กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากระทรวงศุลกากรของจีน (GACC) เปิดด่านการค้าประสบผลสำเร็จ พร้อมพลิกโฉมการส่งออกผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเป็นครั้งแรก ลดปัญหาและอุปสรรคการขนผลไม้ไทยและสินค้าเกษตร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีน เพราะนอกจากปัญหาความแออัดจากการเปิดให้รถบรรทุกสินค้าจากเวียดนามเข้าสู่จีนได้ในจุดเดียวกับรถบรรทุกสินค้าของไทย คือ ด่านโหย่วอี้กวนส่งผลให้สภาพการจราจรบริเวณด่าน โหย่วอี้กวนแออัดถึงขั้นวิกฤต มีรถติดสะสมยาวหลายกิโลเมตร อีกทั้งยังมีปัญหาการจัดคิวรถบริเวณหน้าด่าน โดยให้คิวรถของเวียดนามผ่านด่านไปได้ก่อน ส่วนรถของไทยต้องรอต่อท้ายแถว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน ที่สุกก่อนถึงมือผู้บริโภค
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ในช่วงที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน ได้มีการเจรจาและทำความตกลงกับกระทรวง GACC เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และผลสืบเนื่องล่าสุด ที่ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดำเนินการเจรจากับกระทรวงศุลกากรของจีน หรือ GACC อีกครั้ง จนประสบผลสำเร็จ โดยทางจีนอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยเพิ่มจากเดิมอีก 2 ด่าน คือด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งเริ่มได้ตั้งแต่ประมาณปลายเมษายนนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ด่านตงซิง ตั้งอยู่ที่เมืองตงซิง อำเภอฝังเฉิงกั่ง เขตกว่างซีจ้วงฯ อยู่ห่างจากด่านหม่งไก๋ จังหวัดกว๋างนิญ ของเวียดนามเพียง 100 เมตร ได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นแห่งที่ 2 ของเขตกว่างซีจ้วงฯ ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน สามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย ต่อไปไทยจะทยอยขนส่งสินค้าเกษตรผ่านด่านตงซิน แทนด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งเชื่อว่าช่วยลดปัญหาและอุปสรรคการขนส่งสินค้าผลไม้ไทยไปจีนได้มากทีเดียว
“ที่น่ายินดีกว่านั้น คือ การเปิดด่านรถไฟผิงเสียงที่จะเริ่มขนส่งตู้ผลไม้ตู้แรกจากไทยเข้าจีนในวันที่ 30เมษายน2563นี้ ซึ่งกระทรวงศุลกากรจีน(GACC)ได้ยืนยันการอนุญาตให้ไทยสามารถนำเข้าผลไม้ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงอย่างเป็นทางการแล้ว ในปัจจุบันสรุปได้ว่าประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทางขนส่งทางบก ทั้งหมด 4 ด่าน โดย 3 ด่านในเขตกว่างสีฯ ได้แก่ 1) ด่านโหยวอี้กวน 2) ด่านตงซิง 3) ด่านรถไฟผิงเสียง และ 1 ด่านในมณฑลยูนนาน คือ ด่านโม่ฮาน” นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นด่านสากลประเภทหนึ่งของจีน เป็นจุดปลายทางของรถไฟเขตกวางสีกับมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นด่านรถไฟชายแดนเพียงแห่งเดียวในเขตกวางสี และเป็นจุดสำคัญของเส้นทางการเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) เข้าออกทางรถไฟของภาคใต้ ที่สำคัญอีกประการ คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา GACC ได้อนุมัติให้ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานด้านการตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้าและรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ควบคุมความเย็นระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศจีน ขณะนี้มีรถไฟวันละ 6 ขบวน ขบวนละประมาณ 15 – 20 ตู้ (ตู้ละ 40 ฟุต) รับขนส่งต่อจากทางบกเป็นทางรถไฟ ออกจากสถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang ประเทศเวียดนาม) ถึงสถานีรถไฟผิงเสียง ประเทศจีน คาดว่า สามารถแบ่งรับตู้ผลไม้ไทย วันละ 60 – 90 ตู้จากด่านโหย่วอี้กวนได้ หรือประมาณ 2,400 – 3,600 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากมีผลไม้จำนวนมาก สามารถเพิ่มปริมาณรถไฟได้ถึงวันละ 8 ขบวน
สำหรับเส้นทางขนส่งเริ่มต้นจากจังหวัดมุกดาหาร (ไทย) ไปยังสะหวันนะเขตแดนสะหวัน (ลาว) – ลาวบาว - ห่าติ๋ญ - ทัญฮว้า - ฮานอย– หลั่งเซิน (ประเทศเวียดนาม) – สถานีรถไฟด่งดัง (ประเทศเวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (ประเทศจีน)
“การอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าว นับเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางรถยนต์ ทางเรือ และทางอากาศเท่านั้น จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ส่งออกไทย ซึ่งในเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) มีความพึ่งพอใจมากและได้กล่าวชื่นชมข้าราชการไทย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่เร่งเจรจา และช่วยประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีนจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม” นายอลงกรณ์ กล่าว
** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager