ธพว.โชว์ผลงาน 11 เดือนกำไรกว่า 1.5 พันล้านบาท ลดหนี้เสียเหลือ 1.88 หมื่นล้านบาท ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่เกินหมื่นราย พร้อมชูบทบาทเสริมแกร่งผู้ประกอบการทะลุเป้ากว่า 4,200 รายต่อยอดร่วมลงทุน และให้เงินในระบบนิเวศพัฒนา SMEs Ecosystem กว่า 600 ล้านบาท พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ ชำระเงินทันใจผ่าน Internet Banking ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนให้ SMEs
นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานเดือนพฤศจิกายน 2559 มีกำไรสุทธิรวม 1,594 ล้านบาท เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันกับปี 2558 มีกำไรสุทธิรวม 1,248 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 346 ล้านบาท คิดเป็น 27.72% ทั้งนี้เป็นผลมาจากธนาคารสามารถขยายสินเชื่อคุณภาพเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการหนี้ NPL ได้ตามเป้าหมาย โดยเดือน พ.ย. 2559 มียอด NPL ลดลงเหลือ 18,892 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันกับปีที่แล้วมียอด NPL 26,154 ล้านบาท ลดลง 7,262 ล้านบาท ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศรวม 31,000 ล้านบาท แก่ลูกค้าจำนวน 10,000 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 3.1 ล้านบาท
นอกจากนั้น ธนาคารฯ ยังเน้นบทบาทการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยในปี 2559 ณ สิ้น พ.ย. 2559 นั้น ตั้งแต่ต้นปี 2559 ธนาคารมีกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรม สัมมนา และให้คำปรึกษาแนะนำในโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (Startup) โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (Regular/Stronger) โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ SMEs (Turnaround) โครงการบัญชีเดียว โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมการพัฒนา รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,298 ราย จากเป้าหมาย 4,000 ราย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รวมจำนวน 1,005 ราย และเพิ่มประสิทธิผลได้จำนวน 505 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 500 ราย ยอดขายเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีประมาณ 600 ล้านบาท และสร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท อีกทั้งในปีหน้า (2560) ธนาคารมีนโยบายสั่งการให้ปรับแผนการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้มข้นขึ้น
ส่วนการร่วมลงทุนในกิจการ SMEs และสนับสนุนระบบนิเวศพัฒนา SMEs (SMEs Ecosystem) จำนวนกว่า 600 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินร่วมลงทุนในกิจการของผู้ประกอบการจำนวน 13 ราย วงเงิน 212 ล้านบาท และเตรียมนำเสนอขออนุมัติเพิ่มอีกจำนวน 7 ราย วงเงิน 135 ล้านบาท พร้อมทั้งให้เงินสนับสนุน Ecosystem จำนวน 350 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ช่องทางการขายผ่าน E-Commerce ในระดับสากล เช่น Alibaba.com และมีผู้ประกอบการจำนวน 8 รายได้รับรางวัล Asia Pacific ICT Alliance Awards (APITA) ที่ประเทศไต้หวัน
นายสมชายกล่าวอีกว่า นอกจากการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งและเข้าร่วมลงทุนในกิจการ SMEs แล้ว ธพว.ยังได้เดินหน้าพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อรองรับการบริการแก่ลูกค้า เพื่อการตอบสนองการบริการลูกค้าผ่านระบบ Internet Banking ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวก มุ่งการพัฒนาสู่ยุค 4.0 รองรับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อการก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. ให้ข้อมูลเสริมว่า การเพิ่มบริการชำระเงินทันใจผ่านระบบ Internet Banking ที่จะเปิดให้บริการในต้นปี 2560 เป็นบริการเพื่อเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่คำนึงถึงผู้ประกอบการเป็นสำคัญ โดยมีประโยชน์ถึง 5 ข้อ คือ (1) ความสะดวกที่ไม่ต้องใช้ใบแจ้งหนี้ ลูกค้าจะชำระเงินเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ (2) ความปลอดภัยที่ไม่ต้องถือเงินสดติดตัว (3) ประหยัดค่าธรรมเนียมเพียง 15 บาทเท่านั้น สามารถชำระได้หลายบัญชีในคราวเดียว ซึ่งลูกค้าธนาคาร 32% มีมากกว่า 1 บัญชีสินเชื่อ (4) ลูกค้าสามารถตรวจสอบประวัติการชำระเงินย้อนหลังได้ถึง 6 เดือน (5) ช่วยลูกค้ารองรับนโยบาย National E-Payment ของรัฐบาลในอนาคต โดยคาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการหลังเปิดให้บริการกว่า 10,000 ราย หรือกว่า 20,000 บัญชี เป็นจำนวนเงินกว่า 42,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ธพว.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการใช้ระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) กับ นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) เพื่อใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ สรอ.จัดวางไว้ในรูปแบบสาธารณูปโภคกลางที่เรียกว่าระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) แก่ ธพว. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐเพื่อมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผู้ประกอบการในอนาคต 3 ประเด็นหลัก คือ (1) ใช้เป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ สำหรับให้ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน (2) ใช้สำหรับให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชัน โดย ธพว.จะสร้างระบบ SME Store ให้ผู้ประกอบการ (3) ใช้เป็นตลาดกลางในการค้าขายของผู้ประกอบการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างระบบคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เองทั้งระบบ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ระบบ IT เพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเอง และอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
นอกจากนี้ ธพว.ยังได้แนะนำโปรแกรมการทำเอกสารการค้า ภาษี บัญชี งบการเงิน ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างสมบูรณ์ เชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสียทางการค้าครบถ้วนถูกต้อง จากนายภีม เพชรเกตุ เจ้าของและผู้ก่อตั้ง peakengine.com ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดซอฟต์แวร์จากองค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *