อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ที่ทำพิธีเปิดอาคารแล้วเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อบริการประชาชน โดยเฉพาะการให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ภายในอาคารสูง 3 ชั้น 1 หลัง รวมพื้นที่ใช้สอย 39,786 ตารางเมตร ประกอบด้วย คอนเสิร์ตฮอลล์ ห้องเธียร์เตอร์ ห้องสมุดประชาชน หอจดหมายเหตุ ศูนย์ประชุมและสนทนา พื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปซ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน เป็นต้น
ส่วนสำคัญที่นำไปใช้สอยให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ภายในตัวอาคารเท่านั้น แม้กระทั่ง “หลังคา” ด้วยพื้นที่เกือบ 20,000 ตารางเมตร ยังออกแบบเป็นพื้นที่สวนลอยฟ้าซึ่งเป็นสวนสาธารณะและสวนผักปลอดสารเคมี โดยผลผลิตผักและข้าวที่ปลูกได้ก็จะนำมาใช้บริโภคในโรงอาหารของอาคารแห่งนี้
ซึ่งจะทำให้สวนผักบนหลังคา อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี เป็นสวนผักออร์แกนิกและสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (รองจากที่สหรัฐอเมริกา ดู https://www.sciencealert.com/the-world-s-largest-green-roof-is-being-built-on-top-of-an-abandoned-californian-mall)
นอกจากนี้ โครงการอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ยังประกอบด้วย “สวนป๋วย” หรือ Puey Park for the People ในพื้นที่ 80 ไร่ติดกับอาคารนี้ ซึ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้างในปี 2563 เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะต่อเนื่อง เมื่อรวมกับพื้นที่หลังคา 20 ไร่ ก็จะกลายเป็นสวนสาธารณะขนาด 100 ไร่ สำหรับการให้บริการประชาชนในเรื่องสุขภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
อย่างไรก็ดี การจัดสร้าง “สวนป๋วย” ยังขาดงบประมาณอยู่พอสมควร จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสมทบทุนสร้าง “สวนป๋วย” [ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า] โดยโอนเข้าบัญชี “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (100 ปีอาจารย์ป๋วย)” ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 091-0-16888-9 แล้วแจ้งรายละเอียดการบริจาคทาง LINE: pueypark หรือทาง puey100.tu@gmail.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการระดมทุนจัดสร้าง “สวนป๋วย” (PUEY PARK for the PEOPLE) สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ โทร 0-2613-2045,08-3331-6000 หรือกรอกรายละเอียดได้ทาง https://goo.gl/forms/E5RURnPUaA8wUJSU2
หมายเหตุ : อาคารอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี สร้างขึ้นในวาระที่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชาตกาลครบ 100 ปีในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก