กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการ ลดและเลิกใช้สารทำความเย็น HCFC ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา Train-the-trainer Workshop ในสาขาการเรียนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบเครื่องปรับอากาศ พร้อมจัดหาชุดเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทดแทน เพื่อฝึกปฏิบัติงานจริงตามเทคนิคของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของสถาบันการอาชีวศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จำนวน 200 กว่าสถานศึกษาทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 5.5 ล้านบาท
โดยในปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ประเทศไทยลดปริมาณการใช้สาร HCFCs ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ลดปริมาณการใช้สาร HCFCs และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยให้ความตื่นตัวกับปัญหาด้านมลพิษที่ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่ามาจากการขยายตัวและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แน่นอนว่าสารหรือก๊าซบางตัวที่ระเหยออกมาก่อให้เกิดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนและยังส่งผลกระทบในวงกว้างกลายเป็นปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้น โดยกรมโรงงานฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลให้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ HCFCs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสารทำความเย็น HCFC -22 ไปเป็นสาร HFC-32 โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ออกกฎหมายในการควบคุมการผลิต การนำเข้าอย่างจริงจัง เพื่อให้การดำเนินการโดยภาพรวมของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้ดำเนินการให้ความรู้โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกว่า 11 โรงงาน
นายมงคลกล่าวต่อว่า ในปี 2560 กรอ.ได้ขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้สารทำความเย็น HFC-32 ในเครื่องปรับอากาศแก่บุคลากรทางการศึกษาของประเทศโดย กรมโรงงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เพื่อส่งเสริมบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงการรักษาชั้นบรรยากาศโอนโซนในการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นอย่างถูกต้อง โดยความร่วมมือดังกล่าว กรมโรงงานฯ และ สอศ.จะร่วมกันจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา Train-the-trainer Workshop ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบเครื่องปรับอากาศ พร้อมจัดหาชุดเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทดแทน จำนวน 150 รายทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 5.5 ล้านบาท เพื่อฝึกปฏิบัติงานจริงตามเทคนิคของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของสถาบันการอาชีวศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
อย่างไรก็ดี สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเตรียมความพร้อมภาคการบริการซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีฝีมือคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานเพื่อสามารถไปประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ประเทศไทยลดปริมาณการใช้สาร HCFCs ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ลดปริมาณการใช้สาร HCFCs และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ด้านนายสาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้โดยวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เรียนสาขาวิชาด้านเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็น HCFCs ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมแต่เป็นสารที่ทำลายบรรยากาศโอโซน ซึ่งจะต้องควบคุม ลด เลิกการใช้ และปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนอื่นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงเข้าสู่การทำงานจริงอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ ที่ยังมีอุตสาหกรรมหลายประเภทยังใช้สารดังกล่าวในการผลิต อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดพิธีลงนามความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยมีนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายสาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม เป็นผู้ลงนาม เมื่อเร็วๆ นี้ ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4228, 0-2202-4104 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *