รมช.พณ. สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำแผนพัฒนาธุรกิจบริการปี 63 เจาะตลาดดันกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุเป็นพระเอก รองรับสังคมผู้สูงอายุโต มั่นใจยังมีโอกาสในผู้บริโภคกลุ่มนี้อีกมาก เร่งชี้ช่องผลักดันให้ ธุรกิจร้านอาหาร ดูแลผู้สูงอายุ บริหารทรัพย์สิน และเสริมสวย ออกผลิตภัณฑ์เฉพาะเพื่อบริการแก่กลุ่มสูงวัย รวมถึงเตรียมหลักสูตรพิเศษ เรียนจบแล้วมีผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ตลาดพร้อมออกขายทันที
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุให้ดำเนินธุรกิจบนมาตรฐานสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในธุรกิจทั้งในประเทศและสากล อีกทั้งรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 12.6 ล้านคน หรือ 19.22% ของประชากรในประเทศ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาการพัฒนาธุรกิจดูแลผู้สูงอายุด้านต่างๆ มีความคืบหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ให้แก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องจำนวน 400 ราย ให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างมืออาชีพ, การส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการ, การพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัยสู่การเป็น Barista มืออาชีพ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพแบบไม่ประจำ (Freelance) ให้แก่ผู้สูงอายุ และการนำเสนอธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในงานแสดงธุรกิจ STYLE ปี 2017-2018 เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด
“แนวทางการดำเนินงานในปี 2563 ตนได้มอบนโยบายในการขยายตลาดของธุรกิจบริการภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ ที่ยังคงได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยุคนี้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์การสื่อสารได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งโอกาสสำหรับธุรกิจร้านอาหารในตลาดผู้สูงอายุคือ การสร้างสรรค์เมนูเฉพาะผู้สูงอายุ หรืออาหารที่สามารถรับประทานเพื่อควบคุมโรคในวัยของผู้สูงอายุ เช่น ความดันสูง เบาหวาน และหัวใจ เป็นต้น โดยมีโภชนาการของอาหาร การใช้วัตถุดิบ ปริมาณอาหาร และสารอาหาร ที่ให้เหมาะสม ซึ่งจะผลักดันให้ร้านอาหารภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ สามารถเจาะตลาดดังกล่าวได้ต่อไป”
นอกจากนี้ได้กำชับให้กรมฯ เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนา ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ’ ให้มีมาตรฐานสากล (ในปี 2561 มีธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนนิติบุคคล จำนวน 273 ราย มีรายได้จำนวน 175.24 ล้านบาท) โดยธุรกิจบริการสาขานี้เป็นเพียงด้านหนึ่งจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุในภาพรวม แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอีกมากมายที่จะกระโดดเข้ามาสู่ตลาดผู้สูงอายุ ประกอบกับปัจจุบันธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีอัตราการเติบโตมากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบที่พักระยะสั้นหรือระยะยาว สถานพักฟื้น และอาคารชุดสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นการบริหารจัดการนิติบุคคลส่วนกลางจำเป็นจะต้องมีระบบระเบียบและมีมาตรฐาน ซึ่ง ‘ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน’ สามารถเข้ามามีส่วนสำคัญในการบริหารเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมผู้สูงอายุ
“และ ‘ธุรกิจเสริมสวย’ เป็นธุรกิจที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ใกล้ชิดกับชุมชน รวมถึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้ร้านเสริมสวยสามารถพัฒนามาตรฐานการให้บริการได้แบบมืออาชีพ ทั้งนี้ จากพฤติกรรมของผู้สูงอายุที่มีเวลาส่วนตัวมากกว่ากลุ่มคนวัยทำงาน และจะใช้เวลาว่างนี้ไปร้านเสริมสวยเพื่อดูแลความสวยงามของตนเองและสร้างความผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจที่จะสร้างบริการเฉพาะผู้สูงอายุขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายพร้อมดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เข้าร้านได้มากขึ้น”
“สำหรับรูปแบบการพัฒนาธุรกิจบริการข้างต้นให้สามารถเจาะตลาดผู้สูงอายุได้นั้น จะใช้การจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ ‘การพัฒนาศักยภาพการตลาดธุรกิจสู่สังคมผู้สูงอายุ’ หรือ DNA Business Camp ซึ่งจะเน้นผลลัพธ์จากการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจให้ได้ผลผลิตออกมาเป็นรูปธรรม โดยก่อนจบหลักสูตรจะมีการสร้างสินค้าหรือบริการต้นแบบเพื่อผู้สูงอายุ และ Business Matching เชื่อมโยงธุรกิจเข้าหากัน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถ นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดก่อนสร้างรายได้ให้เข้าสู่ตลาดผู้สูงอายุได้จริง” รมช.พณ. กล่าวในท้ายที่สุด