตา ทำให้แม้จะอยู่ต่างประเทศก็สามารถส่งสัญญาณมาได้
ด้าน นางสาวกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ บริษัท แชสซีพลัสอินฟิล จำกัด (FABLAB Thailand) ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า โครงการชนชราแห่งอนาคตที่ดำเนินการโดยโปรแกรม ITAP สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ มีส่วนช่วยจุดประกายหรือไอเดียให้กับผู้ประกอบการได้มีโอกาสแปลงแนวคิดและข้อมูลที่มีสู่ต้นแบบ เพื่อนำไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเห็นประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม
โดยทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ผู้ประกอบการจับตลาดในกลุ่ม การให้บริการ (การดูแล-รับส่ง) อสังหาริมทรัพย์ มากกว่าการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือนวัตกรรมเฉพาะ ทั้งนี้ในกลุ่มที่พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะอิงไปทางกลุ่ม Health-Wellness มากกว่าเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มผู้สูงวัย
ขณะที่ทิศทางหลังช่วงหลัง COVID-19 ที่แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลน และช่องโหว่ของตลาด ส่งผลให้ เกิดการสร้างโรงงานผลิตวัสดุ ตลอดจนเครื่องจักร กระบวนการ เพื่อตอบสนองความต้องการอุปกรณ์การเเพทย์ในภาวะวิกฤต จากเดิมที่ไทยนิยมนำเข้า รวมถึงในส่วนของผู้บริโภคเอง มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า New Normal ส่งผลให้เกิดตลาดในกลุ่ม Cleaning -Hygienic มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัย แบบ sharing economy จะถูกเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยนไปพึ่ง online มากขึ้น
ดังนั้นการพัฒนาในกลุ่มเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things หรือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” จะเป็นที่ต้องการ และได้รับความสนใจมากขึ้น โดยระบบ Internet of Things (IoT) ซึ่งจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานทั้งในฝั่งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ด้วยความสามารถใหม่ ๆ ที่แก้ไขปัญหาเดิม ๆ ของระบบ IoT อย่างครอบคลุม และกลุ่มตุ๊กตาแฮนด์เมดอัดเสียง เป็นหนึ่งในนวัตกรรมความก้าวหน้าของคนไทย ระบบ IoT เช่นกัน
โทร. 08-3012-1303
FB:Mullika Handmade
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager