โฆษกรัฐบาล เผย ผลงานเด่นรบ. 5 เดือนแรกเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นปชช. ทั้งเรื่องคมนาคม รายได้เกษตรกร มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย ย้ำยึดปชช.เป็นศูนย์กลาง ยกระดับมาตราฐานชีวิต
วันนี้ (30ธ.ค.) ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลงานเด่นของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุม 3 ด้านสำคัญ คือ คมนาคม รายได้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ดังนี้
1. การขยายโครงสร้างคมนาคม
ดูแลประชาชนในการเดินทางและลดมลพิษ ด้วยการขยายโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ซึ่งนับเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ได้มีการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุมทั่ว กทม อาทิเช่น สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ) 14 กม สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 19 กม สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 22 กม สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 15 กม สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) 26.3 กม สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.5 กม และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30 กม เมื่อรถไฟฟ้าเปิดใช้บริการครบทั้งหมด จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางของคนกรุง ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศในที่สุด นอกจากนี้ รัฐบาลได้เปิดทำการอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง พัทยา ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั้งในและต่างประเทศได้ 3 -5 ล้านคนต่อปี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะยกระดับส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางสู่พื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้เกิดการจ้างงานและการกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่โดยรอบ EEC
2. รายได้เกษตรกร
ดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้งโครงการรปะกันรายได้สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิด ซึ่งได้เริ่มจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตรงเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้ว และยังมีมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตร เช่น การอุดหนุนปัจจัยการผลิตสำหรับชาวนาผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือค่าปลูก 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน รวมตลอดถึงมาตรการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อรวบรวมผลผลิต นอกจากนี้ นโยบายรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ด้วยการกำหนดให้น้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วพื้นฐาน ได้ส่งผลให้ราคาปาล์มสูงขึ้น เกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกร โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลเข้าไปพยุงราคา
3. มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย
ดูแลผู้มีรายได้น้อย ด้วยมาตรการลดค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกินครัวเรือนละ 50 หน่วย และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำไม่เกินครัวเรือนละ 100 บาท ไปจนถึง ก.ย. 63 และยังคงมาตรช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ค่าเดินทางเดือนละไม่เกิน 500 บาท ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนละ 200/300 บาท คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ อีก 1% โอนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติในนามเจ้าของบัตรสวัสดิการ เป็นต้น รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ การหางานให้ทำ และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย กำลังอยู่ในขั้นตอนการทบทวนปรับปรุงตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้สามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมกับพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ซึ่งยังมีผลงานที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรม และที่กำลังดำเนินงานอีกมาก ซึ่งรัฐบาลจะได้บอกเล่าสู่ประชาชนให้ได้รับรู้และติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย