xs
xsm
sm
md
lg

Smart Contract Blockchain กูรูบล็อกเชนชี้ บล็อกเชนเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสถาพน พัฒนะคูหา CEO และผู้ก่อตั้ง Smart Contract Blockchain Studio ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชนระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก ซึ่งหากมีการดีไซน์อย่างถูกต้องแล้วบล็อกเชนจะเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง มีความน่าเชื่อถือ สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ประเทศได้ ปัจจุบันบล็อกเชนถูกนำไปใช้หลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน สุขภาพ โลจิสติกส์

แม้แต่วงการเกษตรกรรมยังสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วยปรับโฉมธุรกิจ เพราะคนเริ่มกลัวสารเคมีจึงให้มูลค่าเพิ่มแก่ผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรู้ถึงแหล่งที่มาของการผลิตที่ชัดเจนทำให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เหตุนี้ เจ้าของธุรกิจด้านการเกษตรจึงนำบล็อกเชนมาใช้กับระบบซัปพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ลูกค้าเห็นแหล่งที่มาของสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านเทคโนโลยี หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐก็สามารถนำบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดขั้นตอนการยื่นเอกสาร หรือใช้เป็นตัวเชื่อมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของข้อมูลกับผู้ขอใช้ข้อมูล โดยเจ้าของข้อมูลสามารถอนุญาตหรือปฏิเสธการให้ข้อมูลได้ และยังทราบด้วยว่าผู้ขอใช้ข้อมูลเป็นใคร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง




อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนกำลังมาเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจต่างๆ กล่าวได้ว่าตอนนี้บล็อกเชนได้รับการยอมรับ และมีการนำไปใช้จริงในวงกว้างมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานหรือเจ้าของธุรกิจควรจะมีความเข้าใจถึงปัญหาที่ต้องการจะแก้และเข้าใจเทคโนโลยีนี้ก่อนนำไปใช้ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร

“การจัดอบรมหลักสูตรบล็อกเชนในครั้งนี้เป็นความพยายามที่ SmartContract Blockchain Studio ได้ร่วมกับ DPU X เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการและปรัชญาพื้นฐานของบล็อกเชน และเฟรมเวิร์กในการนำบล็อกเชนไปใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท ในบางกรณีการนำบล็อกเชนมาใช้แบบทื่อๆ อาจไม่เหมาะกับการใช้งาน เราถึงต้องมีการดีไซน์ และศึกษาให้เข้าใจพื้นฐานเพื่อให้รู้ว่าจะหยิบข้อดีมาใช้อย่างไร หรือหลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเราและองค์กร” นายสถาพน กล่าว


ด้าน ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธบ.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ DPU X ได้เปิดอบรมหลักสูตรบล็อกเชนภายใต้ชื่อ Geeks on the Block (Chain) Batch#1 ให้กับ Technical เพื่อสร้างความเข้าใจในพื้นฐานและแนวคิดของระบบบล็อกเชน โดยภายหลังการอบรมผู้เข้าอบรมสามารถเขียนโค้ดและนำไปปรับใช้ในองค์กรได้ นอกจากนี้ ในหลักสูตรผู้เข้าอบรมยังได้ทำเวิร์กชอปร่วมกันเพื่อค้นหาไอเดียธุรกิจที่ใช้บล็อกเชนเป็นองค์ประกอบ โดยมีหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจ เช่น TRAFFIX การจัดการปัญหาจราจรโดยดึงการใช้รถจากถนนเส้นหลักที่หนาแน่นไปสู่ถนนสายรองที่คล่องตัวมากกว่า หรือ Gross Domestic Happiness แนวคิดของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ให้คะแนนความสุขของคนในประเทศ เป็นต้น ทุกคนมีไอเดียแต่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการบริหารธุรกิจ DPU X จึงเกิดแนวคิดในการจัดหลักสูตรอบรมบล็อกเชนขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Blockchain Appreciation for NON-Technical” เพื่อให้ตัวแทนองค์กร หรือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเขียนโค้ดไม่เป็น ได้เข้าใจวิธีการทำงานของบล็อกเชน รวมถึงกลยุทธ์และเทคนิคในการเลือกใช้บล็อกเชนให้เหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงนำไปปรับใช้และต่อยอดธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากเปิดคอร์สอบรมบล็อกเชนให้กับ Technical และ Non-Technical ไปแล้วจะเกิดการสร้างและขยายคอมมูนิตีทางด้านบล็อกเชน เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียนำบล็อกเชนขยายต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมในด้านอื่นๆ และยังเป็นการส่งเสริมการเกิดธุรกิจแนวใหม่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีมานาน ปัจจุบันทุกภาคส่วนเริ่มนำไปปรับใช้ในธุรกิจหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมทางด้านการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวจะโดดเด่นในเรื่องข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถบอกแหล่งที่มาของข้อมูลได้ แม้แต่หน่วยงานรัฐบาลยังนำบล็อกเชนมาบริหารการจัดส่งสินค้าทางการเกษตรเพื่อคำนวณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น