จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือการเผาพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมเพาะปลูกสำหรับฤดูกาลผลิตถัดไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาละอองฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ประกอบกับปัจจุบันเรากำลังประสบกับปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่สามารถเข้าทำลายปอด และส่งผลให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเช่นกัน
นอกจากนี้ การเผาในพื้นที่การเกษตรยังเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเกษตรกรยังต้องลงทุนในการปรับสภาพดินมากขึ้น
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลเสียของการเผาพื้นที่การเกษตรเท่ากับคุณกำลังเผาเงินในกระเป๋า ทำลายทั้งสุขภาพ ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มโครงการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2557 และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดแนวทางและกระบวนการสร้างการรับรู้ให้ถึงกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่ดำเนินการ 42 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 26 จังหวัดที่มีข้อมูลจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรสูง และ 6 จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑลในหลายช่องทาง
โดยผ่านการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัด/อำเภอ และเกษตรกรเครือข่าย ช่องทางแรก อบรมสร้างการรับรู้ ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรู้วิธีการจัดการ การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยมีการส่งเสริมหลากหลายช่องทาง เช่น ช่องทางที่ 1 อบรมสร้างการรับรู้ ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรู้วิธีการจัดการ การใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา ช่องทางที่ 2 สร้างเครือข่ายชุมชนปลอดการเผา เพื่อเป็นต้นแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การร่วมหาวิธีการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร การร่วมหาช่องทางเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุการเกษตร
และช่องทางที่ 3 จัดงานรณรงค์ขยายผลเกษตรกรปลอดการเผาในพื้นที่เกษตร พร้อมทั้งสาธิตเทคโนโลยีการเกษตรในการจัดการพื้นที่เกษตรทดแทนการเผา เช่น การไถกลบตอซังและฟางข้าว การผลิตปุ๋ยหมัก การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล การเพาะเห็ดจากฟางข้าวหรือทะลายปาล์ม เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรในชุมชนและตำบล อำเภอใกล้เคียง ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ และเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเกษตรปลอดการเผาของเกษตรกรต้นแบบอย่างแท้จริง ส่วนช่องทางที่ 4 การประชาสัมพันธ์สร้างการับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ เพื่อเป็นการสื่อสารสร้างการรับรู้สู่เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เราคาดหวังว่าวิธีการกระตุ้นสร้างการรับรู้ของเกษตรที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้เกษตรกรรู้ถึงพิษภัยที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร ทั้งต่อตนเอง ต่อคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และประชาชนทั่วไป
“สุดท้ายนี้ ผมฝากถึงพี่น้องเกษตรกรทุกท่าน กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินงานสำเร็จได้ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทุกอย่างอยู่ที่พี่น้องเกษตรกรเอง เนื่องจากหน่วยงานไม่สามารถดูท่านได้ตลอดเวลา ทุกท่านต้องคอยเตือนตัวเองและเตือนคนอื่นๆ ร่วมใจกันหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ตั้งแต่วันนี้ และตลอดไปเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน”