xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผยผลการหารือผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซบรรลุ 7 ข้อ พร้อมรวมตัวเป็นภาคีเครือข่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


กระทรวงพาณิชย์เผยผลหารือผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทยบรรลุข้อตกลงร่วมกัน 7 ข้อ องค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน และบริษัทเอกชน รวมตัวเป็น “ภาคีเครือข่ายอี-คอมเมิร์ซไทย” สนับสนุนการดำเนินงานทุกภาคส่วน เน้นความมีส่วนร่วม...ประสานมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันเต็มที่ ยกระดับความเข้มแข็งอี-คอมเมิร์ซไทยทั้งระบบ พร้อมก้าวสู่ “สังคมอี-คอมเมิร์ซสร้างสรรค์ รวมพลังออนไลน์ไทยเป็นหนึ่งเดียว”


นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการจัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เพื่อร่วมกันหาแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยทั้งระบบ ก่อนที่จะลงนาม MOU ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 และได้มอบหมายให้นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมฯ ซึ่งผลการประชุมฯ สรุปได้ดังนี้

“องค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน และบริษัทเอกชน จะรวมตัวกันเป็น “ภาคีเครือข่ายอี-คอมเมิร์ซไทย” เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งระบบ และได้บรรลุข้อตกลง 7 ข้อ ในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยให้มีความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น โดยข้อตกลงฯ ดังกล่าวประกอบด้วย 1) การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ โดยจะมีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำ และข้อมูลข่าวสารด้านการประกอบธุรกิจ รวมถึงเผยแพร่กรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาดให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน 2) ส่งเสริมการตลาดทั้งในรูปแบบของออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย ในการช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถใช้ช่องทางการตลาดต่างๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจได้อย่างครบวงจร”

“3) ประชาสัมพันธ์ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และจัดให้มีช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายเพื่อให้สามารถสร้างการรับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด 4) สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกัน และระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับภาครัฐเพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพในการประกอบธุรกิจ ทำให้วงการอี-คอมเมิร์ซของไทยเกิดพลังที่แข็งแกร่ง 5) เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจากการพัฒนาของกระทรวงพาณิชย์ กับตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (e-Marketplace) ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ 6) การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทยที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานพันธมิตรให้สามารถพัฒนาระบบขนส่ง (Logistics) และระบบชำระเงิน (Payment) ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ 7) กิจกรรมอื่นๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซของไทยให้มีความเข้มแข็ง”
บรรยากาศการประชุมหารือ เพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ กับหน่วยงานภาครัฐ
รมว.พณ.กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผู้ประกอบการฯ ที่เข้าร่วมประชุมเห็นควรให้ความสำคัญต่อขั้นตอนการอบรมสัมมนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านอี-คอมเมิร์ซแก่เอสเอ็มอี โดยให้มีการติดตามผลประกอบการและการดำเนินงานหลังจากที่ได้อบรมฯ ไป เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน รวมถึงตั้งทีมที่ปรึกษาขึ้นมาคอยให้คำปรึกษาแก่เอสเอ็มอีที่เพิ่งจะเริ่มใช้อี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางในการขยายตลาดและขายสินค้า เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตลอดรอดฝั่ง”

“สุดท้าย ต้องการให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการอี-คอมเมิร์ซของไทยให้มีความเข้มแข็ง เจริญเติบโตอย่างมีทิศทาง พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ ในลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบพี่สอนน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน รวมทั้งช่วยกันยกระดับธุรกิจให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จับมือกันอย่างเหนียวแน่น พร้อมก้าวสู่ “สังคมอี-คอมเมิร์ซสร้างสรรค์ รวมพลังออนไลน์ไทยเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งข้อตกลงฯ และข้อเสนอแนะของที่ประชุม กระทรวงพาณิชย์จะนำเข้าไปรวมในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่จะลงนามร่วมกันในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่จะถึงนี้” รมว.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

หน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐที่เข้าร่วมประชุมหารือมีจำนวนทั้งสิ้น 26 หน่วยงาน ประกอบด้วย ภาคเอกชน : 1) ตลาดดอทคอม 2) บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ 3) ไทยช้อป อีคอมเมิร์ซ 4) แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป 5) ซีแมนทิค ทัช (BentoWeb) 6) บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 7) นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ 8) บลู แอนด์ ไวท์ 9) อี-อินดัสทรี เน็ตเวิร์ค 10) เคทีซี โกบอล โลจีสติกส์ 11) ทูซีทูพี (ประเทศไทย) 12) ธ.กรุงเทพ 13) ธ.กสิกรไทย 14) ธ.ไทยพาณิชย์

ภาครัฐ : 15) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 16) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 17) กรมการค้าภายใน 18) กรมทรัพย์สินทางปัญญา 19) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 20) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 21) กรมการพัฒนาชุมชน 22) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม 23) กระทรวงวัฒนธรรม 24) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) 25) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 26) ไปรษณีย์ไทย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น