xs
xsm
sm
md
lg

ทุเรียนออนไลน์! ชาวสวนยะลาเปิดจองแล้ว “หมอนทอง” ทางหน้าเพจในเฟซบุ๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - เกษตรกรสวนทุเรียนหมอนทอง อำเภอเบตง จ.ยะลา เปิดจองทุเรียน ระบุปีนี้ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปริมาณน้อย เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง
 

 
วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนทุเรียน นายวรศักดิ์ พร้อมกิจจานนท์ เลขที่ 74/1 หมู่ที่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ได้เฝ้าดูแลสวนทุเรียนหมอนทอง พวงมณี ทองย้อย ก้านยาว ชะนี และเมาหว่อง และอู่ชี่ ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์จากประเทศมาเลเซีย บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ต้นปีที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาภัยแล้งจนทำให้ต้นทุเรียนพันธุ์ต่างๆ หลายต้นเกือบยืนต้นตาย แต่ก็ได้ใช้แนวทางการเกษตรวิธีใหม่ และการเกษตรแบบพอเพียง ซึ่งต่อน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาหล่อเลี้ยงต้นทุเรียนที่กำลังออกดอก รอติดผลให้สามารถยืนต้น และให้ผลผลิตตามที่คาดหวังไว้
 

 
โดย นายวรศักดิ์ พร้อมกิจจานนท์ เกษตรเจ้าของสวนทุเรียน เปิดเผยว่า ปีนี้สวนของตนเองจะได้รับผลผลิตเป็นทุเรียนหมอนทอง พวงมณี ทองย้อย ก้านยาว ชะนี แบบคัดไซส์จำนวนทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกัน โดยรุ่นแรกนั้น จะสามารถส่งให้แก่ลูกค้าที่สั่งจองโดยเฉพาะชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เดินทางมาซื้อถึงสวน และที่จองผ่านสื่อออนไลน์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ “พี่หมู” บนหน้าเพจของตนเองได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่จะมาถึง โดยตนเองได้เปิดให้ลูกค้าสั่งจองทุเรียนในราวต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นทุเรียนหมอนทอง และพันธุ์อื่นๆ รุ่นแรกที่ให้ผลผลิต
 

 
นายวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้หากเกษตรกรในพื้นที่รายใดมีการจัดการบริหารดูแลสวนทุเรียนอย่างดีก็จะทำให้มีทุเรียนถึง 3 รุ่น ให้มีทุเรียนกินกันตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ต้นทุเรียนออกดอกไม่พร้อมกัน แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอาจจะมีผลผลิตน้อยเนื่องจากขาดแคลนน้ำในการใช้หล่อเลี้ยงสวนทุเรียน จนทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย หรือไม่ก็ได้รับผลทุเรียนที่ไมได้ขนาด หรือไม่ได้มาตรฐานที่จะส่งออกสู่ท้องตลาด
 

 
“ทั้งนี้ สำหรับทุเรียนหมอนทอง และพันธุ์อื่นๆ ในสวนของตนเองนั้นจะไม่มีการส่งขายตามท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากทุเรียนทั้งสวนจะถูกลูกค้าสั่งจองจากพ่อค้ามาเลเซีย โดยในปีนี้เชื่อว่า ราคาของทุเรียนจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาความแห้งแล้ง พื้นที่ประสบภัยแล้ง ทำให้สวนทุเรียนหลายแห่งไม่มีผลผลิตเหมือนที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ปริมาณทุเรียนในพื้นที่จะมีจำนวนน้อยลง และจะทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น” นายวรศักดิ์ กล่าว
 

 
นายวรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสวนทุเรียนหมอนทอง และพันธุ์อื่นๆของตนเองนั้นเป็นสวนแบบเกษตรอินทรีย์ ผสม ปุ๋ยเคมีโดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ โดยเมื่อทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วก็จะทำการตัดหญ้าตามโค่นต้นทุเรียน และผลไม้อื่นๆ แล้วจึงค่อยใส่ปุ๋ยเคมี และจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใส่ จึงกล้าที่จะรับประกันความปลอดภัย และความอร่อย โดยในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมานั้น มีลูกค้าจากประเทศมาเลเซียสั่งจองทุเรียนหมอนทอง พวงมณี ก้านยาว จากสวนของตนเองมาตลอดโดยจองผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งในปีนี้ก็มีลูกค้าเริ่มสอบถามกันมาตั้งแต่ทุเรียนเริ่มออกดอกตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม และได้สั่งจองทันทีเมื่อเปิดให้สั่งทุเรียนในเดือนกรกฎาคม
 






 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น