รองนายกฯ “สมคิด” จี้รัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาท ภายในไตรมาส 1/60 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนจีดีพีเดินหน้าขยายตัวต่อไปได้ ยอมรับขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณ ศก.มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับในทุกมิติ พร้อมเรียกร้องให้ขยับแผนงาน Front-Loaded เร็วขึ้นมาในครึ่งปีแรก
นายสมคิด จาตุศรีทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจว่า ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงไตรมาส 1/60 เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป จากที่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับในทุกมิติ
รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ขอให้รัฐวิสาหกิจเลื่อนแผนงาน หรือโครงการลงทุนให้เร็วขึ้น (Front-Loaded) ซึ่งจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่า จะเริ่มลงในในช่วงครึ่งหลังของปีให้ขยับขึ้นมาเป็นภายในครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ พบว่ามีโครงการที่สามารถ Front-Loaded มาเป็นช่วงครึ่งปีแรกได้ราว 4,426 ล้านบาท รวมทั้งจะสามารถ Front-Loaded โครงการในอนาคตให้มาเริ่มลงทุนได้ภายในปี 2560 ด้วยอีก 15,013 ล้านบาท
“ถ้าการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสแรกปีนี้ไปได้ดี ความเชื่อมั่นทั้งหลายก็จะแข็งแกร่ง และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว โครงการไหนที่ช้า หรือชะลอ เราจะไม่ปล่อยให้ชะลอไปมาก ต้องไปเร่งดูว่า มี process อะไรที่จะทำให้มันไปได้เร็วขึ้น อะไรทำได้เร็วต้องทำ ไม่ใช่แค่ทำตามเป้าหมาย แต่ตั้งทำให้ดีกว่าเป้าหมาย”
อย่างไรก็ดี คาดว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2560 รัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง จะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมายที่ 55,000 ล้านบาท
สำหรับกรณีการแก้ไขเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทาง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลค่างานราว 9.9 หมื่นล้านบาทนั้น นายสมคิด กล่าวว่า หากจะมีการรื้อ TOR ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีนี้
นายสมคิด กล่าวย้ำว่า นโยบายที่มอบหมายให้คือต้องพยายามไม่ให้ช้า ถ้าช้า ต้องให้ช้าน้อยที่สุด เม็ดเงินที่เบิกจ่ายต้องให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจสะสมในปีงบประมาณ 2560 ล่าสุด จนถึงสิ้นเดือนม.ค.60 พบว่า สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 32,509 ล้านบาท คิดเป็น 73% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม
โดยรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณ สามารถเบิกจ่ายได้ 26,224 ล้านบาท คิดเป็น 69% ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีปฏิทิน สามารถเบิกจ่ายได้ 6,285 ล้านบาท คิดเป็น 94% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุน
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนขนาดใหญ่ และสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การประปาส่วนภูมิภาค บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) การเคหะแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่าในช่วงที่ยังเหลืออีก 1 เดือนก่อนจะสิ้นไตรมาสแรกในปีนี้ หากรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่งสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 55,000 ล้านบาท ก็จะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ เติบโตได้ถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้
สำหรับแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 นี้ อยู่ที่ราว 3.58 แสนล้านบาท แบ่งเป็น แผนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามปีงบประมาณ จำนวน 34 แห่ง รวม 1.76 แสนล้านบาท และแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานตามปีปฏิทิน จำนวน 11 แห่ง อีก 1.81 แสนล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 95% ของกรอบเงินลงทุนทั้งปีตามที่ ครม.กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในปี 2559 ที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ขยายตัว 9.8% ไตรมาส 2 ขยายตัว 8.2% ไตรมาส 3 ขยายตัว 10.5% และไตรมาส 4 ขยายตัว 12.3% ซึ่งเฉลี่ยแล้วในปี 2559 การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวได้ 10% และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2559 เติบโตได้ถึง 3.2% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่สวนกระแสโลก
นายเอกนิติ กล่าวถึงโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจมูลค่ารวม 4,440 ล้านบาท ที่จะเร่งรัดให้เร็วขึ้นจากช่วงครึ่งปีหลังมาเป็นภายในครึ่งปีแรกนี้ เช่น โครงการขยายการจำหน่ายพลังไฟฟ้า ของ กฟน. มูลค่า 3,358 ล้านบาท, โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ ของ ปตท. มูลค่า 423 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงระบบวิทยุสื่อสารทดแทนของเดิม ของบริษัทวิทยุการบิน และโครงการขยายจุดให้บริการไปรษณีย์ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น
ส่วนโครงการที่จะเลื่อนการลงทุนเข้ามาเป็นภายในปี 2560 มูลค่ารวม 15,013 ล้านบาท เช่น โครงการของการเคหะแห่งชาติ 10,651 ล้านบาท และโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4,362 ล้านบาท