ประโยคเก๋ๆ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” มักกล่าวถึงการพาธุรกิจรอดพ้นสถานการณ์อันตรายไปสู่ความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริง ย่อมต้องมีทั้งผู้เดินถูกทิศและผิดทาง อย่าง “สุพัฒน์ มนตลักษณ์” นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงที่ประเมินสถานการณ์พลาด และขาดการวางแผนรอบด้าน ทำให้ “โอกาส” ธุรกิจที่เข้ามากลายเป็น “วิกฤต” จน เกือบปิดเส้นทางอาชีพ นับเป็นบทเรียนราคาแพง ที่เจ้าตัวถ่ายทอดประสบการณ์แบบหมดเปลือก
@@@ ยึดแต่ลูกค้ารายใหญ่ ไม่แคร์รายย่อย @@@
สุพัฒน์ มนตลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มนตลักษณ์ กรุ๊ป จำกัด วัย 38 ปี เล่าว่า จบคณะวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มทำธุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศ หรือเรียกกันติดปากว่า “แอร์” ในอาคาร สำนักงาน โรงงาน และที่พักอาศัย ตั้งแต่ 7 ปีก่อน
ที่ผ่านมา ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง จนเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจชะลอตัว องค์กรขนาดใหญ่เริ่มหยุดการสร้างอาคารหรืออปรับปรุงสถานที่ ทำให้การวางระบบเครื่องปรับอากาศหยุดตามไปด้วย ในขณะที่บริษัทฯ ยึดรับงานแต่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น มีฐานลูกค้ารวมกันแค่ 8-9 รายเท่านั้น ส่วนด้านงานซ่อมบำรุงต่างๆ ไม่เคยแคร์ เพราะมองว่ากำไรน้อย ไม่คุ้มค่าเวลาที่จะไปทำ ยิ่งกว่านั้น ช่วงธุรกิจขาขึ้น ยังทุ่มจ้าง “เอ็นจีเนีย” ค่าตัวสูงหลายราย หมายจะให้มารับคุมโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับ แต่เมื่อไม่เป็นอย่างที่คิด องค์กรใหญ่หยุดสั่งงาน รายได้ที่คิดว่าจะได้ กลับกลายเป็น “ศูนย์” เคยวิกฤตถึงขั้น เวลา 3 เดือน ไม่มีลูกค้าสั่งออเดอร์แม้แต่รายเดียว ในขณะที่บริษัท กลับมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
ภาวะดังกล่าว ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง ไม่มีเงินไปจ่ายค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศต่างๆ ทำให้เสียเครดิตต่อคู่ค้าไป จากเคยซื้อสินค้ามูลค่าเป็นล้านบาทได้โดยใช้เครดิต กลายเป็นต้องซื้อ “เงินสด” เท่านั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจอยู่ในอาการโคม่า
“ตอนที่ผมเริ่มทำธุรกิจรับออกแบบและวางระบบเครื่องปรับอากาศ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ในเมืองไทยยังมีคู่แข่งน้อย ซึ่งธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ผมจะเน้นเฉพาะการออกแบบและติดตั้งเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นเรื่องให้บริการซ่อมบำรุง เนื่องจากที่ผ่านมา เรามองว่า กำไรจากการออกแบบและติดตั้ง สูงกว่ารายได้จากการซ่อมบำรุงมาก จนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว องค์กรหรือบริษัทใหญ่ ไม่มีการลงทุนสิ่งก่อสร้าง หรือปรับปรุงสถานที่ใหม่ๆ เพิ่มเติม”
