xs
xsm
sm
md
lg

คิกออฟศูนย์ฟื้นชีพ SMEs “สมคิด” จี้แบงก์อย่าทำตัวเป็นโรงรับจำนำ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ SME Rescue Center
“สมคิด” ปลุกแบงก์กล้ายอมรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำหน้าที่ส่งเสริมปลุกปั้นเอสเอ็มอีหน้าใหม่ให้เกิดทั่วประเทศ กัดอย่าทำตัวเป็นเหมือน “โรงรับจำนำ” พร้อมระดม 13 หน่วยงานรัฐ คิกออฟเปิดศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ช่วยฟื้นชีพธุรกิจและอุ้มถึงแหล่งทุน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเป็นประธานเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ SME Rescue Center ว่าหัวใจของการสร้างสังคมแห่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องมาจากการสนับสนุนให้ผู้ที่มีไอเดียสามารถพัฒนาจนเกิดเป็นธุรกิจได้ และที่สำคัญกว่านั้น เมื่อเกิดเป็นธุรกิจแล้ว ต้องพัฒนาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีความยั่นยืน

ทั้งนี้ ในการสร้างให้เกิดผู้ประกอบการใหม่นั้น ปัจจัยสำคัญคือต้องการเงินทุน แต่สำหรับธนาคารต่างๆ แล้ว มักไม่กล้าจะปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่กล้าจะยอมรับความเสี่ยงมากนัก แต่สำหรับวันนี้อยากให้สถาบันการเงินต่างๆ มาคิดว่าเราจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีกันได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรง ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ และพัฒนาให้เติบโตยั่งยืน

“วันนี้ ผมอยากให้แบงก์มาคิดว่าจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ได้อย่างไร ถ้าไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยผมว่าเปลี่ยนไปเป็น “โรงรับจำนำ” จะดีกว่า ไม่จำเป็นต้องมีแบงก์ก็ได้ ดังนั้น ผมอยากให้เรามาช่วยกันคิดว่าสถาบันการเงินจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้อย่าง การปล่อยสินเชื่อไม่ควรแค่ดูหลักทรัพย์ แต่ต้องดูที่ศักยภาพด้วย”

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า การเปิดศูนย์ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และรัฐบาลจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 ม.ค. นี้ ทางกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการทางเงินโดยเข้าไปร่วมถือหุ้นเพื่อจะช่วยเอสเอ็มอีมีเงินทุน รวมถึง โครงการพี่ช่วยน้อง โดยบริษัทใหญ่ที่มีการช่วยเหลือเอสเอ็มอี สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ SME Rescue Center เผยว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้จะทำหน้าที่รับแจ้งปัญหาและรวบรวมปัญหาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยเฉพาะด้านการเงิน เพื่อกลับมาฟื้นฟูธุรกิจได้อีกครั้ง โดยได้รวบรวม 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงินมาอยู่ด้วยกัน

ทั้งนี้ ศูนย์ SME Rescue Center เป็นการต่อยอดมาจากความต้องการจะช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาธุรกิจให้กลับมาฟื้นได้ โดยที่ผ่านมาได้มีออก พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่กระบวนการทำแผนฟื้นฟูธุรกิจได้ และมีโอกาสจะได้รับสินเชื่อใหม่ รวมถึงทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มี “กองทุนพลิกฟื้นธุรกิจ” ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเข้ามาตัวเชื่อมต่อให้ช่วยเหลือดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับช่องทางรับแจ้งเรื่องขอรับความช่วยเหลือของศูนย์ SME Rescue Center มีอยู่ 3,800 แห่งทั่วประเทศ จากหน่วยงานเครือข่าย เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สาขาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสาขาของธนาคารที่ร่วมเป็นเครือข่าย เช่น ออมสิน กรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น โดยการความช่วยเหลือนั้น ถ้าเป็นเรื่องง่ายๆ จะแก้ให้เสร็จในจุดรับเรื่องเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่แก้ยากจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งจะมีศูนย์กลางคอยแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรม

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น