xs
xsm
sm
md
lg

“ทปอ.” นำร่องบางแสน-หาดใหญ่ สู่เมืองอัจฉริยะในฝันกลุ่มสตาร์ทอัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทปอ.” จับมือพันธมิตรปั้นโครงการ Smart City Innovation Hubs เตรียมยกระดับเมืองอัจฉริยะต้นแบบบางแสน-หาดใหญ่ สู่เมืองในฝันกลุ่มสตาร์ทอัพ เทียบชั้นฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจโดยรอบเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้จัดการโครงการ Smart City Startup Development เปิดเผยว่า โครงการ Smart City Innovation Hubs ภายใต้โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้นำงานวิจัยและพัฒนาด้านเมืองอัจฉริยะออกมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ทางด้านเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับ Smart City Innovation Hubs ตามภูมิภาคต่างๆ ในการคัดสรรนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่มีความเข้มแข็งและเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จในธุรกิจ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564 โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ร่วมมือกับ “บางแสน” จ.ชลบุรี และ “หาดใหญ่” จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโต ประกอบกับโครงการมีเครือข่ายนักวิจัยในพื้นที่ สามารถสร้างเป็นเมืองต้นแบบทางนวัตกรรมได้ โดยบางแสนและหาดใหญ่จะกลายเป็นเมืองในฝันของสตาร์ทอัพที่จะเป็นเมืองไฮเทคโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเมืองฟุกุโอกะของประเทศญี่ปุ่น หรือบางเมืองในต่างประเทศที่สตาร์ทอัพเข้ามา

“การพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของบางแสนและหาดใหญ่จะส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่ในจังหวัดเติบโตมากยิ่งขึ้น และส่งผลขยายการค้าและการลงทุนไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้ต่อไป โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะทั้งสองเมืองนี้จะได้รับการพัฒนาและนำพาสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องเทคโนโลยีที่นำความเจริญมาสู่เมือง การค้า การลงทุน หรือการบริการ โดยภาครัฐบาลให้การสนับสนุนความพร้อมในทุกด้านที่จะช่วยยกระดับให้ความเจริญต่างๆ นำมาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ” ดร.อักฤทธิ์กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการ “Smart City Startup Development” จะต้องมีการพัฒนาทั้งผู้ประกอบการและผู้บริหารเมืองให้เกิดความเข้าใจทั้งด้านเทคนิค การเงิน การวางนโยบาย รวมถึงออกแบบแนวทางการนำไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โครงการฯ จึงออกแบบให้มีการพัฒนาทั้งภาคอุปสงค์ (เมืองต้นแบบ) และอุปทาน (ผู้ประกอบการใหม่) เพื่อขับเคลื่อนกลไกทั้งด้านการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมให้เกิดต้นแบบการใช้งานที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จและขยายไปใช้ได้ทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักวิจัยและนักพัฒนาที่สร้างนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะและต้องการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงประชาชนในเมืองอัจฉริยะ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะและผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ในปี 2560 มีจำนวนเมืองต้นแบบอัจฉริยะที่สนใจในการใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ด้านเมืองอัจฉริยะ จำนวน 2 พื้นที่ และจำนวนนักลงทุนหรือหน่วยงานที่สนใจในการลงทุนในผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเมืองอัจฉริยะจำนวน 10 ราย โดยผู้ประกอบการรายใหม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของเมืองได้อย่างแท้จริง และมีความพร้อมในด้านต่างๆ โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน ครบวงจรมากขึ้น

ด้านนายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า การเป็น Smart City สำหรับเมืองบางแสนได้นำร่องมาประมาณ 1 ปีเศษ กับโครงการ Smart Health โดยเล็งเห็นว่าเมืองบางแสนมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียว ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงได้ร่วมมือกับ ม.บูรพานำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิตอลพัฒนาเป็น “สายรัดข้อมืออัจฉริยะ” ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการนับก้าว จับจังหวะการเต้นของหัวใจ และแจ้งเตือนเมื่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันผิดแผกไปจากเดิมซึ่งอาจจะมาจากการล้มหรือหมดสติ โดยในปี 2561 (เฟส 2) จะใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 50 คน

นอกจากนี้ เมืองบางแสนยังให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยว หวังให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป จึงมุ่งเน้นไปที่สิ่งอำนวยความสะดวกด้วยระบบอัจฉริยะแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มโครงการนำร่องเมื่อเดือนมกราคมเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 30 ครัวเรือน พร้อมตั้งเป้าจะดูแลครอบคลุม 150 ครัวเรือนภายใน 3 ปี หลังจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น สมาร์ทซีเคียวริตี การทำให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้น และสมาร์ททัวริซึ่ม การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้บางแสนเป็นเมืองที่แสนสุขสำหรับทุกคน ทั้งคนอาศัยอยู่ในพื้นที่และสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

ส่วน ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ที่ปรึกษาเทศบาลนครหาดใหญ่ กล่าวว่า หาดใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการค้าและธุรกิจของภาคใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเป็นประตูผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ผ่านมาเทศบาลนครหาดใหญ่ได้วางแผนและวางโครงสร้างเพื่อการปรับเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางการค้า และพัฒนาให้เป็นเมือง Smart city มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยภายในสังกัด ทปอ. และในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่หาดใหญ่ จะมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในทุกด้าน รวมทั้งขยายผลการทำงานด้าน Smart city ไปสู่พื้นที่ภาคีเครือข่ายที่อื่นๆ ต่อไปด้วย

“เรียกได้ว่าขณะนี้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการค้าของภาคใต้ โดยเฉพาะการส่งสินค้าไปยังประเทศมาเลเซีย ดังนั้นหากนำเทคโนโลยีมาช่วยในแง่ธุรกิจเสริมสร้างภาพรวมเศรษฐกิจไทยในภาคใต้ให้แข็งแกร่งขึ้น บนพื้นฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่น และการท่องเที่ยวที่โดดเด่นของเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.วรรณรัชกล่าว
 
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น