มติที่ประชุมบอร์ดใหญ่ สสว.เห็นชอบร่างระเบียบการให้กู้ยืมจากกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1 พันล้านบาท ส่งไม้ต่อ SME Bank หน่วยร่วมในการปล่อยกู้ พร้อมปรับแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้รวมธุรกิจการเกษตร พร้อมให้ความเห็นชอบแผนส่งเสริม SMEs ปี 2560-2564 ย้ำรับทราบความคืบหน้าของโครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs 15 โครงการ ได้รับประโยชน์แล้ว 48,624 ราย
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2559 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอเรื่องเพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้น ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 1.1) SME ที่จะกู้ยืมเงิน ต้องผ่านการวิเคราะห์ตามโครงการ Turn around ว่า มีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม หรือได้ยื่นคำรองขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว 1.2) กู้ยืมได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้เก่า
1.3) ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank เป็นหน่วยร่วมทำการแทน สสว.ในการพิจารณา 1.4) การกลั่นกรองคำขอกู้ยืม และติดตามดูแลการชำระเงินของลูกหนี้ โดย สสว. จ่ายค่าบริหารจัดการให้แก่ ธพว.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพียงเดือน ก.ค. 2559 มี SME ขนาดย่อมสมัครเข้าร่วมโครงการ Turn around แล้ว 10,129 ราย ในจำนวนนี้ได้ทำการปรับโครงการสร้างหนี้แล้ว 3,469 ราย จึงมีคุณสมบัติเข้าข่ายยื่นขอกู้จากกองทุนพลิกฟื้นได้
2. ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 ในประเด็นที่ใกล้เคียงกับร่างแก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สรุปได้ดังนี้ คือ 2.1) ขยายขอบเขตของวิสาหกิจที่ สสว. รับผิดชอบในการดูแลพัฒนา ให้รวมถึงกิจการเกษตรด้วย 2.2) การกำหนดขนาดของ SME ให้คำนึงถึงรายได้เพิ่มเติมจาก จำนวนการจ้างงานมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรและทุนจดทะเบียน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 2.3) เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ สสว. เสนอแนะงบประมาณแผนบูรณาการในการส่งเสริม SME ต่อ ครม. เพื่อให้การพัฒนา SME ของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ 2.4) ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารของ สสว.
3. ให้ความเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งแผนฉบับที่ 4 นี้จะเป็นการพัฒนาให้เกิด SME 4.0 โดยจะเน้นเรื่องการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ในแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ สสว. ได้ตั้งเป้าหมายให้สัดส่วน SME GDP เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของ GDP ประเทศภายในปี พ.ศ. 2564 จาก 42% ในปัจจุบัน เพราะในประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จะมีสัดส่วนของ SME ไม่ต่ำกว่า 50% ของ GDP ประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งเสริม SME จะคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไป
ดังนั้น สสว.จึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรประเภท Smart Farmers และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาขึ้นเป็น SME เกษตรหลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมฯ เห็นชอบแผน SME4.0 แล้ว สสว.จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งแผนการส่งเสริมฯ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จะใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นรูปธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถและช่วยเหลือ SME ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2558 รวม 15 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 2,607.645 ล้านบาท
ประเภทโครงการ | จำนวน ผปก.ที่ได้รับประโยชน์ | วงเงินงบประมาณ |
1.สร้าง ผปก. ใหม่ เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม | 9,473 ราย | 250 ล้านบาท |
2.สร้างความเข้มแข็งให้ SME ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว (Strong & Regular SME) | 10,436 ราย | 469.86 ล้านบาท |
3.ฟื้นฟู SME | 17,825 ราย | 1,630 ล้านบาท (กองทุนพลิกฟื้น 1 พันล้านบาท) |
4.ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ | 10,890 ราย | 257.78 ล้านบาท |
รวม | 48,624 ราย | 2607.64 ล้านบาท |
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *