xs
xsm
sm
md
lg

ยึด “เชียงใหม่โมเดล” เร่งอนุมัติกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 1%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank)
เตรียมนำ “เชียงใหม่โมเดล” ขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท จัดอันดับความสำคัญของกิจการ เพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณาอนุมัติได้ง่ายและรวดเร็ว เชื่อปล่อยหมดภายใน 6 เดือน ด้าน ธพว.เผยยอดสินเชื่อใหม่ 5 เดือนแรก 13,000 ล้านบาท เชื่อทั้งปีเข้าเป้า 30,000 ล้านบาท ส่วนหนี้เสียลดเหลือระดับ 17%

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs กลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด ความคืบหน้าล่าสุดถึงวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้มียอดยื่นขอสินเชื่อจากกองทุนดังกล่าวมาแล้วมูลค่าถึง 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นได้นำร่องอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการจังหวัดละ 2 ราย หรือประมาณ 154 รายทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้เงินจากกองทุนดังกล่าวส่งไปถึงมือผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว จะนำโมเดลการทำงานที่ จ.เชียงใหม่มาใช้ โดยใช้กระบวนการนำผู้ประกอบการ จ.เชียงใหม่ทั้งหมดที่สนใจเข้าโครงการมาเข้าโปรแกรมลำดับกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อจังหวัด เพื่อนำมาคิดเป็นคะแนนเพื่อจัดอันดับความสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อก่อนหรือหลัง ซึ่งช่วยให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ จ.เชียงใหม่มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ 60 ราย และจะเข้าพิจารณาประชุมคณะอนุกรรมการจังหวัดในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ และคาดว่าภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้จะปล่อยเงินได้ครบทุกราย

นายมงคลเผยต่อว่า จากความสำเร็จของโมเดล จ.เชียงใหม่ ทางคณะกรรมการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจะนำรูปแบบนี้ขยายไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อทำได้รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพ สามารถปล่อยสินเชื่อทั้งหมด วงเงิน 20,000 ล้านบาท ถึงมือผู้ประกอบการรายย่อยได้ภายใน 6 เดือนตามเป้าหมายของโครงการ

กก.ผจก.ธพว.เผยด้วยว่า สำหรับยอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ของธนาคารในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมามียอดรวมกว่า 13,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเชื่อว่าทั้งปีนี้จะมียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่รวมกว่า 30,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อรวมสะสมทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท

ส่วนยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 17-18% จากยอดสินเชื่อรวมประมาณ 97,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,600 ล้านบาท โดยเชื่อว่าถึงสิ้นปีนี้จะลดเหลือระดับไม่เกิน 17% เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการในหลายๆ ด้าน เช่น สำหรับลูกค้ารายใหม่ นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันธนาคารมีมาตรการสนับสนุนด้านความรู้ควบคู่กับเงินทุน รวมถึงส่งเสริมให้เข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำให้มีศักยภาพทางธุรกิจสูงขึ้น และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นด้วย โอกาสจะกลายเป็นหนี้เสียจึงลดตามไปด้วย

ในขณะที่ลูกค้าเก่า ซึ่งเป็นหนี้เสีย ในส่วนของรายใหญ่วงเงินเกิน 15 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ยอมเข้าโปรแกรมฟื้นฟูกิจการ ทางธนาคารทำการขายทอดตลาดต่อไป ซึ่งจำนวนนี้มีประมาณ 160 ราย วงเงินรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้เสียรายเล็กๆ ที่มีจำนวนประมาณ 20,000 ราย วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท กลุ่มนี้ทางธนาคารจะพยายามช่วยเหลือ โดยปรับโครงสร้างหนี้เพื่อจะให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น