ครั้นจะให้รุ่นพ่อแม่ทำฟาร์มไก่ไข่แบบเดิมๆ คงจะเติบโตได้ยาก ทำให้ทายาทธุรกิจทิ้งเงินเดือนหลักแสนในเมืองกรุง สานต่อธุรกิจที่พ่อแม่ร่วมกันปลุกปั้นส่งให้เรียนจนจบ มาพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ด้วยเทคโนโลยี IoT ควบคุมทุกคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและระบบ 4G เพื่อผลผลิตทัดเทียมรายใหญ่พร้อมรับตลาดแข่งขัน กับ “พรรัตภูมิ ฟาร์ม”
นายพิสุทธิ์ ฆังคะมะโน เผยถึงการเข้ามาสานต่อธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ครอบครัวว่า ครอบครัวได้ทำฟาร์มไก่ไข่มา 45 ปี ริเริ่มโดยผู้เป็นพ่อ ซึ่งช่วงนั้นราคาไข่ไก่ค่อนข้างดี คู่แข่งไม่มาก ทำให้มีรายได้ส่งลูกเรียนจบปริญญาถึง 2 คน แต่ปัจจุบันเมื่อธุรกิจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือฟาร์มใหญ่ที่มีการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีมาช่วยควบคุมคุณภาพของไข่ไก่ มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบรายเล็กที่ยังทำฟาร์มแบบเดิมๆ เป็นระบบเปิด ไม่มีการควบคุมน้ำ อาหาร อากาศใดๆ จึงไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของคุณภาพได้
ดังนั้นเมื่อผู้เป็นพ่อ เริ่มไม่อยากไปต่อในธุรกิจนี้ ผู้เป็นทายาทธุรกิจอย่าง “นายพิสุทธิ์” ตัดสินใจทิ้งบทบาทการเป้นพนักงานประจำ กับเงินเดือนหลักแสน มาสานต่อฟาร์มไก่ไข่ จากการมองเป็นเห็นโอกาสที่ยังไปได้ต่อหากมีการนำระบบ หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยต่อยอด
“ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ส่วนใหญ่ยังมีการทำเกษตรกรรม การทำฟาร์ม และเลี้ยงสัตว์กันเป็นจำนวนมาก ปัญหาสำคัญที่พบก็คือคุณภาพของผลผลิตที่ยังไม่ดีหรือยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของไข่ที่ยังขาดความสด และยังติดกับการแก้ปัญหาเดิมๆ คือการลงทุนด้านอาหารสัตว์ ด้วยความเชื่อที่ว่าอาหารคือตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่สามารถทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำฟาร์มไก่ไข่นั้นยังมีอีกตัวแปรที่สำคัญที่ต้องควบคุมก็คือสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะ ความเข้มของแสง ความชื้น ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ และทำให้ไข่ไก่มีคุณภาพ”
ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ “พรรัตภูมิ ฟาร์ม” วางตำแหน่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายไข่ไก่สดให้ผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ และใกล้เคียงมานกว่า 45 ปี ได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการ “ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT” เพื่อช่วยพัฒนากระบวนการดูแลและเลี้ยงให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น
สำหรับนวัตกรรมที่ฟาร์มไก่ไข่พรรัตภูมิได้พัฒนาและนำมาใช้ก็คือ กระบวนการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ผ่านการควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มีเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ อีกทั้งจะมีการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยงมายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรงที่มีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบเฝ้าระวังสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยยังสามารถใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสั่งการควบคุมระดับความชื้น อุณหภูมิและปัจจัยต่างๆ ในโรงเรือนได้ ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตัดสินใจในการลงทุนและช่วยป้องกันเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ อุปกรณ์ภายในโรงเรือนเสีย ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องและแม่นยำ
โดยได้รับเงินอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ภายใต้การสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมแบบเปิด จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จำนวนไม่เกิน 529,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน ในหมวดค่าวัตถุดิบ/ค่าวัสดุ-อุปกรณ์ หมวดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หมวดค่าวิเคราะห์ทดสอบ และหมวดค่าตอบแทน เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการ “ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT หวังให้เป็นต้นแบบฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานต้นแบบฟาร์มไก่ไข่อัจฉริยะ
“ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่การทำฟาร์มหรือการเกษตรยุคใหม่ควรจะต้องมีคือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะหากยึดติดอยู่กับวิถีเดิมๆ ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิมและไม่ต่างอะไรจากคู่แข่ง รวมทั้งต้องรู้จักแสวงหาโอกาสจากหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนมาช่วยเติมเต็มจินตนาการหรือแนวความคิด ร่วมมือกันต่อยอดให้เป็นจริงได้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยุคใหม่ยังควรจะต้องรู้จักศึกษาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในทุกวัน พร้อมนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งไหน วิธีการอะไรที่จะทำให้หลุดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ หรือควรจะต้องนำภูมิปัญญาแบบชาวบ้านมาผสมผสานกับนวัตกรรม เพื่อสร้างการเติบโตที่ดีอีกขั้น ทั้งนี้ หากไม่มีการปรับตัวก็จะทำให้ตามโลกไม่ทัน และกลายเป็นเกษตรกรรมล้าหลังในที่สุด”
อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้การฟาร์มไข่ไก่ของพรรัตภูมิ ฟาร์ม สามารถนำมาปรับใช้กับฟาร์มอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นฟาร์มไก่ไข่อย่างเดียว โดยนายพิสุทธิ์ บอกว่า จากความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำระบบฟาร์มอัจฉริยะมาระยะหนึ่งจนเริ่มอยู่ตัว ก็เตรียมวางตำแหน่งเป็นผู้วางระบบให้กับฟาร์มอื่นๆ ที่สนใจ เรียกว่าเป็นอีกธุรกิจที่ต่อยอดออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเติบโตต่อไปได้ในธุรกิจอาทิ ฟาร์มเลี้ยงหมู ฟาร์มผัก โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ที่ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม และฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการนำแนวคิดสมาร์ท ฟาร์ม มาปรับใช้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม เช่น การกำจัดศัตรูพืช การควบคุมสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ และยังจะช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนช่วยให้ผลผลิตมีราคาที่สูงกว่าฟาร์มทั่วไป
ติดต่อพรรัตภูมิ ฟาร์ม เลขที่ 470 ม.11 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โทร. 08-0224-0008