ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเกินร้อยของอดีตสาวโรงงานอย่าง “นฤมล จันชาวนา” ยึดอาชีพขายส่ง “ข้าวแต๋น” ลองผิดลองถูก ล้มคลุมฝุ่นหลายต่อหลายครั้งกว่าจะพบความสำเร็จ จนปัจจุบันก้าวเป็นผู้ผลิตข้าวแต๋นเจ้าดังประจำ เมืองเพชรบูรณ์ มียอดสั่งผลิตหลักหมื่นแผ่นต่อวัน ยิ่งได้รับการต่อยอดจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งด้านการตลาด เติมนวัตกรรมโรงอบแสงอาทิตย์ พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ช่วยติดปีกผู้ประกอบการรายนี้เติบโต มีส่วนขยายการสร้างงาน สร้างอาชีพ ผลักดันให้เศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็ง
นฤมล จันชาวนา หญิงแกร่งเมืองเพชรบูรณ์ เล่าย้อนจุดเริ่มต้นอาชีพให้ฟังว่า เดิมเคยทำงานเป็นพนักงานประจำโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่ง กระทั่ง มีโอกาสได้ชิมขนมข้าวแต๋นจากเพื่อนที่ทำงานซึ่งรับมาขายต่อ เกิดติดใจในรสชาติ ถึงขนาดกลายเป็นแรงบันดาลใจ อยากจะยึดอาชีพทำขายข้าวแต๋นบ้าง
“พอเรามีความคิดอยากจะประกอบอาชีพขายข้าวแต๋น ก็เลยเริ่มจากรับข้าวแต๋นแผ่นดิบมาทอดขาย ประมาณ 1,000 - 2,000 แผ่น ปรากฏว่าขายดีมาก สร้างรายได้ 7,000 - 8,000 บาทต่อวัน ทำให้เรามองเห็นหนทางทำมาหากิน ไม่ต้องเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิตแล้ว เลยเสาะหาแหล่งผลิตข้าวแต๋น เพื่อจะไปขอความรู้การทำข้าวแต๋น อาศัยช่วงวันหยุดขอเข้าไปคลุกคลีช่วยงานแบบไม่คิดเงิน ไม่สอนก็อาศัยครูพักลักจำช่วยปั้นช่วยตาก จนพอจะรู้วิธีการทำข้าวแต๋น” นฤมล เล่าจุดเริ่มต้นอาชีพ
เมื่อคิดว่าตัวเองสามารถจะทำอาชีพนี้ได้แล้ว เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อกลับมาอยู่บ้านเกิด จ.เพชรบูรณ์ พร้อมวาดฝันไว้สวยงามกับอาชีพใหม่ที่กำลังจะลงมือทำ ทว่า หนทางเดินกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โลกความฝันกับความจริงต่างกันสิ้นเชิง ซ้ายขวาหน้าหลังเต็มไปด้วยขวากหนามและอุปสรรค นึกย้อนความลำบากคราใดก็อดน้ำตาซึมไม่ได้
“ดิฉันเอาเงินเก็บที่อดออมมาทั้งชีวิต ไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆ สำหรับทำข้าวแต๋น ภายใต้ชื่อกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนโรงงานข้าวแตนน้ำแตงโม” ทุ่มเต็มที่ท่องไว้คำเดียวเลยว่า ‘เราทำได้’ แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นอย่างที่คิดไว้เลย ขาดทุนย่อยยับตั้งแต่ครั้งแรกเลย เพราะขาดประสบการณ์และความรู้ที่แท้จริง เจอปัญหาสารพัด เช่น ข้าวแต๋นที่ทำขึ้น ปั้นไม่ได้ ข้าวแตกไม่ยึดเกาะกัน แผ่นไหนพอสวยหน่อยเอาไปทอดข้าวก็ไม่พอง รสชาติไม่ได้ ท้อมากทดสอบเป็นปีๆ เงินลงทุนก็หมด พ่อต้องขายฝูงวัวที่เลี้ยงไว้มาช่วย อาจจะเพราะเงินก้อนนี้แหละที่ทำให้เราถอยไม่ได้แล้ว เริ่มคิดทำธุรกิจจะใช้ใจอย่างเดียวไม่ได้จริงๆ ต้องมาเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง ค้นหาสาเหตุจนมาเริ่มฉุกคิดว่า ทำไมเราถึงทำข้าวแต๋นเหมือนเจ้าที่รับมาขายไม่ได้ เลยไปหยิบฉลากของเจ้าที่รับมาขายดู ถึงบางอ้อเลย เพราะ “ข้าว” กับ “น้ำตาล” ที่เราใช้ มันไม่เหมาะกับการทำข้าวแต๋นเลย” สาวแกร่ง เล่า
จากที่รู้ปัญหาดังกล่าว นฤมล กลับมาปรับปรุง ค้นหาข้อมูลการทำข้าวแต๋น โดยเจาะจงใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 หรือข้าวเขี้ยวงูมาตรฐานระดับส่งออก จากจังหวัดเชียงราย ส่วนน้ำตาลต้องใช้น้ำตาลที่หวานกำลังดี โดยเลือกใช้น้ำตาลบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ลองผิดลองถูกจนได้สูตรลงตัว กลิ่นหอมกรอบรสชาติอร่อย
