ณัฏพล ชู 3 คำ “ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษา และปาฏิหาริย์” หวังสะท้อนเห็นถึงความสำเร็จของโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี CONNEXT ED การสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ 33 องค์กรภาคเอกชน เพื่อร่วมยกระดับการศึกษาไทย สู่การสร้างเด็กดี-เด็กเก่ง ของประเทศอย่างยั่งยืน
จากจุดเริ่มต้นของการรวมตัว 12 องค์กรเอกชนชั้นนำ และต่อมาขยายเครือข่ายพันธมิตรใหม่อีก 21 องค์กร รวมเป็น 33 องค์กรในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ และภาคประชาสังคม ตามแนวทางยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 4,781 แห่ง ทั่วประเทศ และมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการถึง 1,047,660 คน ซึ่งภาคเอกชนได้สนับสนุนงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3,153 ล้านบาท ครอบคลุม 77 จังหวัด และด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็ง ได้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยปีที่ผ่านมา ผลคะแนน O-NET ของนักเรียนโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการสูงขึ้น 9.85% เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2560 และถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ หนึ่งในพลังที่มีส่วนสำคัญซึ่งเป็นตัวเชื่อมโยงกับผู้บริหารและครูในโรงเรียนประชารัฐ คือ ผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นบุคลากรจิตอาสาจากแต่ละองค์กร ซึ่งล่าสุด คณะทำงานโครงการฯ ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ประจำปี 2562 (CONNEXT ED WORKSHOP 2019) ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมแก่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่ จำนวนกว่า 900 คน ที่จะลงพื้นที่ปฏิบัติงานและร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การดำเนินงานไปสู่โรงเรียนประชารัฐทั่วประเทศตลอด 1 ปีการศึกษานี้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ กล่าวเปิดงานอบรมฯ ด้วยการขอบคุณทุกองค์กรที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนการศึกษาไทย ซึ่งโครงการนี้ ได้ดำเนินการมาก่อนตนเองรับตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อมารับหน้าที่ตรงนี้ จึงมาเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ที่เกิดแล้วให้ดำเนินต่อไป และในขณะเดียวกัน ก็จะขยายผลและแก้ไขเรื่องต่างๆ เพื่อให้การทำงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนมีความรวดเร็วและเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้ ก่อให้เกิดคำสำคัญ 3 คำ คือ ประวัติศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษา และปาฏิหาริย์ ตอนนี้ทุกคน กำลังร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการปฏิรูปการศึกษาไทย และทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจริงในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาได้ในระยะเวลาไม่นาน แม้ภาครัฐจะเข้มแข็งขนาดไหน แต่ภาคเอกชนยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือด้านการศึกษา ขณะนี้ศธ.กำลังผลักดันทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่ให้เด็กท่องจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งศธ.ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ด้านนายศุภชัย เจียรวรนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า “หากลองนึกภาพ ทำอย่างไรที่จะสามารถปรับเปลี่ยนสังคมไทยในอนาคต 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ให้เป็นสังคมที่เข้มแข็ง อุดมปัญญา มีการสร้างนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต้องเริ่มที่โรงเรียน การศึกษา ขอขอบคุณท่านนายก รมว.ศธ.ที่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก ลงพื้นที่ติดตามดูด้วยตนเอง ร่วมการประชุม สนับสนุนโครงการเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CEO ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการ ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ผลักดันให้ผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner มีกำลังใจ รวมถึงภาคประชาสังคม โรงเรียนต้นแบบ นักวิชาการ นักพัฒนาการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้สามารถแบ่งปันและขยายองค์ความรู้ออกไปให้ได้มากที่สุด ความเข้มแข็งของ 3 ภาคส่วน เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน เรามีหัวใจเดียวกัน คือ อยากขับเคลื่อนสังคมไทยให้ลูกหลานมีอนาคตที่ดี มีความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี”
นายศุภชัย กล่าวว่า โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 (2562-2563) โดยมีแผนงานจัดทำโครงการสมุดพกดิจิทัล ระบบการบริจาคออนไลน์ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED และขยายโอกาสความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
น.ส.พัชรินทร์ มธุรพจนากุล ผู้นำรุ่นใหม่จาก บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า “ตัดสินใจเข้าร่วมเป็น School Partner เพราะมองว่าโครงการนี้สร้างสรรค์และได้ช่วยเหลือสังคม ทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้รับโอกาสด้านการศึกษา ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการระยะยาวที่นอกจากจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังได้พัฒนาตนเองอีกด้วย โดยรับผิดชอบดูแลโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จ.สมุทรสาคร เข้าไปช่วยวางแผนระยะยาว 5 ปีกับทางโรงเรียน โดยเน้นการทำงานร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ไม่เป็นการนำเสนอจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว เทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา โรงเรียนขาดทั้งบุคลากร และอุปกรณ์การเรียนการสอน ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา หลายห้อง จึงให้การสนับสนุนเรื่องสื่อการสอน เช่น จัดให้มีครูต่างชาติสอนผ่านสไกป์ (Skype) ทำให้สามารถสอนเด็กได้หลายห้อง ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากชาวต่างชาติจริงๆ ในเฟส 3 นี้ จะต่อยอดด้านเทคโนโลยีให้แก่ทั้งครู ผอ. และเด็กๆ ให้ดียิ่งขึ้น
ผศ.ดร.กรวิทย์ ไชยสุ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “เข้าร่วมเป็น School Partner ตั้งแต่ปี 2559 โดยเฟสแรก ลงในพื้นที่จ.เชียงใหม่ พบปัญหารูปแบบการเรียนการสอน การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น จึงได้บูรณาการเรื่องสะเต็มศึกษา เกิดโครงการนาข้าว วิถีพอเพียง และโครงการ One Class One Product ให้เด็กทุกชั้นปีมาเรียนรู้ร่วมกัน และต่อยอดเป็นอาชีพ มีการนำเรื่องของบวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนเฟสที่ 2 ลงพื้นที่ จ.ลำพูน ได้มีการทำจิ้งหรีดโมเดล เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียน”
“หน้าที่ของ School Partner คือ เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ผอ. ช่วยเชื่อมโยง ประสานงาน และทำความเข้าใจและร่วมมือกัน เพื่อวางรากฐานที่มั่นคง ยั่งยืน ให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้แบบไร้รอยต่อ ตั้งใจจะนำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือโรงเรียนอย่างเต็มศักยภาพ อยากสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่ครู นักเรียน ได้แบ่งปันองค์ความรู้ให้ชุมชนด้วย” ผศ.ดร.กรวิทย์ กล่าวสรุป การศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้ โครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี CONNEXT ED ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้พัฒนาและเกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะทำงานสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED โทร. 02-069-2101 ต่อ 1003-1004 หรืออีเมล :Partners.connexted@truecorp.co.th