“กล่องกระดาษ”คงเป็นได้แค่อุปกรณ์ไว้ใส่สิ่งของเท่านั้น หากปราศจากแนวคิดในการปรับตัวทางธุรกิจของ “โกมล เนติประมุข”แห่งบริษัท เอส ซี เปเปอร์-แพ็ค จำกัด ที่บุกเบิกเชื่อมโยงการเติบโตโลกออนไลน์ ช่วยให้ธุรกิจกล่องกระดาษจาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี สามารถปรับตัวสร้างตลาดใหม่ขยายฐานลูกค้ากว้างขวางทั่วประเทศและยืนหยัดอยู่ในวงการได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้น
“ใครๆ ก็บอกว่า ไม่รอดแน่” นี่คือ เสียงตักเตือนแกมห่วงใยจากคนส่วนใหญ่รอบๆ ตัว เมื่อรู้ว่า “โกมล เนติประมุข” คิดจะทำธุรกิจผลิตกล่องกระดาษที่บ้านเกิด ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากย้อนไปเมื่อปี 2545 ในพื้นที่ละแวกนั้น ล้วนแต่ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ความจำเป็นใช้กล่องกระดาษเพื่อขนส่งสินค้า ยังมีไม่มากนัก
ทว่า เหตุผลที่รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง เพราะพี่สาวเปิดโรงงานน้ำสลัดอยู่แล้ว อย่างน้อยการันตีมีลูกค้าหนึ่งรายแน่นอน นอกจากนั้น เขามองในอีกมุมว่า ในท้องถิ่นยังไม่มีโรงงานผลิตกระดาษมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความต้องการ ดังนั้น เมื่อเป็นผู้ผลิตกล่องกระดาษรายเดียวใน ต.สามชุก โอกาสย่อมเปิดกว้าง เพราะไร้คู่แข่งในท้องถิ่น
“ก่อนเริ่มธุรกิจผมหาความรู้การทำธุรกิจกล่องกระดาษจากอินเตอร์เน็ตและส่งพนักงานคนหนึ่งไปเรียนรู้กระบวนการผลิตจากโรงงานกล่องย่านปากน้ำ จ.สมุทรปราการ หลังจากนั้น มาเปิดธุรกิจของตัวเองลงทุนเบื้องต้นแค่ประมาณ 200,000 บาท เช่าห้องแถว มีเครื่องจักร manual 3 ตัวกับทีมงาน คือ ตัวผมและพนักงาน 2 คน เท่านั้น” โกมล บอกถึงจุดกำเนิดโรงงานผลิตกล่อง เอส ซี (SC) ซึ่งย่อมาจาก สามชุก (Sam – Chuk) นั่นเอง เมื่อประมาณ 17 ปีที่แล้ว
ธุรกิจในยุคแรก จะรับซื้อกระดาษลูกฟูกจากโรงงานในกรุงเทพฯ แล้วนำมาแปรรูปเป็นกล่อง เพื่อขายให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น กำลังผลิตเฉลี่ยวันละ 500-1,000 กล่อง
โกมล เฉลยถึงปัจจัยสำคัญที่ช่วยธุรกิจโตติดสปริง มาจากเวลานั้น ราคาน้ำมันในเมืองไทย ถีบตัวสูงมาก โรงงานต่างๆ ใน จ.สุพรรณบุรี และรอบๆ ไม่ว่าจะเป็นชัยนาท นครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี ที่เดิมเคยสั่งซื้อกล่องกระดาษจากผู้ผลิตที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ต้องมองหาแหล่งสั่งซื้อกล่องกระดาษแห่งใหม่ในท้องถิ่นแทน เพื่อจะประหยัดค่าใช้จ่ายการขนส่ง ซึ่ง“เอส ซี เปเปอร์-แพ็ค” สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
จากยอดผลิตหลักร้อยใบต่อวัน ค่อยๆ เพิ่มเป็นหลักพัน และหลักหมื่นใบต่อวัน ช่วยให้ธุรกิจเติบโตตามลำดับ จากห้องแถวเล็กๆ ขยายเป็นโรงงานผลิตกล่องกระดาษทันสมัย สามารถผลิตงานเกี่ยวกับกล่องกระดาษได้ครบวงจร
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบตลอดเส้นทาง เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีคู่แข่งทำธุรกิจเดียวกันในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยการแข่งขันตัดราคา
สถานการณ์ดังกล่าว ผลักดันให้นักธุรกิจหนุ่มเมืองสุพรรณ คิดหานวัตกรรมเปิดตลาดใหม่ โดยเชื่อมโยงธุรกิจไปปักหมุดบนโลกออนไลน์ ผ่านกระบวนการ "SEO" หรือ "Search Engine Optimization" ตั้งเป้าให้ใครก็ตามที่ใช้ Google ค้นหาคีย์เวิร์ด(Keyword) เกี่ยวกับความต้องการสินค้ากล่องกระดาษ ต้องเจอเว็บไซต์ของ “เอส ซี เปเปอร์-แพ็ค” (www.scpaperpack.co.th) เป็นอันดับต้นๆ เสมอ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถือเป็นเรื่องใหม่มากในการทำตลาดของเอสเอ็มอีไทย โดย บริษัท เอส ซี เปเปอร์-แพ็ค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการและดูแลกระบวนการทำตลาดออนไลน์เองทั้งหมด
“เวลาที่ลูกค้าต้องการกล่องกระดาษ เขาไม่สนใจหรอกว่า เป็นกล่องกระดาษแบรนด์อะไร เขาแค่ต้องการกล่องที่จะเอาไปใช้ใส่สินค้าได้สะดวกเหมาะสม ส่งถึงมือลูกค้าได้ปลอดภัย และราคาไม่สูงการทำตลาดของผมจึงมุ่งเน้นให้เวลาที่ผู้ประกอบการต้องการหากล่องกระดาษ และเสิร์ชหาข้อมูลบน Google จะเจอเว็บไซต์ของผมเป็นอันดับแรกเสมอ ซึ่งเวลานี้ เว็บของเอสซีฯ ติดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเราทำมานาน และกำหนดคีย์เวิร์ดที่คาดว่าลูกค้าจะค้นหามากกว่า 100 คำ เช่น กล่องกระดาษ กล่องลูกฟูก กล่องกระดาษราคาถูก กล่องกระดาษราคาส่ง ฯลฯ” เขาระบุ
หลังจากลูกค้าค้นเจอแล้ว ประเด็นสำคัญต่อมา ต้องมีสินค้ากล่องกระดาษที่ตอบความต้องการได้ครบถ้วน โดยโรงงานเอสซี ฯ มีกล่องมากกว่า 100 แบบไว้รอให้เลือกซื้อ ตั้งแต่เล็กสุด ขนาด 9.5x14x6 ซม. ถึงใหญ่สุด 55x65x50 ซม. นอกจากนั้น บริการยืดหยุ่นเหมาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยๆ ที่ต้องการสั่งกล่องกระดาษปริมาณไม่มาก เริ่มต้นแค่ 10 ใบก็สั่งซื้อได้ หรือหากจะสั่งผลิตรูปแบบเฉพาะ เริ่มต้นรับผลิตที่ 500 ใบ ซึ่งต่างจากโรงงานผลิตกล่องกระดาษรายใหญ่ หากอยากได้กล่องรูปแบบเฉพาะต้องสั่งผลิตอย่างต่ำหลักพันใบขึ้นไป
ด้วยแนวคิดขยายตลาดผ่านโลกออนไลน์ โกมล ระบุว่า ช่วยธุรกิจปรับตัวผ่านวิกฤตขยายฐานลูกค้าใหม่อย่างกว้างขวาง จากอดีตลูกค้าทั้งหมดจะอยู่เฉพาะใน จ.สุพรรณบุรี และใกล้เคียง ปัจจุบัน มีฐานลูกค้าทั่วประเทศไทย นับกว่า 30,000 ราย สร้างยอดผลิตกล่องเฉลี่ยกว่า 50,000 ใบต่อวัน
นอกจากนั้น นักธุรกิจหนุ่มให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้านบริหารการเงิน ตั้งกติกาก่อนจะรับผลิตตามออเดอร์จะเรียกเก็บมัดจำล่วงหน้า 50% และซื้อขายเป็นเงินสดเท่านั้น ช่วยให้ธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี อีกทั้ง ทำบัญชีเดียวอย่างถูกต้องชัดเจนโปร่งใส และขยายธุรกิจตามความเหมาะสมไม่เกินตัว ตัวอย่างเช่นการสร้างโรงงานอาศัยแหล่งทุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ช่วยลดภาระของธุรกิจได้
“ผมใช้บริการ SME D Bank ตั้งแต่ธนาคารเริ่มมาเปิดสาขาที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ระหว่างผมกับเจ้าหน้าที่ธนาคารสาขาสุพรรณฯเรารู้จักกันมานาน ผ่านทั้งช่วงที่ธุรกิจของผมดีและแย่ ตั้งแต่ธุรกิจผมยังเล็กๆ เจ้าหน้าที่ธนาคารสาขาสุพรรณฯ ก็มาแนะนำสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษช่วยต่อยอดธุรกิจ จนถึงทุกวันนี้ เวลารัฐบาลมีโครงการสินเชื่อพิเศษอะไรออกมา ก็จะมาแนะนำให้ตลอด อย่างโรงงานแห่งนี้ ก็ได้เงินทุนจาก SME D Bank มาสร้าง และล่าสุดผมได้รับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ดอกเบี้ย 1% นำมาลงทุนเครื่องจักร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนธุรกิจ” โกมล เสริม
สำหรับแผนธุรกิจที่วางไว้ในอนาคต โกมลยังคงวิสัยทัศน์ที่จะแสวงหาโอกาสด้วยการสร้างนวัตกรรมการบริหารธุรกิจเพื่อเปิดตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจกับออนไลน์อย่างใกล้ชิด และทั่วถึง เพื่อให้ธุรกิจผลิตกล่องกระดาษ “เอส ซี เปเปอร์-แพ็ค” เติบโตตามกระแสของโลกแห่งอนาคตในยุคดิจิทัล
ติตต่อ 129/3 หมู่ 1 ต.สามชุก อ.สามชุก สุพรรณบุรี 72130www.scpaperpack.co.th หรือโทร.035-571-174 ถึง 5, 035-571-179, 081-015-5599, 092-498-1515
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *