หลิง ไห่ ประธานร่วมแถบเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด ให้สัมภาษณ์ ถึงบทบาทสำคัญ SME ที่ช่วยสังคมพัฒนาไปพร้อมกัน
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งนักธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้มนุษยชาติสร้างความก้าวหน้าได้อย่างมหาศาล แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ยังมีคนอีกนับพันล้านที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือเปิดบัญชีธนาคารได้ และพนักงานอีกนับล้านคนที่ได้แต่มองดูหุ่นยนต์และการก้าวสู้โลกไร้พรมแดนเข้ามาแย่งงานของตนเอง และยังมีอีกหลายคนรู้สึกคับข้องใจกับความร่ำรวยและโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน
เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลยังต้องรับมือกับปัญหารุมเร้าจากทุกด้าน ภาคเอกชนไม่สามารถรอให้ผู้กำหนดนโยบายเป็นฝ่ายแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว บริษัทต่างๆ ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจของตนเพื่อให้สังคมพัฒนาไปพร้อมๆ กันและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมในวงกว้าง
สำหรับมาสเตอร์การ์ดเอง เราได้ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เรานำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างประสิทธิภาพและโอกาสใหม่ๆ ทำให้คนนับล้านพ้นจากความยากจนและมีอนาคตที่ดีขึ้น เราสนับสนุนการเติบโตไปพร้อมกันทางสังคมโดยมุ่งส่งเสริมกลุ่มคนสามกลุ่มคือ กลุ่มคนจำนวน 1.7 พันล้านคนซึ่งไม่มีโอกาสได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต กลุ่มคนจำนวน 1 ล้านคนที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบดิจิทัล และกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหนึ่งซึ่งยังขาดความชำนาญที่พวกเขาควรมี
การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ โดยเฉพาะในแถบเอเชียซึ่งมี SME เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเป็นสัดส่วนใหญ่ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาค SME จำเป็นต้องนำคนทั้งสามกลุ่มกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของพวกเขาประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ SME ยังมีความรู้เกี่ยวกับท้องที่นั้นๆ และสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การปลดล็อคศักยภาพของ SME เพื่อให้มีการเติบโตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น นวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงการพัฒนาไปพร้อมๆ กันแล้ว อาจจะง่ายถ้าเราลองนึกถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ และใช้เงินสดในการใช้ชีวิต พวกเขาต้องจ่าย 10 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 330 บาท) เพื่อให้สามารถส่งเงิน 100 เหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 3,300 บาท) กลับไปให้ครอบครัว การพัฒนาไปพร้อมๆ กันจึงเป็นมากกว่าการมีบัญชีธนาคารที่ต้องรวมถึงการใช้ระบบการเงินเพื่อช่วยเก็บออมเพื่อลงทุน ซื้อประกัน และเพื่อจ่ายบิลได้อย่างง่ายดาย
หากธุรกิจขนาดเล็กสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารได้แต่ไม่สามารถทำการกู้ด้วยต้นทุนต่ำเพื่อนำมาใช้เป็นทุนทำธุรกิจ หรือลงทุนในเทคโนโลยีและอบรมพนักงาน แบบนี้ก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างเต็มปาก
วิธีหนึ่ง ที่สามารถทำให้มีการเติบโตไปด้วยกันได้คือ สนับสนุนให้เทคโนโลยีการชำระเงินแบบใหม่ๆ เติบโตขึ้น ทำให้คนสามารถเข้าถึงระบบการเงินและระบบดิจิทัลได้ เทคโนโลยีดังกล่าวรวมถึงการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่ช่วยให้ทำธุรกรรมได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงแพลทฟอร์มดิจิทัลแบงกิ้งใหม่ที่ช่วยให้คนที่ไม่เคยใช้เทคโนโลยีนี้ได้มีโอกาสใช้
การก้าวสู่ระบบให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลไม่เพียงช่วยส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน แต่ยังช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินลงทุนได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งการจ่ายเงินเดือนและการทำธุรกรรมเป็นไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนที่จะเป็นการใช้เงินสด ดังนั้นข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ในระบบดิจิทัล
SME จะได้รับโอกาสต่างๆ มากขึ้นในการใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อยืนยันเครดิตของตน ซึ่งท้ายสุดจะช่วยให้ SME มีเงินลงทุนและพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น พร้อมกับทำให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กันที่กว้างขวางขึ้น
ผู้คิดค้นนวัตกรรมกำลังสร้างแพลทฟอร์มทางการเงินที่เป็นทางเลือกใหม่เพื่อให้ SME ไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับระบบการตรวจสอบเครดิตแบบเดิมๆ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือที่ประเทศเคนยา มาสเตอร์การ์ดร่วมมือกับยูนิลีเวอร์เพื่อรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อสินค้าคงคลังและตัวเลขการขายเพื่อใช้ในการอนุมัติเครดิตขนาดย่อมแก่ธนาคารเพื่อการพาณิชย์แห่งเคนยา แพลทฟอร์มที่ชื่อ คิโอเน็ค (Kionect) นี้ช่วยให้เจ้าของร้านค้าได้รับเงินทุนในการขยายธุรกิจ
นวัตกรรมในรูปแบบนี้จะเข้ามาช่วยปิดช่องว่างด้านเงินสนับสนุน SME ที่มีอยู่มากมายประมาณถึง 520,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก โดยกว่าครึ่งอยู่ในแถบตะวันออกของเอเชียแปซิฟิก
ในปี 2017 กว่าร้อยละ 90 ของประชากรในอินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา กัมพูชาและลาวไม่มีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อจ่ายบิลหรือซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องขอบคุณโทรศัพท์มือถือที่ช่วยให้จำนวนผู้ที่ไม่สามารถใช้บริการเหล่านี้ลดน้อยลง แต่ก็ลดลงอย่างช้าๆ
กลุ่มที่ 2 การพัฒนาด้วยเทคโนโลยี
SME หลายรายยังคงจดบันทึกและบริหารตัวเลขต่างๆ ลงบนกระดาษ ทำให้เสียเวลากับขั้นตอนที่ต้องลงมือเขียน ทั้งๆ ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้ จุดนี้จะเป็นเรื่องท้าทายเมื่อต้องทำธุรกิจข้ามพรมแดน
การทำให้ทุกคนและทุกธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีได้เป็นเรื่องสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะพร้อมๆ กับการขยายตัวของระบบดิจิทัล ทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์ เมื่อธุรกิจ SME เป็นระบบดิจิทัล มีการนำโซเชี่ยลมีเดียมาใช้และใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มโอกาสการทำอีคอมเมิร์ซทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งพนักงาน ลูกค้าและชุมชนก็จะถูกรวมเข้าสู่ระบบดิจิทัล
ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมลงทุนให้เกิดเครื่องมือที่ช่วยผลักดันการเข้ามีส่วนร่วมในระบบดิจิทัล ตัวอย่างเช่น หน่วยงานด้านการเงินของสิงคโปร์และ Infocomm Media Development Authority ร่วมมือกับบริษัทเอกชนหลายราย รวมทั้งมาสเตอร์การ์ดเพื่อพัฒนาแนวคิด “ธุรกิจไร้พรมแดน” เพื่อช่วยเปลี่ยนซัพพลายเชนของ SME ให้เป็นระบบดิจิทัลเพื่อทำการค้าข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มใหม่ที่เป็นที่ต้องการทั่วภูมิภาค
คนส่วนมากมีชีวิตอยู่ด้วยเงินเดือน แต่เมื่อเทียบเงินเดือนกับเงินลงทุนแล้ว เราจะถูกเก็บภาษีเงินได้สูงกว่าและยังปรับเปลี่ยนไม่ได้ถึงแม้จะมองเห็นโอกาสใหม่ๆ รวมทั้งยังอ่อนไหวกับการถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์
กลุ่มที่สาม – แรงงานที่ต้องพึ่งงานและความชำนาญที่เริ่มตกยุค เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่าภายในปี 2030 งาน 800 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ รวมถึงงานในสำนักงานและในตลาดที่กำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น ธุรกิจในเมืองดงกวน ประเทศจีน ติดตั้งหุ่นยนต์ 91,000 ตัวภายใน 5 ปี ทำให้มีคนตกงานถึง 280,000 ราย
SME จะเป็นพลังสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทเข้ามาช่วยได้เนื่องจากมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนและสามารถรองรับคนงานที่ตกงานได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดดือ รัฐเคนตักกี้ สหรัฐอเมริกา ธุรกิจสตาร์ทอัพชื่อ Bit Source ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งที่เติบโตมาในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินรับคนงานเหมืองมาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์
ในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ แก่คนงานเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด แต่เพื่อให้เกิดขึ้นจริง เราต้องเปลี่ยน SME ให้ทำงานบนระบบดิจิทัลและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสแก่ตัวเองและท้องถิ่น เราต้องใช้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นแกนนำเพื่อให้เกิดความร่วมมือ การค้นคว้าและคิดค้นเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงโลก
เรายังต้องการให้ผู้นำทั่วโลกทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการเติบโตไปพร้อมๆ กันเพราะเวลานี้คือเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager