xs
xsm
sm
md
lg

TCDC ปลุก ผปก.ไทยใช้ Design Thinking เพิ่มมูลค่า เสริมแกร่งธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

งานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ “เชียงใหม่ดีไซน์วีค”
TCDC ชูอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และออกแบบ เพิ่มศักยภาพเชิงธุรกิจ ช่วยต่อยอดและเพิ่มมูลค่า แนะผู้ประกอบการใช้ Design Thinking ตอบโจทย์ลูกค้าได้โดนใจ และขยายตลาดกว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมเปิดตัว 4 ต้นแบบแห่งความสำเร็จ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย เนื่องการประเทศไทยมีรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านการออกแบบยังเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาธุรกิจ หากผู้ประกอบการสามารถใช้หลัก “การคิดเชิงออกแบบ” หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่ทำให้เข้าใจถึงปัญหา และความต้องการของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาธุรกิจด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการกลุ่มลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและกว้างขวางขึ้น โดยกระบวนการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในรูปแบบการร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง (Co-creation) โดยกระบวนการดังกล่าวถือเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในปี 2560

นายอภิสิทธิ์กล่าวเสริมว่า เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้จัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ “เชียงใหม่ดีไซน์วีก” โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวนมากโดยในจำนวนดังกล่าวพบว่ามีตัวอย่างผู้ประกอบการที่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 200% และขยายฐานลูกค้าให้กับธุรกิจ อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (Food) ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารสำเร็จ “อีสคิทเช่น” ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนออาหารไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น และสามารถขยายตลาดไปทั่วโลกด้วยมาตรฐานเดียวกัน

อีกทั้งกลุ่มบริการ (Service) ด้วยธุรกิจ “โอเอซิสสปา” กับบริการนวด “เดอะโวยาดออฟโกลเด้นล้านนา” โดยสามารถประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงเข้าสู่ธุรกิจบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ส่วนกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน (Furniture) กับ เฟอร์นิเจอร์ขนมใส่ไส้แบรนด์ “โมเบลลา” สามารถนำเสนอเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย หรือมีการคิดค้นเพื่อให้ตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานของผู้บริโภคได้มากขึ้น และกลุ่มเครื่องแต่งกาย (Apparel) โดยธุรกิจ “จรรยา สตูดิโอ” สร้างสรรค์กระเป๋าผสมฝ้ายปั่นมือและไหมสร้างความแปลกใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายทอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ทุกวัน และนำเสนอความเป็นตัวตนของผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงในสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์จะนำไปสู่จุดขายที่เป็นข้อแตกต่าง และเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยหากผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจในด้านนี้มากขึ้นแล้วนั้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามผ่านประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศไทยสูงตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด
“อีสคิทเช่น” ปรุงรสไทยแบบสำเร็จรูป

นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ “อีสคิทเช่น” เกิดจากแนวคิดที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารสำเร็จรูปที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งอีสคิทเช่นจะมีความโดดเด่นที่การนำเสนอรสชาติของอาหารไทยผ่านผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหารแบบฟิวชัน ที่ถูกปรับรสชาติให้เข้ากับชาวต่างชาติ ลดความเผ็ด เพิ่มความเข้มข้นและความหนืด เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำอาหารชนิดอื่นที่มีรสชาติความเป็นไทยได้ เช่น นำไปปรุงเป็นซอสสปาเกตตี นำไปหมักสเต๊ก หรือนำไปประกอบอาหารอื่นตามความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ผลิตภัณฑ์อีสคิทเช่นนี้เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 400% สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้นอย่างชัดเจน

นายอนุพล อยู่ยืน ผู้อำนวยการการออกแบบ บริษัท โมเบลลา แกลเลอเรีย จำกัด
“โมเบลลา” เฟอร์นิเจอร์ไอเดียจากขนมไทย

นายอนุพล อยู่ยืน ผู้อำนวยการการออกแบบ บริษัท โมเบลลา แกลเลอเรีย จำกัด กล่าวว่า ผลงานทุกชิ้นของ “โมเบลลา” ผ่านกระบวนการออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และแนวคิดการเริ่มต้นออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยและความเป็นเอเชีย เริ่มต้นจากการสังเกตว่า เฟอร์นิเจอร์ในท้องตลาดเกือบทั้งหมดเป็นการดีไซน์แบบตะวันตก อันนำไปสู่การเล็งเห็นโอกาสที่จะประยุกต์และถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรมไทยและเอเชีย ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของโมเบลลามีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์และมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นที่รู้จักของต่างประเทศในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และสามารถขยายฐานลูกค้าได้ปีละกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยหนึ่งในช่องทางหลักที่ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้คือ การเข้าร่วมงานจัดแสดงผลงานออกแบบ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้เข้าร่วมเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ และทำให้คอลเลกชัน “ตะกร้อ” ที่จัดแสดงในงานนั้นได้รับกระแสตอบรับที่ดี และเป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและคนต่างชาติมากขึ้น ในปีนี้จึงได้เข้าร่วมเทศกาลนี้อีกครั้ง พร้อมนำเสนอคอลเลกชัน “ใส่ไส้” เฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขนมที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย สามารถใช้งานได้ 2 รูปแบบทั้งเป็นเก้าอี้นั่ง และเตียงนอน ทั้งนี้ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทุกขั้นตอนของผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้สูงสุดถึงหลาย 10 เท่าตัว


นายภาคิน พลอยภิชา ประธานกรรมการผู้จัดการ ดิโอเอซิสสปา (ประเทศไทย)
“ดิโอเอซิสสปา” นวดผสมวัฒนธรรมล้านนา

นายภาคิน พลอยภิชา ประธานกรรมการผู้จัดการ ดิโอเอซิสสปา (ประเทศไทย) กล่าวว่า ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความต้องการที่จะนำเสนอวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงเกิดเป็นบริการนวดสุดพิเศษของโอเอซิสสปา ภายใต้ชื่อ “เดอะ โวยาจ ออฟ โกลเด้น ล้านนา” (The Voyage of Golden Lanna) ที่ประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเข้าสู่การบริการนวดในรูปแบบ ภูมิปัญญาล้านนาไทยผสานสุนทรียศาสตร์ด้านดนตรีบำบัด ร่วมกับการนวดน้ำมันหอมระเหยผสมทองคำที่ปรุงขึ้นพิเศษ ผ่านการนวด 4 มือสูตรเฉพาะ จากผู้นวด 2 คนในเวลาเดียวกันเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย โดยดนตรีที่ใช้ประกอบการนวดได้รับการประพันธ์โดย อาจารย์สุพจน์ สุขกลัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปินล้านนา เป็นการนวดบำบัดที่มีเอกลักษณ์โดยมีการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับการบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้สัมผัสบริการสปาไทยที่แปลกใหม่

นางสาวณัชชา อาทิตย์อังกูร นักออกแบบและผู้จัดการทั่วไป จรรยา สตูดิโอ
“จรรยา สตูดิโอ” มิติใหม่กระเป๋าผสมฝ้ายปั่นมือและไหม

น.ส.ณัชชา อาทิตย์อังกูร นักออกแบบและผู้จัดการทั่วไป จรรยา สตูดิโอ กล่าวว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของจรรยา สตูดิโอ นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนให้มีกลิ่นอายอยู่ในสิ่งของที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน คอลเลกชันล่าสุดของจรรยา สตูดิโอ จึงนำเสนอ “เทคนิคการจักสานและก่อสร้างงานไม้ไผ่” คอลเลกชันกระเป๋าที่ใช้สีย้อมจากธรรมชาติ ทำจากด้ายฝ้ายปั่นมือผสมไหม และสายหนังแท้ ซึ่งเป็นการนำเสนองานหัตถกรรมแบบชุมชนมาประยุกต์ใช้ผลิตเป็นกระเป๋าที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน ตัวกระเป๋าผลิตจากเส้นไหมเพื่อเป็นเส้นยืน เพิ่มความเงางาม ความละเอียด และความนุ่มลื่นน่าสัมผัส ประกอบกับด้ายฝ้ายปั่นมือที่ใช้เป็นเส้นพุ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และทำให้ได้เป็นพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ เทคนิคการทอที่ใช้เป็นการย้อมเส้นด้ายก่อนทอเพื่อที่จะได้กำหนดสีและพื้นผิวได้ตามที่ออกแบบไว้ ตัดเย็บด้วยการพับมุม เล่นลวดลายด้วยการจับขอบ ผูกไขว้ ซ้อนทับ จนออกมาเป็นกระเป๋าที่มีพื้นผิวคล้ายผิวตอกไผ่ โดยกระบวนการทำงาน และการผลิตเส้นฝ้าย เป็นการสร้างงานจากแรงงานชุมชนเพื่อนำมาต่อยอดเป็นสินค้าดีไซน์เฉพาะตัวของจรรยา สตูดิโอ ทั้งนี้ การเติมความคิดสร้างสรรค์เข้าสู่ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย สามารถสร้างมูลค่าตลาดที่สูงขึ้นจากการสร้างเรื่องราวและใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้สินค้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น