กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ อำนวยความสะดวกการเริ่มต้นธุรกิจแก่ภาคธุรกิจ ลดระยะเวลาจาก 6 วัน เหลือเพียง 2.5 วัน พร้อมจับมือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานประกันสังคม และกรมสรรพากร ชี้แจงการพัฒนาฯ ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ต่อทีมวิจัยธนาคารโลก เพื่อประกอบการจัดเก็บข้อมูลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business 2021) ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเจ้าภาพหลัก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารโลกกำลังดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจตามตัวชี้วัดด้านต่างๆ จากประเทศสมาชิก 190 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ประจำปี 2564 หรือ Ease of Doing Business 2021 ซึ่งจะประกาศผลการจัดอันดับฯ ราวเดือนตุลาคม 2563
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานประกันสังคม และกรมสรรพากร ได้ร่วมกันชี้แจงการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ต่อทีมวิจัยธนาคารโลก เพื่อประกอบการจัดเก็บข้อมูลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business 2021) ตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ
ทั้งนี้ ตามรายงาน Doing Business 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับรวมที่ 21 และอยู่ในอันดับที่ 47 ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ โดยรายงานระบุว่าการเริ่มต้นธุรกิจของไทยมี 5 ขั้นตอน ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 วัน ประกอบด้วย (1) การจองชื่อบริษัท 2 วัน (2) การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน (3) การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 1 วัน (4) การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 วัน และ (5) การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง 1 วัน ดังนั้น เพื่อให้การจัดอันดับฯ ปี 2021 ประเทศไทยมีอันดับที่ดีขึ้น พร้อมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชน จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาการให้บริการภาครัฐให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการเริ่มต้นธุรกิจให้สั้นและกระชับมากขึ้น เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
รมช.พณ.กล่าวต่อว่า “ในฐานะเจ้าภาพหลักตัวชี้วัดด้านการเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปฏิรูปการให้บริการหลายด้าน ได้แก่
1) บูรณาการการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยรวมขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ไว้ในขั้นตอนเดียว โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างโดยอัตโนมัติ และสามารถใช้เลขนิติบุคคล 13 หลัก ดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง/ผู้ประกันตน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ได้ที่สำนักงานประกันสังคมต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัทจำกัด พร้อมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถแนบ ‘คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า’ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทาง www.dbd.go.th มาพร้อมกับแบบคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด และนำมายื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ถือเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันเดือนปีที่ได้รับจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยได้เริ่มเปิดให้บริการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
2) ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการจองชื่อนิติบุคคล โดยเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอจองชื่อนิติบุคคล รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งส่งผลให้การให้บริการดังกล่าวมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการการจองชื่อนิติบุคคลสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 0.5 วันทำการ
และ 3) พัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ให้ใช้งานง่าย/สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานระบบ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันการให้บริการของภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2563 กรมฯ ได้เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยให้บริการเพื่อยืนยันตัวตน รวมทั้งปรับปรุงแบบฟอร์มการกรอกให้ง่ายขึ้นเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินการ
ทั้งนี้ จากการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ ตามที่ได้กล่าวมา จะทำให้ใช้ระยะเวลาลดลงจำนวน 3.5 วัน จาก 6 วัน เหลือเพียง 2.5 วัน โดยเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการเริ่มต้นธุรกิจ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหรือทำธุรกรรมผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น สอดรับกับการมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) อย่างเต็มรูปแบบ และส่งผลให้การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในการเริ่มต้นธุรกิจ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายสำคัญที่นักลงทุนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นตามมา