“จากที่ยอดขายและรายได้ลดลง ตามด้วยทำงานเสร็จแล้ว แต่กลับเก็บเงินไม่ได้ หรือถูกเลื่อนการชำระค่าบริการ และกระทบเสียเครดิตการซื้อสินค้าจากซับพรายเออร์ ทำให้การจะซื้อสินค้าหรืออุปกรณีใดๆ ก็ตาม ต้องซื้อสินค้าทุกอย่างด้วย “เงินสด” เท่านั้น กระทบตามด้วยทำให้เงินทุนหมุนเวียนลดลง เงินสดที่สำรองเตรียมไว้ ต้องเอาไปใช้จ่ายส่วน “Fixed cost” (ต้นทุนคงที่) ทั้งค่าบริหารจัดการ ค่าแรงคนงาน จนไม่มีทุนจะซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะไปรับงานใหม่ได้” สุพัฒน์ เล่าจุดเริ่มต้นวิกฤต และเผยต่อว่า
“เมื่อก่อนผมมี Fixed cost ประมาณเดือนละ 4 แสนบาท มีเงินสดสำรองประมาณ 2 ล้านบาท เมื่อเกิดวิกฤต ต้องเอาเงินสดส่วนนี้ไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ แทนที่จะได้เป็นเครดิต มันกระทบต่อไปถึง เวลามีออเดอร์เข้ามา เราก็ต้องลังเลว่า จะรับงานนี้ดีหรือไม่ เพราะถ้าเอาเงินสดไปลงทุนซื้ออุปกรณ์ ก็ต้องรออีก 2 เดือน กว่าจะได้ค่าจ้างกลับมา แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีภาระต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้องทุกสิ้นเดือน มันเลยกลายเป็นปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดทุนหมุนเวียน”
@@@ ปรับตัวหารายได้จากบริการซ่อมล้างแอร์ @@@
วิกฤตที่เกิดขึ้น นักธุรกิจหนุ่ม กลับมาย้อนดูตัวเองถึงความผิดพลาดที่ผ่านมา ประเด็นหลักคือ วางแผนธุรกิจผิดพลาด ที่แล้วมา มุ่งเน้นแต่รับงานออกแบบและวางระบบปรับอากาศให้องค์กรใหญ่ มูลค่าโครงการสูง ซึ่งมีลูกค้าหลักแค่ 8-9 รายต่อปีเท่านั้น ส่วนงานซ่อมบำรุง ล้างเครื่องปรับอากาศเล็กๆ ที่กำไรต่อหน่วยน้อย แต่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก กลับมองข้ามมาตลอด เมื่อเกิดวิกฤตลูกค้ารายใหญ่หายไปทีละราย ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบขั้นรุนแรง จากโดยเฉลี่ยเคยมีผลประกอบการประมาณปีละ 9 ล้านบาท ตกไปเหลือปีละแค่ 3 ล้านบาทเท่านั้น
“เมื่อก่อนธุรกิจของผมที่เติบโตขึ้นมาได้ มันมีแต่หินก้อนใหญ่วางอยู่ข้างบน แต่ไม่ก้อนกรวด หรือเม็ดทราย คอยอุ้มประคองอยู่เป็นฐาน ในอดีต แค่เจ้าใหญ่สั่งงานผมแค่ 2 โครงการ ผมอยู่ได้ทั้งปีแล้ว แล้วผมจะไปแคร์กับงานเล็กๆ ทำไม แถมผมยังไปลงทุนเพิ่มจ้างบุคลากรเอ็นจีเนียมาเพิ่มด้วย ซึ่งค่าจ้างสูงมาก เพราะตอนนั้น เราคิดว่าเป็นโอกาส จนวันหนึ่ง มันเกิดวิกฤต ลงทุนจ้างมาเพื่อเตรียมไว้รับงานใหญ่ เมื่อไม่มีงานเข้ามา กลายเป็นว่าค่าจ้างคนเหล่านี้ กลายเป็นรายจ่ายถาวรที่ไม่สามารถทำรายได้เลยทันที นี่เป็นบทเรียนให้เห็นเลยว่า เราปรับตัวลำบาก เพราะมีลูกค้าหลักรายใหญ่ๆ แค่ 8-9 ราย พอหยุดสั่งงาน ธุรกิจของผมแทบล้มละลายเลย”
ทั้งนี้ เพื่อจะเอาชนะสถานการณ์ที่เกินขึ้น เขากลับมามุ่งหารายได้จากสิ่งที่ตัวเองมองข้ามมาตลอด นั่นคือ ให้บริการดูแลเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นงานซ่อม หรือล้างแอร์ โดยขยายหาตลาดใหม่ๆ จากลูกค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ อาคาร และบ้านพักอาศัย เป็นต้น
“ผมกลับมาย้อนคิดถึงงานบริการหลังการขายเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นงานซ่อมบำรุง และล้างต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา เป็นงานที่บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญมาก่อนเลย เพราะผมคิดว่ากำไรต่อหน่วยน้อย เมื่อก่อนผมรับงาน หนึ่งโครงการ ใช้เวลาครั้งละหลายเดือน ปีหนึ่งรับไม่กี่โครงการ ก็อยู่ได้แล้ว แต่เมื่อเราไม่มีรายได้จากโครงการใหญ่มาเลย ผมก็ต้องพยายามหารายได้ เพื่อจะเอาชนะค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือนให้ได้”
เขาระบุว่า ข้อดีของการทำงานเล็กๆ ไม่ว่าจะซ่อม หรือล้างแอร์ต่างๆ ถึงกำไรต่อหน่วยจะน้อย แต่ได้เงินสดรวดเร็วกว่า ช่วยให้มีรายได้เข้ามาหมุนเวียน เพื่อจะเอาชนะค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละวันให้ได้
“ตัวอย่างที่จะเอาชนะค่าใช้จ่ายประจำ อย่างเช่น ผมมีค่าจ้างต้องจ่ายทีมช่างเฉลี่ยรวมประมาณ 7 พันบาทต่อวัน ส่วนรายได้จากค่าล้างแอร์ตัวละ 500 บาท เราต้องมาคิดว่าจะต้องล้างแอร์กี่ตัวต่อวัน เพื่อจะมีรายได้มาครอบคลุมค่าจ้างช่าง ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราลองมาทำดู ปรากฏว่า เมื่อลองทำแล้ว มันสามารถมีรายได้มาช่วยได้จริง ไม่จำเป็นต้องรอออเดอร์ใหญ่ๆ เข้ามาเลย”
“ที่ผ่านมา ผมมองข้ามส่วนนี้มาตลอด เพราะมันเป็นรายได้ที่ยิบย่อยมาก ซึ่งเราลืมคิดไปว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน เศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็ต้องซ่อม ต้องล้างแอร์เสมอ ซึ่งกำไรจากการทำงานโครงการออกแบบและติดตั้ง เกือบ 100% แต่กำไรจากการซ่อมบำรุง แค่ 20-25% ตอนนั้น เราเลือกเน้นอย่างแรกเท่านั้น โดยไม่ได้สำรองว่า เราควรจะทำทั้งสองด้านควบคู่กันไปเลย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเราแข็งแกร่ง ผมถึงเปรียบตัวเองว่า ทำ “โอกาส” ของธุรกิจให้กลายเป็น “วิกฤต” ซึ่งเป็นความผิดของผมเอง” สุพัฒน์ยอมรับความผิดพลาดทางธุรกิจอย่างแมนๆ
@@@ เจาะช่องว่างตลาด เปิดบริการ “ช่างแอร์มืออาชีพ” @@@
หลังจากเริ่มเข้ามาลุยธุรกิจบริการหลังจากขายเครื่องปรับอากาศอย่างจริงจังแล้ว ทำให้เขาเห็นโอกาสที่สำคัญครั้งใหม่ เนื่องจากในสนามจริงเวลานี้ ขาดแคลน “ช่างแอร์” เพื่อรองรับระบบซ่อมบำรุงอย่างมาก เทียบจากความต้องการจริงของตลาดประมาณ 100% ทุกวันนี้ มีช่างแอร์แค่ประมาณ 30% เท่านั้น และยิ่งกว่าใน 30% ที่กล่าวถึง ส่วนใหญ่ขาดความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ทำงานโดยอาศัยลักจำ ฝึกฝนด้วยตัวเอง ไม่เคยผ่านการเรียน หรือฝึกอบรมมาอย่างมืออาชีพมาก่อนเลย
จากที่เห็นช่องว่างดังกล่าว เมื่อ 2 ปีที่ได้ ริเริ่มงานบริการดูแลเครื่องปรับอากาศครบวงจร ภายใต้แนวคิดให้บริการ “ช่างแอร์มืออาชีพ” ที่มีความรู้ลึกซึ้ง แต่งตัวสะอาดเรียบร้อย และทำงานอย่างมาตรฐาน ภายใต้ชื่อทีม “MTL SERVICE” โดยใช้บุคลากรเดิมของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและติดตั้ง มาเสริมทักษะงานซ่อมบำรุง ทำให้ทีมงานเดิม แต่มีความสามารถเพิ่ม เท่ากับเป็นการเสริมศักยภาพธุรกิจ โดยไม่ต้องเพิ่มเงินลงทุน
เจ้าของธุรกิจหนุ่ม เผยถึงจุดเด่นบริการ “MTL SERVICE” ว่า จะทำงานโดยมีรูปแบบชัดเจน ช่างสุภาพ มาตรงต่อเวลา และรับดูแลเครื่องปรับอากาศแบบระยะยาวเป็นรายปี สร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า มีทีมงานดูแลเครื่องปรับอากาศแบบต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีฐานลูกค้ารายย่อยๆ ที่ใช้บริการซ่อมบำรุง และล้าง ประมาณ 70 ราย จำนวนแอร์ที่ดูแลอยู่ประมาณ 400 ตัว กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และสำนักงาน เป็นต้น
จากที่เคยดูแคลนว่า งานบริการซ่อมบำรุงทำกำไรต่อหน่วยน้อย สุพัฒน์ เผยด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว สามารถหารายได้เสริมอื่นๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งการขายอุปกรณ์เสริม เช่น อะไหล่ และอุปกรณ์ติดตั้งหน้างาน ซึ่งบริษัทได้ทำระบบ Back office ที่สามารถรู้ต้นทุนจริง ทีมช่างเสนอราคาต่อลูกค้าที่หน้างานได้ทันที ปัจจุบันมีทีมช่างของตัวเองประมาณ 2-3 ทีม นอกจากนั้น ยังมีทีมช่างที่เป็น “เครือข่าย” ลักษณะ outsource ที่จะเน้นจ่ายงานเล็กมากๆ ให้ เช่น ล้างแอร์ตามที่พักอาศัย แล้วกินส่วนต่างจากค่าบริการ
@@@ เดินหน้าเข้าโครงการกองทุนฟื้นชีพธุรกิจ @@@
เขาเผยด้วยว่า เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก พอจะมีออเดอร์เข้ามา ก็ไม่สามารถจะรับง่ายได้ เพราะไม่มีเงินสดจะไปซื้ออุปกรณ์หรืออะไหล่ ที่ผ่านมา เคยพยายามวิ่งขอสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ แต่ล้วนได้รับการปฏิเสธ เพราะบัญชีเป็นตัวแดง
จนเมื่อภาครัฐ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีโครงการ Turnaround ซึ่งเป็นโครงการเงินกองทุนให้กู้ยืมไร้ดอกเบี้ย ใช้คืนภายใน 7 ปี สำหรับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่พบปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้ฟื้นธุรกิจ ดังนั้น ทางบริษัท มนตลักษณ์ กรุ๊ป จำกัด ได้สมัครร่วมโครงการและได้รับพิจารณาวงเงินมา 6 แสนบาท ช่วยให้บริษัทมีเงินทุนที่จะดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้
“ผมเห็นด้วยกับโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในลักษณะนี้ เพราะการดูแลเอสเอ็มอีที่มีปัญหา มันจะมี 2 ทางเลือก คือ 1.ปล่อยให้ตายไป ซึ่งหลายธุรกิจมี Know How เฉพาะทาง ถ้าปล่อยให้ตายไป ก็จะเสียทรัพยากรที่มีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ กับ 2.พยายามประคับประคอง ให้เขากลับมาให้ได้ ซึ่งถ้าเอสเอ็มอีรายใดก็ตาม ที่มีศักยภาพ แล้วสามารถกลับมายืนได้ ผมมั่นใจว่า เขาจะเข้มแข็งกว่าเดิม เหมือนหลายๆ ธุรกิจระดับโลกที่เคยผ่านวิกฤต มันจะมีทักษะและความรอบคอบในการทำธุรกิจมากขึ้น เพราะมีบทเรียนที่จะไม่กลับทำผิดพลาดซ้ำอีก” สุพัฒน์ ระบุ
@@@ จุดไอเดียศูนย์ปั้นช่างแอร์มาตรฐาน @@@
ทั้งนี้ แผนธุรกิจใหม่ที่วางไว้ จะนำโมเดลสร้าง “ช่างมืออาชีพ” ของ“MTL SERVICE” มาขยายทำเป็น “ศูนย์เรียนรู้” เพื่อจะผลิตช่างแอร์ที่ได้มาตรฐานออกสู่ตลาดจำนวนมากๆ โดยให้ช่างเหล่านี้ เป็นเครือข่ายให้บริการในพื้นที่ต่างๆ ได้ครอบคลุมที่สุด โดยทางส่วนกลางจะทำหน้าที่คอยประสานงาน และจัดคิวการไปให้บริการของทีมช่าง เชื่อว่า โมเดลธุรกิจนี้ หากทำสำเร็จจะทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นและก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์
