เสวนา ม.ธรรมศาสตร์ "ชาญวิทย์-อนุสรณ์" หนุนแนวคิด "สันติประชาธรรม" ฝันไทยเปลี่ยบแบบมาเลย์ คาดเศรษฐกิจปี 63 ฟองสบู่ไม่แตก แต่ฐานรากลำบาก "บรรจง" ยก 4 วิกฤตโลก เผยข้อมูลข่าวสารทำให้ชาวบ้านตื่นตัว อำนาจรัฐถอย "โอม ค็อกเทล" ห่วงคนไม่ตระหนักพลังโซเชียล ข่าวปลอมเพียบ ความจริงเปลี่ยน ไอโอเกิด แถมคนไม่เชื่อสัจธรรม แนะปลูกฝังระบบการศึกษาที่ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเสวนาเรื่อง "ประเทศไทย: วิกฤต ความหวัง อนาคต?" ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทางออกของสังคมไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ถึงรัฐประหารปี 2557 ทางออกน่าจะยังมีอยู่ คือต้องใช้สันติประชาธรรม ใช้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แต่ห่วงว่าจะมีกลียุค ตามเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ถ้าไม่เลือกทางออกแรกก็คือความรุนแรง
ทั้งนี้ นับตั้งแต่หมอบรัดเลย์แปลรัฐธรรมนูญอเมริกันสมัยรัชกาลที่ 4 สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง และผู้แทนราษฎรไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาร้อยกว่าปีแล้ว คนไทยรู้จักดีมาเป็นเวลานาน ทำไมต้องปฏิรูปบ่อยครั้ง ถ้าจะเข้าใจต้องเข้าใจคนที่เข้ามาที่บทบาทในการเมืองในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การต่อสู้ลงมาในระดับที่แบ่งเป็นสองขั้ว ไม่ใช่ขั้วเหลืองหรือแดง หรือฝ่ายรัฐประหารกับไม่เอารัฐประหาร เมื่อสู้กันมายาวนานแล้ว มีวี่แววว่าคนจำนวนหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้มาถึงจุดที่ออกด้วยสันติประชาธรรมหรือความรุนแรง
"สุดท้ายจะจบลงคือ ไม่มีใครชนะและหมดแรง ถ้าไม่รอมชอมเกี๊ยะเซี้ยะกัน ยอมแล้ววินๆ ทั้งคู่ หรือว่าฝ่ายอำนาจเดิมชนะ หรือฝ่ายประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้กับอำนาจนิยม เราจะมีทางออกว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะไหม ก็มีหนทาง ถ้าเผื่อจะแก้รัฐธรรมนูญได้ มีการเลือกตั้งซ้ำๆ กระทั่งออกมาในโมเดลมาเลเซียได้ แต่ก็หวั่นวิตกว่าจะออกมาโมเดลเมียนมาหรือกัมพูชา ซึ่งน่ากลัว แต่ก็มีความหวังอยู่ ไปพิจารณาดูว่าจะออกมาอย่างไร" นายชาญวิทย์ กล่าว
• "อนุสรณ์" แนะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เกิดวิกฤตหนักหนาสาหัสเหมือนปี 2540 แต่จะกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีตัวสอดแทรกคือปัญหาในฮ่องกง เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยชนะจะทำให้ความรุนแรงเบาลง เพราะการแก้ปัญหาจะไปอยู่ในสภามากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดสันติประชาธรรม สงครามการค้าถูกเอื้อด้วยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกาภิวัฒน์ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาก็ปรับตัวไม่ได้ ไม่ได้รับการดูแลและเดือดร้อน
ในที่สุดเกิดกระแสการเมืองแบบขวาจัด ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ได้ เกิดกระแสขวาจัดในยุโรป แต่ส่วนมากการเมือขวาจัดมักจะไม่ชนะการเลือกตั้ง เพราะคนส่วนใหญ่เป็นเสรีนิยมและพวกก้าวหน้ามากกว่า ในประเทศมีปัญหาการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นกติกาสูงสุดที่ออกแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาอย่างอื่นไม่ได้อย่างแท้จริง
ในตอนหนึ่ง นายอนุสรณ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญสภาวะเผาจริงปีหน้าหรือไม่ ความขัดแย้งในสังคมไทยไม่ได้ต่างจากสังคมอื่น ต้องทำให้กระแสความคิดที่ยึดถือแนวทางสันติวิธี หรือสันติประชาธรรม และแนวคิดภราดรภาพนิยม ของนายปรีดี พนมยงค์เป็นกระแสหลักให้ได้ ก็จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ ถ้าทำไม่ได้แล้วประเทศพัฒนาสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ จะอันตรายมากสำหรับสังคมโดยรวมและประชาชน ซึ่งมีคนที่ไม่ยอมและต่อสู้กัน อนาคตที่สดใสที่สุดของประเทศไทย คือการเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คือแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี
• ชี้ปี 63 เศรษฐกิจไทยฟองสบู่ไม่แตก แต่อยู่ในภาวะ "กบต้ม" ระดับฐานรากลำบาก
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ปีหน้าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่าการที่เราต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้ได้ เพราะเป็นทางออกของประเทศ แม้จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ เราก็จะรับมือได้ แต่เราอยู่ในจุดที่จะเกิดวิกฤตหรือไม่ คิดว่ายังไม่เกิด และเมื่อนำตัวแปรทางเศรษฐกิจมาเทียบเคียงกัน พบว่าก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก มีการลงทุนเกินตัว หนี้สินต่างประเทศมาก ทุนสำรองต่างประเทศไม่เยอะ ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด บัญชีการค้า และดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาดหลายเรื่อง ทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอีกหลายนโยบายการเงินและการคลังที่ผิดพลาด
อีกทั้งหลังรัฐประหารปี 2534 การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ประกอบกับปัญหาต่างๆ สั่งสมถึงจุดฟองสบู่แตก เศรษฐกิจทรุดอย่างรุนแรง แต่เศรษฐกิจฟื้นในปี 2543-2544 เพราะประเทศกลับมามีประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วย จึงมีเสถียรภาพทางการเมือง แต่กลับมีปัญหาอีกจากการลุแก่อำนาจ พอได้เสียงข้างมากก็ใช้อำนาจหลายอย่างทำให้เกิดปัญหา และถูกขยายแผลทำให้น่ากลัว น่าตกใจ ถ้าประเทศไม่เลือกใช้รัฐประหาร แต่ใช้แบบเกาหลีใต้หรือมาเลเซีย ประเทศไทยจะพัฒนาและมีรัฐบาลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต วันนี้ประเทศไทยไม่ถึงกับแย่มาก เราเป็นสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง แต่ต้องไปได้เร็วและก้าวหน้ากว่านี้
"ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผาจริงหรือไม่ ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่คนส่วนใหญ่ลำบากแน่นอน เพราะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก ไม่เกิดวิกฤตแบบปี 2540 เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศเราสูง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่ำ ยังไม่มีการลงทุนเกินตัว บางภาคธุรกิจยังมีการเกินตัวอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ใหญ่ๆ ที่จะเกิดฟองสบู่แตก แต่ตรงข้ามคือลงทุนน้อยเกินไป คนตกงานว่างงาน คนที่มีรายได้น้อย คนระดับฐานรากลำบากมาก เศรษฐกิจจะเป็นแบบกบต้ม คือผ่านความร้อนแล้วค่อยๆ ทรุดต่ำลง" นายอนุสรณ์ กล่าว
• "บรรจง" เผย 4 วิกฤตโลก ชี้ "ข้อมูลข่าวสาร" ทำให้ชาวบ้านโตขึ้น-อำนาจรัฐถอย
นายบรรจง นะแส อดีตนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และที่ปรึกษากรมประมง กล่าวว่า วันนี้โลกกำลังพบกับวิกฤตอยู่ 4 ประการ ได้แก่ วิกฤตความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับรัสเซียและอินเดีย ทั้งปัจจัยการผลิต การเข้าถึงสวัสดิการ, วิกฤตโลกร้อน ไม่ว่ารวยหรือจนก็ไม่มีใครรอด ไม่สามารถแก้ได้ในระดับรัฐบาล, วิกฤตสงครามนิวเคลียร์ ถือว่ามีความเป็นไปได้ และวิกฤตก้ำกึ่ง คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ วันหนึ่งหุ่นยนต์จะสั่งมนุษย์ได้ มองในแง่ดีมนุษย์ทำงานน้อยลง มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตได้มากขึ้น แต่คนตกงานจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ ปัจจุบันไทยพบกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และวิกฤตปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งกลุ่มทุนใหญ่นำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่ลูกหลานจะตกงาน
เราเห็นมิติบางเรื่องที่พัฒนาเปลี่ยนระดับหนึ่งของสังคมไทย แต่ก็เห็นพัฒนาการของประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ เห็นการเติบโตและปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้าง โครงการขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าเทพา โรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ถึงที่สุดการเอาข้อมูลขึ้นมาเป็นสาธารณะ แต่กระบวนการเติบโตของพัฒนาการทางการสื่อสาร อำนาจรัฐก็ถอย ถ้าชาวบ้านสามารถอธิบายได้ อำนาจของข้อมูลข่าวสารเชื่อว่าจิตสำนึกของสังคมเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเติบโตขึ้นมาได้ เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องลากปืนมายิงกันถ้าไม่จำเป็น ตนมีความหวังว่าชุมชนจะลุกขึ้นสู้ สานให้เป็นเครือข่าย และเห็นว่าสังคมมีความหวัง ไม่ได้หวังเฉพาะโครงสร้างทั้งมวล แต่ต้องทำจากข้างล่างที่เราทำได้
• "โอม ค็อกเทล" ชี้ "ปฏิบัติการไอโอ" จะถูกหยิบมาใช้ ห่วงความจริงแบบ "ไม่เชื่อสัจธรรม"
นายปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ โอม ค็อกเทล นักร้องนำวงค็อกเทล (Cocktail) อาจารย์ และนักกฎหมาย กล่าวว่า ทุกวันนี้เจนเนอร์เรชันเปลี่ยนไปไวมาก โลกเปลี่ยนเร็วยิ่งกว่าเดิม จึงยังตอบไม่ได้ว่าตนคาดหวังอะไรกับสังคมไทย คนทุกคนทุกคนเริ่มหันมามองตัวเองในระดับที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งโซเชียลมีเดียทำให้แต่ละคนกลายเป็น Individualized (ทำให้เป็นเฉพาะบุคคล) ทุกคนเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง สื่อเริ่มหมดคุณค่าเพราะทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ และบางคนไม่ตระหนักถึงพลังของสื่อมีอยู่ในมือ ปัญหาที่เราเจอ เช่น เฟคนิวส์ (Fake News) ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง
"ต่อไปปฏิบัติการที่เรียกว่าไอโอ (Information Operation หรือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) จะถูกนำมาใช้หลากหลายทั้งเรื่องการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรืออย่างไรก็ตาม ความจริงกลายเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญอีกต่อไป แล้วเราอยู่ในสังคมที่คนไม่อยากจะรับทราบว่าความจริงคืออะไร ในทางธุรกิจมีคำพูดถึงขั้นที่ว่า มันไม่สำคัญว่าความจริงคืออะไร สำคัญแต่ว่าเขาเชื่ออย่างไรต่างหาก นั่นคือความจริงอีกชุดหนึ่ง ความจริงที่คุณเชื่อ เรามีความจริงที่เป็นสัจธรรม ในขณะเดียวกันก็มีความจริงที่ว่า คนกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อในสัจธรรมนั้น นั่นคือสิ่งที่น่าห่วง เราถูกหล่อหลอมโดยโซเชียลมีเดียให้สังคมกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง" นายปัณฑพล ระบุ
• คนที่เราไม่ชอบ เกลียดให้ตายก็เปลี่ยนไม่ได้ แนะ "เปลี่ยนตัวเอง" พร้อมกันให้มีพลัง
นายปัณฑพล กล่าวว่า ตนไม่ได้มองที่ระบบเพราะเป็นคนตัวเล็กๆ ไม่ได้มีอำนาจจะไปเปลี่ยนแปลงระบบหรือกฎหมาย แต่เชื่อในการเป็นคนอย่างสมบูรณ์ในฐานะที่ควรจะเป็น เชื่อว่าถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองสุดกำลัง รู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งใดเหมาะสม สิ่งใดไม่เหมาะสม เชื่อว่ากฎหมายก็ไม่ต้องมี ศาสนาก็ไม่ต้องมี ลองคิดถึงโลกที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ถ้าทุกคนทำถูกเราจะต้องกลัวอะไร ตนเชื่อเสมอว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีนั้นย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและคนหมู่มาก ถ้าสิ่งที่ทำนั้นอำนวยทั้งต่อตนเองและคนหมู่มากเสมอ สังคมย่อมมีทางรอดด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบอบอะไร
"เราอาจจะไม่ชอบใครสักคนที่มีอำนาจอยู่ในตอนนี้ ด่ามันให้ตายไปเขาก็ไม่ทำอะไรหรอก เกลียดเขาให้ตายก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วทุกคนเปลี่ยนพร้อมกัน เราเชื่อว่าเป็นพลังบางอย่าง คนเจนเนอเรชั่นนั้นมาจากไหนก็แล้วแต่ เมื่อผ่านพ้นไปแล้วถึงเวลาของเรา เมื่อเจนเนอเรชันของเรามาถึง ผมเชื่อว่ามันจะเกิดการเปลี่ยน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลง ผมยังเชื่อว่ามาจากการที่เรามองเห็นความจริง ยอมรับความจริงว่าตนเป็นใคร ตนมีบทบาทอย่างไร เราจะมองคนอื่นที่แตกต่างกว่าเราได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างไร เกิดจากการปลูกฝังระบบการศึกษาที่ถูกต้อง" นายปัณฑพล ระบุ
• เอือมระบบการศึกษาไทย "เรียนเพื่อไปหาเงิน" แนะวิจารณ์-ลงมือทำอะไร ความรู้สำคัญที่สุด
นายปัณฑพล กล่าวว่า ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของไทยสอนให้เด็กมุ่งหาผลทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะสอนหนังสือใคร เด็กจะพูดเสมอว่าเรียนเพื่อไปหาเงิน ความสำเร็จคือการมีชื่อเสียงหรือทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เรียนเพื่อเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนคน เราให้น้ำหนักกับเยาวชนรุ่นต่อไป ตนอาจจะสิ้นหวังกับคนที่มีอำนาจมาก่อน แต่เชื่อว่าในเมื่ออนาคตเป็นของเยาวชน ทำไมไม่ให้น้ำหนักกับเยาวชนของเรา สร้างจิตสำนึกอย่างถูกต้อง ทำให้เขามองสัจธรรมว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดลวงตา มีคำกล่าวว่าสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดีเสมอ แต่ของบางอย่างที่ไม่ดี เราก็ต้องยอมรับว่าไม่ดี และเลือกที่ไม่เก็บไว้ในใจ แล้วอะไรที่ดีก็เก็บไว้ในใจ เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ ไม่อยากให้เกิดวาทกรรมชุดลวงตาเพื่อปลอบประโลม
"คนเราอยู่ด้วยการยอมรับความจริงที่ว่า ถ้ามันไม่ดี มันห่วย มันเฮงซวย มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราแก้ไขได้ อะไรคือปัญหา อะไรคือต้นเหตุ หาต้นเหตุแล้วแก้ที่ต้นเหตุ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้แล้วจำเป็นต้องอยู่กับมัน ก็ต้องยอมรับแค่นั้น หวังว่าเยาวชนรุ่นที่จะมาถึงจะมีความเข้มแข็ง พอที่จะมองเห็นความจริงของโลกมากยิ่งขึ้น มีการศึกษาที่ให้น้ำหนักกับเรื่องของจริยธรรม ศีลธรรม การฝึกกระบวนการความคิด ปลูกฝังความรับผิดชอบด้วยตัวเอง ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองในฐานะคนๆ หนึ่งที่จะมีโอกาสเชื่อมโยงกับสังคมจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแต่ความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่านั้น" นายปัณฑพล ระบุ
ในตอนท้าย นายปัณฑพล กล่าวว่า มีคำกล่าวที่พูดกันบ่อยครั้งก็คือ จินตนาการสำคัญกว่าการเรียนรู้ แม้นักวิชาการจะจินตนาการถึงสังคมหลากหลายรูปแบบ แต่การประสบความสำเร็จไม่ใช่เพราะจินตนาการ แต่เพราะการศึกษาอย่างยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นการจินตนาการต้องมีความรู้เป็นพื้นฐาน ถ้าจินตนาการโดยปราศจากความรู้คือเพ้อเจ้อ ไม่ใช่จินตนาการที่แท้จริง เมื่อรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เราเห็นความจริงประเมินได้ว่าควรทำอย่างไร เพราะฉะนั้นก่อนจะวิพากษ์หรือพูดถึงใคร เราศึกษาหาความรู้ในเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะวิจารณ์หรือลงมือทำอะไรสักอย่าง เราลองลงมือรีเสิร์ช (วิจัย) ค้นหาเรื่องที่เกี่ยวข้อง มองเรื่องที่เชื่อมโยงลึกซึ้งเพียงพอหรือยัง และได้ถ่ายทอดความรู้ให้บุตรหลานไปใช้ในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด