xs
xsm
sm
md
lg

คิกออฟ 11 ส.ค. เดินหน้า 3 มาตรการอุ้มเอสเอ็มอีถึงเงินทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมนำทัพหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน แถลง 3 มาตรการผลักดันเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น เริ่มคิกออฟ 11 ส.ค.นี้ ประกอบการปรับเงื่อนไขค้ำสินเชื่อเอสเอ็มอีของ บสย. จัดสินเชื่อหนุนเอสเอ็มอีท่องเที่ยว-แฟรนไชส์ และเร่งรัดกองทุนเอสเอ็มอีประชารัฐ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการแถลงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านการเงิน ว่า เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งกองทุนและแหล่งทุนต่างๆ ได้รวดเร็วและจำนวนที่มากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือรวม 3 มาตรการ เริ่มดำเนินการในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) ประกอบด้วย

1. มาตรการช่วยค้ำประกันสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ด้วยวงเงินค้ำประกันรวม 81,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วง 4 ปีแรก ด้วยอัตราร้อยละ 1.75, 1.25, 0.75 และร้อยละ 0.25 ตามลำดับ และให้สถาบันการเงินร่วมชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 2 ถึง 4 ในส่วนที่เหลือ พร้อมกับเพิ่มความรับผิดชอบการจ่ายค่าประกันชดเชยจากเดิมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 23.75 เป็นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ณ วันสิ้นอายุการค้ำประกัน และอนุมัติงบประมาณชดเชยเพิ่มเติมไม่เกิน 8,302.50 ล้านบาท โดยคาดว่า จะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อเพิ่มประมาณ 27,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท หรือ 1.68 เท่า เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 108,000 คน หรือ 4 คน/ราย พร้อมทั้งสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีก 371,000 ล้านบาท

2. จัดให้มีสินเชื่อเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และธุรกิจแฟรนไชส์ พร้อมทั้งยกระดับผู้ประกอบการในชุมชนในการปรับปรุงการดำเนินงานและเสริมสภาพคล่องในการต่อยอดกิจการด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในวงเงินสินเชื่อ 7,500 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดาวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท นิติบุคคลวงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันสามารถใช้ บสย.ช่วยค้ำประกันได้ ตลอดจนรองรับโครงการสินเชื่อแฟกตอริ่งที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ทางการค้าต่างๆ

ทั้งนี้ การพิจารณาสินเชื่อจะครอบคลุมการให้สินเชื่อทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบาย local economy ของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ ตลอดจนการยกระดับเป็นชุมชนและสินค้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.0

และ 3. มาตรการทางการเงินภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 38,000 ล้านบาท ล่าสุดมีผู้สนใจขอวงเงินรวม 18,777 ราย ได้รับอนุมัติแล้ว 3,413 ราย นอกจากมาตรการทางการเงินแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ ยังมีมาตรการพัฒนาเอสเอ็มอีเพื่อลดปัญหาด้านการบริหารจัดการทางการเงิน โดยจากการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ได้เสนอแนวทางในการยกระดับมาตรการในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงินต่อเอสเอ็มอี เช่น การปรับนิยามของเอสเอ็มอี แบ่งตามกลุ่มประเภทธุรกิจและยอดขาย พร้อมจัดตั้งกลุ่มตลาดเพื่อให้ความรู้ด้านการเงินที่เหมาะสม

รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเผยด้วยว่า สำหรับความช่วยเหลือเอสเอ็มอีและวิสาหกิจรายย่อยที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการปรับให้วงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สามารถนำมาใช้ได้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยวงเงินดังกล่าวเป็นสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้และให้สินเชื่ออุทกภัยเพิ่มเติมในการฟื้นฟูกิจการรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ผ่อนชำระนาน 7 ปี นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วยการให้กู้ยืมเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับ Micro SMEs และวิสาหกิจชุมชน วงเงินรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น