“ผมมีแผนการสร้าง “ศูนย์เรียนรู้” เพื่อสอนและสร้างช่างแอร์ให้เป็นช่างแอร์มืออาชีพ ที่ผ่านมา ช่างแอร์ในเมืองไทย จะไม่มีการสอนอย่างจริงจัง เพราะเกรงกันว่า เมื่อช่างทำงานเก่งแล้ว จะออกไปรับงานเอง แต่ผมไม่แคร์ในจุดนี้ ผมกลับคิดว่า เมื่อเขาเก่งแล้ว ผมจะดึงมาเป็นทีมเครือข่าย แล้วแบ่งโซนการวิ่งทำงานให้ชัดเจน ไม่ต้องวิ่งมั่ววนไปมาเสียเวลา”
สุพัฒน์ ฉายภาพต่อว่า หลักสูตรที่คิดขึ้น จะสร้างช่างที่มีคุณภาพ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ หัวหน้าช่าง ผู้ช่วยช่าง และช่างธรรมดา เมื่อสร้างช่างที่มีมาตรฐานได้แล้ว จะแบ่งพื้นที่รับงาน และให้บริการแบบต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บริการลูกค้าร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ เมื่อใช้บริการแล้วประทับใจ มักจะเรียกใช้บริการต่อเนื่อง ทั้งซ่อมบำรุงแอร์ร้านเดิม หรือสำหรับการขยายสาขา ทำให้ทีมช่างได้งานเพิ่มไปในตัว
“ถ้าคุณมีทีมช่างทีมเดียว แต่ลูกค้าของคุณ มีสาขาร้านอยู่ทั่วกรุงเทพฯ คุณต้องให้ทีมช่างแอร์วิ่งรถไปมาเพื่อจะบริการได้ครบทุกสาขา อย่างนี้ มันก็ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าคุณมีทีมช่างครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าลูกค้าคุณจะขยายสาขาไปพื้นที่ใด ก็จะมีทีมช่างไว้รองรับบริการ ก็ทำให้คุ้มค่าที่จะรับงานแบบนี้ได้”
เขามองโอกาสของธุรกิจว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน และที่สำคัญ ไม่มีใครทำโมเดลนี้อย่างจริงจังมาก่อนเลย เพราะบริษัทผู้ผลิตแอร์ต่างๆ ไม่ยากจะยุ่งกับ “ช่าง” เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา เรื่องมาตรฐานช่างแอร์ในเมืองไทยมีปัญหาจริงๆ ดังนั้น การสร้างช่างมีมาตรฐานได้ จำเป็นต้องมีโรงเรียนและมีหลักสูตรที่จะสร้างบุคลากรให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจากประสบการณ์สร้างทีม “MTL SERVICE” ที่ผ่านมา เชื่อว่า จะสามารถผลิตช่างแอร์มืออาชีพเข้าสู่ตลาดได้
“หากทำได้ตามแผนนี้ ต่อไป ผมไม่จำเป็นต้องมีโรงงานอุปกรณ์ใดๆ เลย ผมทำแค่การวางแผน ให้ทีมช่างวิ่งไปบริการตามจุดต่างๆ มีศูนย์บริการครอบคลุม และหากยิ่งถ้ามีฐานลูกค้ามาก ผมก็จะมีศักยภาพไปต่อรองซื้ออุปกรณ์หรืออะไหล่ได้ในราคาพิเศษยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ จะสำเร็จได้ มันต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ค่อยๆ ขยายทีมช่างเพิ่มขึ้น” สุพัฒน์ เผย และระบุถึงต่อว่า
“ผมมองว่า แอร์คล้ายกับรถยนต์ ที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ ต้องซ่อมบำรุงต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีร้านอุปกรณ์มารับรอง เช่น ร้านเปลี่ยนยางเจ้าดังที่กระจายไปทุกพื้นที่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าร้านขายยางข้างทาง แต่ลูกค้าเลือกจะที่ใช้บริการมากกว่า เพราะมีความมั่นใจ ว่าจะไม่ทำรถพังแน่นอน หรือถ้าเสียก็มีการรับประกัน เช่นเดียวกับช่างแอร์ ที่ทุกวันนี้ บางคนแต่งตัวสกปรก ดูน่ากลัว แต่คุณต้องให้เข้าไปดูแอร์ในห้องนอนของคุณเลย แต่ทีมช่างที่ผมสร้างขึ้น ทุกคนใส่ยูนิฟอร์ม มีรูปแบบชัดเจน ทำงานแบบมีมาตรฐาน และมีรับประกันงานซ่อม ไว้ใจได้ ผมเชื่อว่า ลูกค้าจะให้การตอบรับที่ดี” เขา เผย
