xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “ตั้งโต๊ะหม่าล่า” จากครอบครัวล้มละลาย ปลดหนี้ได้ ด้วยยอดขายเดือนละ 1 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หม่าล่า อาหารจีนยอดนิยม ที่แจ้งเกิดในประเทศไทยมาได้สักระยะหนึ่ง และด้วยกระแสที่ร้อนแรงของหม่าล่า ทำให้หลายคนกลายเป็นเศรษฐีมาแล้ว รวมถึง “ตั้งโต๊ะหม่าล่า” รายนี้ ที่นำเอาต้นตำรับหม่าล่าจากประเทศจีน มาปรับจนโดนใจลูกค้าคนไทย และใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี สามารถทำยอดขายได้เดือนละ 1 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดให้บริการ ปีนี้ (2563) เป็นปีที่ 2 มี 10 สาขา และถือว่าเป็นร้านแรกๆที่ขายหม่าล่าแบบตั้งโต๊ะกินที่ร้าน




เคยอยู่ประเทศจีน พอกลับมานำสูตรหม่าล่าต้นตำรับเปิดในปท.ไทย

จุดเริ่มต้นมาจาก “นางสาวเบญจวรรณ วังทองทรัพย์” หรือ (อุ้ม) ได้ไปเรียนที่ประเทศจีน ตอนนั้นอายุ 18 ปี และเนื่องจากช่วงที่ไปเรียนที่ประเทศจีน เป็นช่วงที่ครอบครัวเธอประสบกับภาวะล้มละลาย จากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ครอบครัวเป็นหนี้ 30-40 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เธอ ต้องผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า ขายของออนไลน์ เพื่อหาเงินเรียน พร้อมกับการขายอาหารกล่องกิจการเล็ก ที่ทำขายให้กับคนไทย ที่คิดถึงอาหารไทย ได้กินกัน ในราคาคนไทย และจากกิจการอาหารกล่องเล็ก กลายมาเป็นร้านอาหาร เพราะคนจีนที่ได้ชิมอาหารไทยที่เธอทำและชื่นชอบ ซึ่งเธอมีรายได้จากการขายอาหารไทยในประเทศจีน เดือนหนึ่งเป็นหลักแสนบาท แต่การต่างชาติเปิดร้านอาหารในประเทศจีนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลจีนไม่ได้อนุญาตให้ต่างชาติมาทำธุรกิจร้านอาหารในประเทศของเขา ก็เลยต้องเลิกกิจการร้านอาหารในประเทศจีน และเดินทางกลับมาประเทศไทย

การกลับมาประเทศไทยในครั้งนี้ ทำให้เริ่มทำธุรกิจ ขายของออนไลน์อย่างจริงจัง เพราะตอนที่อยู่ที่ประเทศจีน ก็ทำบ้างแต่ไม่จริงจัง เริ่มต้นจากการขายเครสโทรศัพท์ สินค้านำเข้าจากประเทศจีน และธุรกิจออนไลน์นี้เอง ทำให้เธอได้จับเงินล้าน และมีเงินช่วยทางบ้านใช้หนี้ จากการรับที่ม้วนผมไฟฟ้ามาขาย จากราคาอันละ 1,500 บาท ขายอันละ 3,500 บาท ขายได้กำไรเป็นล้าน จากเงินเริ่มต้นแค่ 5,000 บาท ตอนเริ่มต้นค่อยๆ ทำ แต่พอออเดอร์เยอะขึ้นสั่งมาขายเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ และด้วยสินค้าประเภท ซื้อมา ขายไป และเป็นสินค้าแฟชั่น มาไว ไปไว ไม่แน่นอน จากเคยขายได้เป็นหลักหมื่น หลักแสนบาทต่อวัน พอขายไม่ได้ บาทเดียวก็ไม่มี





เชื่อว่าถ้าขายอาหารอร่อยเป็นอาชีพที่มั่นคงไปตลอด

ด้วยเหตุนี้เอง ก็รู้สึกเบื่อกับความไม่แน่นอน เริ่มมองหาอาชีพอะไรที่มั่นคง ที่จะทำให้เราอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี สุดท้ายก็จบที่ว่า จะเลือกขายอาหารเพราะมั่นคง ถ้าทำอร่อยอย่างไงคนก็จะมากิน จะเห็นได้จากอาหารหลายชนิด อย่าง หมูกระทะ หรือ ชาบู หลายคนมองว่าเป็นแฟชั่น แต่ร้านไหนที่ทำอร่อย ทุกวันนี้ ก็ยังขายได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่เลือกเปิดร้านหม่าล่า เพราะเคยอยู่ที่ประเทศจีน จะคุ้นเคยกับหม่าล่า เป็นอย่างดี เนื่องจากที่ประเทศจีนกินหม่าล่ากันมานาน และกินกันอย่างแพร่หลาย ทำให้เราพอจะรู้ว่าหม่าล่าแบบไหนที่อร่อย ซึ่งเมื่อ 2ปีก่อนหน้านี้ ตอนเริ่มทำหม่าล่าใหม่ ตอนนั้นกระแสของหม่าล่ามาแรง แต่ยังไม่เห็นร้านไหนเปิดเป็นร้านให้นั่งกิน ทั้งที่ การกินหม่าล่าให้อร่อยมันต้องมีเครื่องเคียง และกินตอนปิ้งใหม่ ก็เลยตัดสินใจว่าเปิดร้านตั้งโต๊ะหม่าล่า เพื่อให้ลูกค้าได้มานั่งกินกันที่ร้าน พร้อมกับเสิร์ฟเครื่องเคียง ประกอบด้วยพริกหม่าล่า สำหรับคนชอบเผ็ดมากจิ้มเพิ่มได้ ผักดอง น้ำจิ้มซีฟู้ด พร้อมกับเนื้อสัตว์และผักที่เสียบไม้ปิ้งบนเตาร้อนและทาด้วยพริกหม่าล่าสูตรเฉพาะของทางร้าน และด้วยความแปลกใหม่ ที่ยังไม่มีใครเปิดร้านหม่าล่าในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้เราได้รับการตอบรับจากลูกค้าภายในเวลาอันรวดเร็ว จากการบอกต่อ



นางสาวเบญจวรรณ วังทองทรัพย์  เจ้าของร้าน



ยอดขายต่อวัน 3-5 หมื่นบาท รายได้เดือนละ 1 ล้านบาท

โดยเปิดสาขาแรก ริมถนนราชพฤกษ์ เพราะอยู่ใกล้บ้าน และถนนเส้นนี้มีรถผ่านไปมา จำนวนมาก มีหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่บนถนนเส้นนี้จำนวนมาก คนในย่านนี้เรียกว่ามีกำลังซื้อเลยทีเดียว พอเปิดได้วันแรกขายเพียง 2,000 บาท แต่พอผ่านมาได้ระยะหนึ่ง โดยที่เราไม่ได้ทำการตลาด หรือ โปรโมทอะไรในทุกช่องทาง อาศัยการบอกกันแบบปากต่อปาก ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า การบอกแบบปากต่อปากเป็นสิ่งที่ทำให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะของเราก็จะต้องดีจริง เขาถึงบอกต่อ ผ่านมาถึงปัจจุบันมียอดขายวันละ 30,000-50,000 บาท รายได้ต่อเดือนก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ขายได้เดือนละ 1 ล้านบาท

หลังจากที่ประสบความสำเร็จ มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแน่นร้านทุกคน เป็นที่มาของคนที่สนใจอยากจะเปิดตั้งโต๊ะหม่าล่าเหมือนกับเรา มีคนติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ จำนวนมาก แต่ด้วยความตั้งใจ ตั้งแต่แรกว่า เราจะทำด้วยตัวเอง ต้องการความมั่นคง ทำให้ตัดสินใจอยู่นาน ว่าจะขายแฟรนไชส์ดีหรือไม่ สุดท้าย ตัดสินใจที่จะขายแฟรนไชส์ แต่อย่าเรียกว่าแฟรนไชส์ เลย เพราะคนที่เปิดกับเรา เขาคือ พาสเนอร์ที่ทำงานร่วมกัน โดยเราเลือกที่จะไม่ขายขาดตั้งโต๊ะหม่าล่าให้กับใครเลย แต่ใช้วิธีการเก็บค่าแฟรนไชส์เป็นรายปี ๆ ละ 80,000-100,000 บาท ถ้าแฟรนไชส์รายไหนไม่ปฏิบัติตามกฎที่ตั้งไว้ หรือ มีปัญหาเราก็จะไม่ต่อสัญญาให้ ซึ่งก็มีคนสนใจ เปิดสาขากับเรา ตอนนี้เปิดไปแล้ว 10 สาขา และเตรียมเปิดอีก 2 สาขา แต่เจอสถานการณ์โรคโควิดก็เลยเลื่อนไปก่อน





ผ่านวิกฤตโควิดมาได้ เพราะเริ่มต้นธุรกิจจากการวางแผน


“เบญจวรรณ” เล่าว่า ก่อนจะเปิดเป็นร้านตั้งโต๊ะหม่าล่า สาขาแรกที่ถนนราชพฤกษ์ ได้มีการวางแผนการทำงานไว้ หลายรอบมาก เพราะด้วยประสบการณ์ที่ครอบครัวเราเคยล้ม และไม่อยากจะต้องมาล้มอีก เพราะรู้ดีว่า การหาเงินมาได้และต้องเสียไปกับการจ่ายหนี้ จ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว เนี่ยมันเหนื่อยมาก ดังนั้น พอคิดจะทำอะไรก็จะมีการวางแผนให้รอบครอบที่สุด ต้องลองเจ๊งในหัวและเจ๊งในกระดาษหลายรอบ ก่อนจะลงมือทำจริง ทำให้การเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด ในครั้งนี้ เหมือนเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ซึ่งถ้าไม่ได้เตรียมแผนฉุกเฉินเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้เราก็คงไม่สามารถที่จะผ่านจุดนี้ไปได้

สำหรับแผนที่เตรียมไว้ 3 แนวทาง คือ การขายแบบรถเข็น ซึ่งได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ส่วนแผนที่ 2 คือ เปิดร้านตั้งโต๊ะ และที่ทำต่อมา คือ การนำหม้อไฟมาขายควบคู่ไปด้วยกับปิ้งย่าง แต่พอดีเผชิญกับสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องเลื่อนการขายหม้อไฟออกไป ซึ่งเมื่อสถานการณ์กับมาเป็นปกติ คงจะได้เปิดขายหม้อไฟ และ ปิ้งย่าง ในร้านให้ลูกค้าได้เลือกกิน และส่วนแผนที่ 3 เกิดจากสถานการณ์โควิด เราก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้การกินหมาล่าที่ต้องสั่งไปกินที่บ้าน ได้รสชาติเหมือนกับการกินที่ร้าน เราก็เลยได้คิด หม่าล่าผัดขึ้นมา คือ การนำหม่าล่า มารูดไม้ และนำมาผัดกับน้ำซอส และสูตรพริกหม่าล่าของทางร้าน และนำมาแพคในระบบสุญญากาศ พอลูกค้าจะกินก็แค่นำไปเวฟก็กินได้เหมือนกับทำใหม่ๆ ซึ่งแผนที่ 3 ไม่ได้คิดว่าจะทำในช่วงนี้ แต่ก็วางแผนไว้ เพราะต้องการขยายตลาดเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต พอเกิดเหตุการณ์โควิด ทำให้เราต้องปรับตัวและ นำสูตรหม่าล่าผัดออกมาทำในช่วงนี้ รองรับการสถานการณ์โควิดที่ต้องเผชิญไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กลับมาเปิดและมีลูกค้ามาใช้บริการได้เหมือนปกติ






“เบญจวรรณ” เล่าว่า การเริ่มต้นครั้งแรกของอุ้มในการทำตั้งโต๊ะหม่าล่าเริ่มจากเงินหลักพัน โดยการทำหม่าล่ารถเข็น เหมือนคนอื่นๆ เพื่อทดสอบรสชาติก่อนว่า ลูกค้าชอบรสชาติหม่าล่าของเราไหม และต้องปรับอะไร ซึ่งจากเงินหลักพันได้กลับมาหลักหมื่นจากการขายแบบรถเข็น ก่อนนำเงินที่ได้มาสานต่อในการเปิดร้านที่สาขาแรก

“นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ อุ้มประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง คือ ทุกอย่างเราจะเป็นคนออกแบบและคนปรุงด้วยตัวเอง แม้ว่าในตลาดอาจจะมีวัตถุดิบที่สำเร็จรูปมา แต่เราก็ไม่ใช้ เพราะต้องการให้คนทีมากินหม่าล่าของเราและเขา รู้สึกได้ว่า ไม่เคยกินรสชาติแบบนี้ที่ไหนมาก่อน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการที่เป็นสูตรของเรา และเราลงมือทำเองทุกขั้นตอน ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาใครจากการไม่คิดว่าพึ่งพาใคร ทำให้เรายืนได้ด้วยตัวเอง อย่างมั่นคง และเป็นเหตุผลที่เปิดร้านหม่าล่า เพราะที่ผ่านมา เคยมีประสบการณ์จากการเปิดร้านอาหาร และอุ้มเป็นคนที่ทำอาหารไม่เก่ง ต้องอาศัยเชฟ และวันหนึ่งเชฟไม่ทำงานกับเรา ทุกอย่างเราจบเลย เรียกว่าเจ๊งก็ว่าได้ การเปิดร้านหม่าล่า ครั้งนี้ คิดว่าจะต้องทำอะไรก็ได้ที่เราไม่ต้องใช้เชฟ สูตรทุกอย่างต้องมาจากเรา และหม่าล่าตอบโจทย์ เพราะมีแค่พริกหม่าล่าที่เราปรุงเอง เทคนิคการย่างเราออกแบบเองว่าต้องย่างอย่างไรให้อร่อย สุดท้ายอุ้มเชื่อว่าจะต้องทำตั้งโต๊ะหม่าล่าเป็นอาชีพที่มั่นคงของอุ้มและครอบครัวไปตลอด” เบญจวรรณ กล่าวในที่สุด

สนใจ Facebook : ตั้งโต๊ะหมาล่า





* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น