xs
xsm
sm
md
lg

SME BANK เร่งแก้หนี้เสีย-ยันไม่นิ่งนอนใจ-เน้นพยุงเดินหน้าต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอีแบงก์ ยันไม่นิ่งนอนใจกรณีหนี้เน่าเพิ่ม ระบุดูแล-ช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ ทั้งด้านปรับโครงสร้างหนี้-ไกล่เกลี่ย วอนผู้ประกอบการเข้ามาหารือ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. : SME Development Bank) เปิดเผยว่า ธพว.รวมถึงธนาคาของรัฐแต่ละแห่งไม่ได้นิ่งนอนใจต่อกรณีกระแสข่าวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ดังจะเห็นได้จากนโยบาย ธพว.ที่เน้นภารกิจให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหา พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ และเชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีขึ้นอย่างชัดเจน

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.-ต.ค. 2559) ธพว.สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ดำเนินปรับเงื่อนไข และปรับโครงสร้างหนี้ได้จำนวนกว่า 1,800 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ได้ให้ความช่วยเหลือ และคำปรึกษาไปแล้ว 12,000 ราย จำนวนเงิน 13,000 ล้านบาท ปรับสถานะเป็นลูกหนี้ที่ชำระตามปกติไม่มีฐานะเป็น NPL และสามารถชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น เจรจาปรับเงื่อนไข (DR) และปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) กว่า 8,800 ราย วงเงินกว่า 11,000 ล้านบาท ช่วยปรับชั้นลูกหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์สามารถชำระหนี้ได้กว่า 700 ราย วงเงินกว่า 470 ล้านบาท จัดเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 รวมจำนวนกว่า 2,100 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

“ธพว.พยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ และให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ขอเพียงผู้ประกอบการ SMEs อย่าหนีปัญหา ไม่ต้องกลัวที่จะมาพูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร สถานการณ์เช่นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแข่งขันเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้น ธพว.ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ SMEs”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถติดต่อเจรจาลดจำนวนเงินค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือประนอมชำระหนี้ โดยของดการขายทอดตลาดหลักประกันชั่วคราว หรือขอความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จากธนาคารได้ อาทิ ด้านการตลาด ด้านการบริหารจัดการ ด้านภาษี ด้านการเงิน ตลอดจนด้านการปรับปรุงดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สร้างมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสู่ตลาดโลกผ่าน Alibaba.com โดยติดต่อผ่าน Call Center 1357
กำลังโหลดความคิดเห็น