ข้าวแต๋นที่ผ่านการยกเครื่องใหม่ เริ่มวางตลาดขายที่ตลาดตะพานหิน จ.พิจิตร ผลปรากฏว่า ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก มีผู้ติดต่อขอเป็นตัวแทนรับไปขายต่อมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายจังหวัด จนมียอดสั่งข้าวแต๋นแผ่น หลักแสนแผ่นต่อเดือน นอกจากสร้างรายได้ให้ตัวเองแล้ว คนที่รับไปขายต่อก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน ช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ด้านบริหารจัดการสำหรับผู้สนใจจะรับข้าวแต๋นไปขายต่อ กำหนดว่า หากในจังหวัดนั้นๆ มีตัวแทนรับไปขายก่อนอยู่แล้ว ก็จะให้สั่งจากสินค้าตัวแทนภายในจังหวัดแทน ป้องกันทับเส้นทางขายกันเอง ส่วนการผลิตแบ่งออกเป็น 2 กะ คือ กะเช้า และกะเย็น โดยกะเช้าประกอบด้วย แผนกตาก แผนกบรรจุ ส่วนกะเย็นประกอบด้วย แผนกเตรียมอุปกรณ์ แผนกนึ่งข้าว แผนกมูลข้าว ขณะนี้มีแรงงานกว่า 43 คน แรงงานเป็นคนในชุมชนทั้งหมด มียอดผลิตหลักหมื่นแผ่นต่อวัน โดยขายส่งราคาแผ่นละ 1.5 บาท
จากที่ธุรกิจของผู้ประกอบการรายนี้ มีส่วนช่วยเกื้อหนุนชุมชนให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งมาช่วยต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด เปิดโอกาสพาไปขายของตามเทศกาลต่างๆ ขณะที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามายกระดับด้านนวัตกรรมสร้างโรงอบแสงอาทิตย์ แก้ปัญหาช่วงหน้าฝนได้เป็นอย่างดี
“การตากข้าวแต๋นต้องใช้ระยะเวลานาน 6-8 ชั่วโมง ช่วงหน้าฝน จึงเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะไม่สามารถตากข้าวแต๋นได้ บางครั้งต้องหยุดพักนาน 2-3 เดือน เสียโอกาสสร้างรายได้ เพราะช่วงหน้าฝนจะมีออเดอร์เยอะมากๆ พ่อค้าแม่ค้าสั่งซื้อไปตุน แต่เราผลิตไม่ได้ธุรกิจสะดุด ชาวบ้านก็ขาดรายได้ แต่เมื่อหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการสร้างอาชีพ นำนวัตกรรมและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา โดยก่อสร้าง “โรงอบแสงอาทิตย์” สามารถตากข้าวแต๋น ขายได้ตลอดทั้งปี โดยสร้างให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเลย เพื่อต้องการสร้างต้นแบบวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ สะท้อนความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เข้าถึงชุมชนเข้าถึงใจประชาชน”
ส่วนเงินทุนได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) สาขาพิตร เพื่อใช้เป็นหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และสามารถขยายกำลังผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
“ทุกวันนี้ เวลาออกขายที่ตลาด ลูกค้าจะยืนต่อแถวยาวมากและขายหมดภายในพริบตา มันเป็นความภูมิใจของเรา ที่อาชีพนี้ ช่วยสร้างรายได้ จนเราสามารถส่งลูกๆ เรียนจบ รวมถึง ตัวแทนที่รับข้าวแต๋นของเราไปขายต่อ ก็มีรายได้ดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขา รวมถึงคนในชุมชนของเขาดีตามไปด้วย” นฤมล ระบุ
ส่วนก้าวต่อไปในอนาคตนั้น ต้องการจะยกระดับการผลิตข้าวแต๋นให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น มีเครื่องจักรในการผลิตที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญให้อาชีพนี้เกิดความยั่งยืน อยู่เคียงข้างชุมชน อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ตลอดไป
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ติดต่อ “วิสาหกิจชุมชนโรงงานข้าวแตนน้ำแตงโม” โทร.087-151-4562 ที่อยู่ : 122 ม.2 ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager