สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าจันทบุรี สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมผู้ประกอบการเกษตรแปลงใหญ่ปลูกทุเรียน พื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมาตรฐาน ThaiGAP ชี้ปัจจุบันมีเกษตรกรรับมาตรฐาน ThaiGAP 30 ราย จากผัก ผลไม้ 70 ชนิด
ดร.รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมด้วยหอการค้าจันทบุรี และสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “มาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP” แก่ผู้ประกอบการผักและผลไม้ และกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP
สำหรับการใช้มาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย แบ่งได้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก มาตรฐาน Primary ThaiGAP เป็นมาตรฐานระดับพื้นฐานสำหรับในประเทศ และระดับพื้นฐานโรงคัดบรรจุ ที่มีข้อกำหนด 6 ข้อใหญ่ 24 ข้อย่อย ที่เน้นเฉพาะระบบความปลอดภัยในการผลิต ทำให้เกษตรกรเข้าใจง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง
ดังนี้ (1) การทำแผนการผลิต วันเก็บเกี่ยว และคาดการณ์ผลผลิต (2) การใช้น้ำในการเพาะปลูก (3) การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย (4) การใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ (5) การเก็บเกี่ยวและจัดการหลังเก็บเกี่ยว และ (6) การบันทึกและการตามสอบ โดยมาตรฐานระดับพื้นฐานนี้จะช่วยให้เกิดระบบความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารในท้องถิ่น เกิดระบบการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน และรองรับตลาด ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงพยาบาล และตลาดสดในท้องถิ่น เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดเล็ก
ขณะที่มาตรฐาน ThaiGAP เป็นมาตรฐานระดับสูงสำหรับในประเทศ หรือโรงคัดบรรจุระดับสูง มีข้อกำหนด 17 ข้อใหญ่ 167 ข้อย่อย มีความละเอียดของข้อกำหนดตลอดห่วงโซ่ของการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผลผลิตและผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งสวัสดิการแรงงาน ตามมาตรฐานสากล
เช่น พื้นฐานด้านฟาร์ม เช่น ประวัติพื้นที่ การจัดการพื้นที่ การจัดการขยะมลพิษและการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น พื้นฐานด้านพืช เช่น การตามสอบ ส่วนขยายพันธุ์ การใช้ปุ๋ย ระบบการให้น้ำการให้ปุ๋ยทางน้ำ แหล่งที่มาของน้ำที่ใช้ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การจัดเก็บสารเคมีจำกัดศัตรูพืช เป็นต้น
การจัดการก่อนการเก็บเกี่ยว เช่น คุณภาพน้ำที่ใช้ผสมสารเคมี การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น การเก็บเกี่ยว เช่น การบรรจุในแปลงผลิต เป็นต้น การจัดการผลผลิต เช่น หลักการด้านสุขอนามัย อุปกรณ์หรือบริเวณที่สะอาด บริเวณบรรจุและจัดเก็บ การล้างผลผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น โดยมาตรฐานระดับสูงสำหรับในประเทศนี้จะช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการระดับกลาง และรองรับตลาดผู้ค้าปลีกและค้าส่ง เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดกลาง
และสุดท้ายกับมาตรฐาน ThaiGAP ระดับส่งออกต่างประเทศ หรือโรงคัดบรรจุระดับสูง (หรืออาจเรียกได้ว่า Global GAP) เป็นมาตรฐานขั้นสูง มีข้อกำหนด 26 ข้อใหญ่ 234 ข้อย่อยโดยประมาณ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เทียบเท่า (benchmark) กับ Global G.A.P. มีข้อกำหนดเป็นภาษาไทย เข้าใจง่าย มีความละเอียดของข้อกำหนดตลอดห่วงโซ่ของการผลิต เพื่อความปลอดภัยของผลผลิตและผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งสวัสดิการแรงงาน ตามมาตรฐานสากล และระดับส่งออกต่างประเทศ มาตรฐานขั้นนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ และเกิดระบบความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารระดับประเทศ เรียกได้ว่าเหมาะสำหรับกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ โดยมาตรฐานทั้ง 3 ระดับนี้ผู้บริโภคล้วนสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังเกษตรกรที่ทำการผลิตได้ โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (QR Code) ซึ่งมีหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัยของผลผลิตที่ได้บริโภค เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
ด้าน นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ภารกิจของโปรแกรม ITAP สวทช. คือสนับสนุน SMEs ไทย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิตของผู้ประกอบการ หลังจากสนับสนุนให้งบประมาณในการดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ระหว่างเดือนตุลาคม 2557-ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 30 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP และโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559-ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP โดยชนิดผักและผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมากกว่า 70 ชนิด เช่น เมลอน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *