ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2559 แม้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ดูไม่เอื้ออำนวยนัก แต่ในส่วนของภาครัฐก็พยายามผลักดันมาตรการต่างๆ เข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้ายปี เพื่อสร้างบรรยากาศของการจับจ่ายใช้สอย และฟื้นการลงทุนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยหวังว่าจะสร้างโมเมนตัมให้เกิดแรงกระเพื่อมของเศรษฐกิจลากยาวไปถึงปีหน้าได้
ในส่วนของ บสย. หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ในวงเงิน 100,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ PGS 5 โดยจัดงานเปิดตัวโครงการ และลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ 14 ธนาคาร และจะทยอยลงนามจนครบ 19 ธนาคารภายในสิ้นปี 2559 ซึ่งหลายธนาคารก็ส่งสัญญาณว่า “พร้อมปล่อยสินเชื่อทันที” โดยใช้ บสย. ค้ำประกันฯ ผ่านโครงการนี้
เชื่อว่าผลตอบรับดังกล่าว จะทำให้ยอดค้ำประกันฯ ในโครงการ SMEs ทวีทุนจนถึงสิ้นปี 2559 พุ่งขึ้นไปถึง 3,000 ล้านบาท และคาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการกว่า 1 ปีครึ่ง (สิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกัน30 มิถุนายน 2561) บสย. จะสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 33,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 168,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบ 458,000 ล้านบาท
ข่าวดีของวงการ SMEs และเศรษฐกิจไทยก็คือ กลไกนี้จะเป็นอีกตัวจักรสำคัญที่จะสร้างบรรยากาศการลงทุนของผู้ประกอบ SMEs ให้กลับมาคึกคัก และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
โครงการค้ำประกันฯ SMEs ทวีทุน ยังมีการปรับจากโครงการที่แล้ว โดยขยายระยะเวลาค้ำประกันจาก 7 ปี เป็น 10 ปี เพื่อให้การช่วยเหลือ SMEs เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุน SMEs ที่เข้าระบบฐานภาษีได้รับสิทธิประโยชน์ และความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ โครงการดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติเพิ่มเติมว่า ต้องเป็น SMEs ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ทั้งที่เป็น SMEs ประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลโดยมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ในรอบปีปัจจุบันหรือ 1 ปีก่อนหน้า
คุณสมบัติข้อนี้ นอกจากตอบรับนโยบายของภาครัฐแล้ว ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบ เพื่อสามารถได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในอนาคต
ความสำคัญของโครงการค้ำประกันฯ SMEs ทวีทุน ยังช่วยให้มิติการช่วยเหลือผู้ประกอบการของ บสย. ซึ่งเป็นหน่วยงานค้ำประกันของรัฐบาล เกิดความครบถ้วนมากขึ้น นอกเหนือจาก 2 โครงการฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ โครงการค้ำประกันผู้ประกอบการรายย่อย Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ในเวลานี้
ความครบถ้วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกกลุ่ม และความพร้อมทั้งของ บสย. และธนาคารต่างๆ ที่ขานรับมาตรการนี้ เพื่อร่วมกันปล่อยกู้และค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs
นับเป็น “ข่าวดี” ส่งท้ายปี 2559 ที่เชื่อว่าจะ “แรงส่ง” สำคัญต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *