สสว. ผนึกกำลังสถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดตัวโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 หนุนรวมกลุ่มเกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวและสมุนไพรไทย 30 เครือข่าย เตรียมพร้อมรับมือตลาดส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 4,000 ราย เกิดการขยายตัวทางธุรกิจไม่น้อยกว่า 75 ล้านบาท
สสว.ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว สสว.ร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการต้นน้ำเป็นหลัก เนื่องจากมีปัจจัยน่ากังวลจากปัญหาด้านวัตถุดิบ เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่า ประกอบกับการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เฉพาะในปี 2560 ประเมินจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่และการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว คาดว่าการส่งออกมะพร้าวของไทยจะมีมูลค่า 17,492 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในระยะยาวเสียเปรียบทั้งด้านต้นทุนและวัตถุดิบ สสว.จึงมุ่งยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่เดิมให้สามารถเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีช่วยปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถสู้กับโรคและแมลงได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการแปรรูปขั้นต้นเพื่อเพิ่มมูลค่า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรหน้าใหม่ หรือเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นให้หันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น พร้อมรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะสามารถรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวรวม 25 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพจำนวน 3,300 ราย เกิดการขยายตัวทางธุรกิจไม่น้อยกว่า 75 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนการดำเนินการธุรกิจได้ราว 84 ล้านบาท เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย(Cluster Development Agent-CDA) จำนวนไม่น้อยกว่า 70 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อจัดสรรพื้นที่ปลูกต่อไป
ในส่วนของอุตสาหกรรมสมุนไพร สสว.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตั้งเป้าสนับสนุให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรจำนวน 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาจำนวน 700 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์ประมาณ 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดเป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาด ผลจากการบริหารจัดการสมุนไพรในท้องตลาดไม่เป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบหลายชนิด และคุณภาพไม่ผ่านมาตรฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อย ทำให้สัดส่วนสถานประกอบการผลิตสมุนไพรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตต่อทั้งหมดนั้นน้อยมาก (ร้อยละ 4.47) จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมให้ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพต่อไป
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในกลุ่มมะพร้าวมีการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 14,544 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ตลาดส่งออกหลักของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนร้อยละ 30.3 รองลงมาคือ สหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 28.3 และ 10.9 ตามลำดับ โดยจีนถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 100.2 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) ซึ่งเป็นผลจากความนิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่มของชาวจีน โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกมะพร้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ กะทิสำเร็จรูป (75.1%) มะพร้าวอ่อน (14.5%) มะพร้าวแห้ง (5.4%) มะพร้าวสด (2.5%) และน้ำมันมะพร้าว(2.4%) โดยผลิตภัณฑ์มะพร้าวสดขยายตัวโดดเด่นที่สุด คิดเป็นร้อยละ 178.9 จากความต้องการของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือน้ำมันมะพร้าว ขยายตัวร้อยละ 60.4
ติดตามรายละเอียดข้อมูลโครงการต่างๆ ของ สสว.ได้ใน www.sme.go.th , face book fanpage : OSMEP สสว. หรือโทร.สอบถามได้ที่ สสว. Call Center 1301