@@@ จากถูกเมิน สู่รายได้หลักของธุรกิจ @@@
สุพัฒน์ เผยว่า ก่อนจะเกิดวิกฤตกับธุรกิจ บริษัทแทบไม่มี รายได้จากงานซ่อมบำรุงต่างๆ เลย แต่ ณ ปัจจุบัน รายได้จากงานบริการหลังการขาย กลายเป็นรายได้หลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วน 80% จากรายได้ร่วมทั้งหมด ส่วนด้านผลประกอบการ ก่อนเกิดปัญหา เคยอยู่ที่ 9 ล้านบาทต่อปี จนเกิดวิกฤติตกไปเหลือ 3 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน หลังปรับโมเดลธุรกิจ ในปีที่แล้ว (2558) เพิ่มเป็นประมาณ 4 ล้านกว่าบาท ส่วนปีนี้ (2559) คาดว่าประมาณ 5 ล้านกว่าบาท
นอกจากนั้น พยายามขยายธุรกิจให้สามารถรับบริการได้ทั้งสองทาง คือ รับออกแบบและวางระบบแอร์ ในโครงการขนาดใหญ่ ควบคู่กับบริการหลังการขาย โดยปีหน้า (2560) ตั้งเป้าจะให้ผลประกอบการกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนประสบปัญหาที่ประมาณ 9-10 ล้านบาทต่อปี
“สิ่งที่ผมคิดใหม่ คือ ต่อไปเราต้องมีธุรกิจที่สามารถเอาชนะต้นทุนคงที่ได้แบบยั่งยืน และต่อเนื่อง จากเดิมรายได้ในส่วนซ่อมบำรุงหลังจากการขายของเรา มีน้อยถึงน้อยมาก แต่ปัจจุบัน กลายเป็นรายได้หลักของบริษัทฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของผลประกอบการทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ผมตั้งกติกาส่วนตัวว่า จะต้องมีเงินสำรอง ไว้ฉุกเฉิน กรณีที่จะไม่มีรายได้เข้ามาเลย ต้องเพียงพอที่ใช้จ่ายไปได้อีก 5 เดือน และเมื่อมามีเงินหมุนเวียนดีขึ้น ผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ ช่วยให้เครดิตที่จะไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากซับพลายเออร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำได้กลับไปรับงานโครงการใหญ่ได้”
“นั่นเท่ากับว่า ต่อไปถ้าเรามีสองขาในการหารายได้ คือ ทั้งรับโครงการใหญ่ และบริการหลังการขาย ผมเชื่อว่าเราจะมั่นคงกว่าเดิม ผมไม่ได้หวังรายได้จะเพิ่มหวือหวา เพราะเราต้องมองความเป็นจริงถึงเงินในกระเป๋าที่มีอยู่ และจะไม่บ้าเลือดรับงานแบบปัญญาอ่อนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ในอดีตตอนธุรกิจกำลังดี ผมทำ “โอกาส” ให้กลายเป็น “วิกฤต” ตัดสินใจผิดพลาด แต่ตอนนี้ ผมทำทุกอย่างตามความจริง ไม่เฟ้อฝัน เพราะเรายังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก ผมจะอยู่กับโลกตามความเป็นจริง ไม่เพิ่ม fixed cost แต่จะมุ่งสร้างเครดิต พยายามเพิ่มทุนหมุนเวียน ให้มีความพร้อมมั่นคงมากขึ้น”
คำกล่าวทิ้งท้ายของนักธุรกิจหนุ่มวัย 38 ปี บ่งบอกได้ดีว่า บทเรียนสุดช้ำที่ผ่านมา ช่วยหล่อหลอมให้เขากลับมาแข็งแกร่งและมีศักยภาพกว่าที่เคยเป็นมาแล้ว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *