โฆษกรบ. เผยแผนงานรัฐบาล 2563 เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ออกแบบมาตรการสอดรับกับรายกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ลูกจ้าง และผู้ประกอบการ SMEs และ startups
วันนี้ (31ธ.ค.) ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2563 ที่กำลังจะมาถึงนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้าดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเน้นมาตรการแก้ปัญหาปากท้องที่จะออกแบบให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มเกษตรกร มุ่งสร้างเกษตรครบวงจร และเกษตร BCG
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทำการประเมินผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำมาในปี 2562 เพื่อพิจารณาทบทวนออกมาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างเกษตรครบวงจรและเกษตร BCG โดยจะต้องใช้ตลาดนำการผลิต กล่าวคือ การใช้ข้อมูลความต้องการของตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก และตลาดสินค้าเกษตร BCG และเกษตรแปรรูป ที่ชัดเจนมาช่วยกำหนดแผนการผลิตพืชแต่ละชนิดให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตามบริบทของพื้นที่ แผนการทำเกษตรแปลงใหญ่และการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจจะยังต้องมีการสนับสนุนต้นทุนการผลิตสำหรับพืชบางชนิด ทั้งนี้ การทำประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สุดท้าย นโยบายที่รัฐบาลจะมุ่งไปสู่ คือ นโยบายรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรผ่านมาตรการที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด เช่น มาตรการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อรวบรวมข้าวเพือดูดซับปริมาณผลผลิตจากท้องตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมกัน หรือมาตรการส่งเสริมให้นำพืชผลทางการเกษตรไปใช้มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงกลไกราคาตลาด อย่างเช่น นโยบายส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นต้น
2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ปรับและกำหนดเกณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างครอบคลุม
นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทำการศึกษาทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้นำเอาข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน มาวิเคราะห์และพิจารณาทบทวนการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยประจำปี 2563 เพื่อคัดกรองให้ได้ผู้มีรายได้น้อยจริงมาเข้าสู่มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ด้านหลัก คือ 1) สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่ควรจะจัดสรรตามความจำเป็นที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกษตรกร 2) การพัฒนาทักษะทางอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบทของการทำงานและการจ้างงานในพื้นที่ 3) การหางานให้ทำ ทั้งงานที่มีนายจ้าง การรับงานไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระ 4) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งหมดนี้ เพื่อนำไปสู่การให้โอกาสกับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
3. กลุ่มผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการที่เหมาะสมและส่งต่อการจ้างงาน
ประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวนประมาณ 11.35 ล้านคน ในจำนวนนี้ 8.4 ล้านคนได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เหลือได้รับบำนาญของหน่วยงานที่เคยสังกัด มีผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 5 ล้านคน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ 4.06 ล้านคน ยังคงทำงานอยู่ โดยเป็นแรงงานนอกระบบรวม 3.59 ล้านคน ซึ่งส่วนมากคืออาชีพเกษตรกร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ โดยได้มอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน ติดสังคม รวมตลอดถึงมาตรการส่งเสริมให้บุตรหลานดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อสร้างสังคมกตัญญู
4. กลุ่มลูกจ้าง ยกระดับคุณภาพชีวิต
นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องที่เป็นลูกจ้าง 14.6 ล้านคน ที่ถึงแม้จะมีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จึงไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อาจมีค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานในเมือง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคเอกชน ในการกำหนดมาตรการดูแลลดภาระค่าครองชีพให้กับลูกจ้าง นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้นอกระบบให้กับกลุ่มลูกจ้างต่อไปด้วย นอกจากนี้ ในรายที่ถูกเลิกจ้างงาน รัฐบาลจะได้เข้าช่วยพัฒนาทักษะและหางานให้ทำต่อไป
5. กลุ่ม ผู้ประกอบการ SMEs และ startups
กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก ถึงกลาง รวมถึงสตาร์ทอัพ นับเป็นฟันเฟืองหลักในระบบเศรษฐกิจของไทยที่รัฐบาลไม่เคยละเลยมาโดยตลอด และจะยกระดับการดูแลพัฒนาผู้ประกอบการในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม ความรู้ แหล่งเงินทุน และการปลดล็อคเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