สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภาฯ เสด็จทรงเปิด“อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” ผลงานสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น สร้างขึ้นเพื่อบริการประชาชนและเรียนรู้การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในการจัดทำผังแม่บทครั้งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในปี 2557 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กำหนดให้พื้นที่ที่เคยเป็นเอเชี่ยนเกมส์ปาร์ค ซึ่งมีพื้นที่ 80 ไร่ด้านถนนพหลโยธิน ที่อยู่ตรงกลางระหว่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนและโดยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กำหนดให้ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ”(Sustainable Development Goals-SDGs) เป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2559
ดังนั้น ในวาระที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มีชาตะกาลครบ 100 ปี และรับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปีพ. ศ. 2558 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้วางแผนที่จะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็น “สวนป๋วย” สวนสาธารณะเพื่อประชาชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ให้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน ซึ่งจะเป็นการลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 13 (SDG 13: Climate Action)
โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่จะเป็นอาคารเพื่อการบริการประชาชนและเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีชื่อว่า “อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภานเรนทราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร และจากนั้นจะเริ่มดำเนินการสร้างพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะในปี 2563 ต่อไป
อาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือรูปทรงที่มีลักษณะเป็นเนินเขาตามความหมายของ “ป๋วย” ที่แปลว่า“ พูนดิน” โดยมีหลังคาเป็นพื้นที่สีเขียว ที่จะใช้เป็นสวนสาธารณะและสวนผักออร์แกนิคลอยฟ้าเพื่อส่งให้กับโรงอาหารของอาคารนี้ และจะทำให้สวนผักออร์แกนนิกที่หลังคาอาคารนี้เป็นสวนผักออร์แกนนิกบนหลังคาอาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และโรงอาหารของอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปีจะเป็นโรงอาหารแห่งแรกในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่เป็นโรงอาหารสุขภาพและปลอดสารพิษ
ทั้งนี้ มิใช่เพื่อสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรของประชาคมธรรมศาสตร์ แต่เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมอินทรีย์ของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเปิดให้บุคลากรและนักศึกษาเป็นผู้ปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่มีรายได้น้อย ได้แก่ แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนสวน หรือบุคลากรที่อยากเป็นเกษตรกรสมัครเล่น หรือนักศึกษาที่ต้องหารายได้เพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายข้อที่ 10 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย (SDG 10: Reduced Inequalities)
อาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มีพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตร มีความสูงเท่ากับตึก 4ชั้น จะประกอบด้วย ห้องสมุดประชาชน ห้องสำหรับจัดประชุมและสัมมนา พื้นที่ Co-Working Space ห้องจัดนิทรรศการและจัดแสดงงานคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาด 630 ที่นั่ง โรงอาหารออร์แกนิก ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีขยะ และพื้นที่ให้บริการประชาชนในเรื่องการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563
อาคารอุทยานเรียนรู้ 100 ปี ออกแบบโดย ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลังคาอาคารที่เป็นสวนสาธารณะและสวนผักออร์แกนิกลอยฟ้าออกแบบโดย กชกร วรอาคม หนึ่งในสามคนไทยที่ได้รับเลือกจากนิตยสาร Time ให้เป็น Time 100 Next หรือผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต จำนวน 100 คน และได้รับเลือกให้ออกแบบ “สวนป๋วย” อีกด้วย